ข่าวเศรษฐกิจ

ออสเตรเลียขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 531 บาท/ ชม. หลังค่าครองชีพพุ่งสูงรอบ30ปี

2 มิ.ย. 66
ออสเตรเลียขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 531 บาท/ ชม. หลังค่าครองชีพพุ่งสูงรอบ30ปี
ไฮไลท์ Highlight
“ระดับการปรับขึ้นค่าแรงที่เราได้กำหนดไว้นั้น เราได้พิจารณาแล้วว่าเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน” FWC กล่าว“ในการพิจารณาของเรานั้น เราได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่มีต่อพนักงานยุคใหม่ที่พึ่งพารายได้เป็นหลัก เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่ได้รับค่าแรงต่ำ”

คณะกรรมการทำงานอย่างเป็นธรรม (FWC) ของออสเตรเลีย ไฟเขียวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5.75% เป็น 23.23 ดอลลาร์ หรือ 531 บาทต่อชั่วโมง เพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงินของคนงานออสซี่ถึง 2.75 ล้านคนที่กำลังประสบปัญหาจากภาวะเงินเฟ้อ

FWC กล่าวว่า การตัดสินใจในครั้งนี้ จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ก.ค.66 และจะปรับเพิ่มเป็น 882.80 ดอลลาร์/สัปดาห์ หรือ 23.23 ดอลลาร์/ชั่วโมง หรือราว 20,196 บาท/สัปดาห์ หรือ 531บาท/ชั่วโมง

“ระดับการปรับขึ้นค่าแรงที่เราได้กำหนดไว้นั้น เราได้พิจารณาแล้วว่าเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน” FWC กล่าว“ในการพิจารณาของเรานั้น เราได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่มีต่อพนักงานยุคใหม่ที่พึ่งพารายได้เป็นหลัก เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่ได้รับค่าแรงต่ำ”

ออสเตรเลียเจอวิกฤตการณ์ค่าครองชีพพุ่งสูงในรอบ 30 ปี  

ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลพวงจากสงครามยูเครน ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับชาวออสซี่ ที่กำลังเผชิญวิกฤติค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสูงที่สุดในรอบ 30 ปี

จากไตรมาสล่าสุด พบว่า ดัชนีค่าครองชีพครัวเรือนของออสเตรเลีย ปรับขึ้นสูงจาก 7.1% เป็น 9.6% ซึ่งสูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคที่อยู่ 7.0% ต่อปี

จากการสำรวจโดยสหภาพแรงงาน ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 3,000 คน พบว่า : 

“หนึ่งในสี่ของชาวออสซี่ จำเป็นต้องอดอาหารบ้างมื้อ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รวมถึงค่าเช่าบ้านพุ่งสูงขึ้นเเละราคาสิ่งของที่จำเป็น เช่น ขนมปัง นม น้ำมัน และค่าไฟฟ้า”

Adam Hatcher ประธาน FWC ยังแสดงถึงความมั่นใจการการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ และสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์และภาคธุรกิจบางส่วน ต่างแสดงถึงความกังวลใจทิศทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียหลังจากนี้ เนื่องจากการปรับค่าแรง อาจส่งผลต่อการสร้างเกณฑ์มาตรฐานและการคาดหวังของค่าแรงอื่นๆที่อาจตามมาในอนาคต อีกทั้งยังอาจทำให้ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจทำงานยากมากขึ้น เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเสี่ยงทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่ม และอาจทำให้ธนาคารกลางต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต

Su-Lin Ong หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ RBC Capital Markets กล่าวว่า การปรับขึ้นของค่าแรงอาจทำให้ค่าจ้างในออสเตรเลียปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าที่ธนาคารกลางออสเตรเลียคาดการณ์ไว้ ซึ่งสูงสุดอยู่ที่ 4% ทำให้อาจต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายในช่วงระดับ 2-3% 

ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) กำลังจะมีการนัดประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 6 มิ.ย. 66 นี้

นอกจากนี้ RBA ได้ทําการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยผ่านผู้ทําเเบบสอบถาม 29 คน เกือบ 70% ของผู้ทําเเบบสอบถาม หรือ20 คน คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น 4.10% หรือสูงกว่าภายในสิ้นเดือนก.ย. นอกจากนี้ 6 คน เห็นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.35% เเละอีก 4 คนคาดการณ์ที่ตัวเลขอยู่ที่ 3.85% 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT