ข่าวเศรษฐกิจ

ธนาคารโลกหั่น GDP โลก คาดปีนี้โต 1.7% เตือนเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

11 ม.ค. 66
ธนาคารโลกหั่น GDP โลก คาดปีนี้โต 1.7% เตือนเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

ธนาคารโลกหั่นคาดการณ์การเติบโต GDP โลกจาก 3% ซึ่งเป็นการคาดการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2022 เหลือ 1.7% ชี้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี ถูกกดดันต่อจากการเพิ่มดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อสู้ภาวะเงินเฟ้อ และวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซียยูเครน ก่อนปรับตัวขึ้นเป็น 2.7% ในปี 2024

ปลายปี 2022 ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลายสำนักได้ออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงในปีนี้ ล่าสุดในรายงาน Global Economic Prospects ธนาคารโลกก็เป็นสถาบันการเงินรายล่าสุดที่ออกมาให้ข้อสนับสนุนการคาดการณ์นี้ด้วยการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสำหรับปี 2023 ของทั้งโลกลงพร้อมหน้ากันทั้งกระดาน!

จากข้อมูลในรายงาน เขตเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่ธนาคารโลกหั่นตัวเลขลดลงมามากที่สุดในปีนี้ โดย GDP รวมของกลุ่มถูกลดลงเหลือเพียง 0.5% จาก 2.2% โดย GDP สหรัฐฯ เหลือ 0.5% จาก 2.4% ‘ยุโรป’ จะ ‘ไม่โต’ ขึ้นเลยในปีนี้หรือเป็น 0 นั่นเอง ในขณะที่ญี่ปุ่นเหลือ 1% จาก 1.3%

สำหรับสาเหตุของภาวะถดถอย ธนาคารโลกได้กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ซึ่งหากมันเลวร้ายลงก็อาจพาเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ เช่น

  1. ภาวะเงินเฟ้อ ที่จะดำเนินต่อเนื่องมาจากปี 2022
  2. การออกนโยบายทางการเงินแบบตึงตัวของธนาคารทั่วโลกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เช่นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  3. ความไม่สงบทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
  4. ความไม่มั่นคงด้านพลังงานและอาหาร
  5. การระบาดของโควิดในบางพื้นที่ โดยเฉพาะจีนที่เพิ่งเปิดประเทศ
  6. ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวน
  7. ความไม่เชื่อมโยงกันของระบบการค้า และระบบการเงินของหลายประเทศทั่วโลก 

ธนาคารโลกกล่าวในรายงานว่า ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจใหญ่จะส่งผลถึงเศรษฐกิจที่เล็กกว่าอย่างกลุ่มประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (EMDEs) ด้วย เพราะตลาดเกิดใหม่ต่างๆ รวมไปถึงไทย เป็นคู่ค้าที่สำคัญของทั้งสหรัฐฯ และจีน ทำให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้กระทบกับประเทศเล็กๆ ด้วย 

นอกจากนี้ประเทศเล็กๆ เหล่านี้ยังมีปัญหาเศรษฐกิจภายในอยู่แล้วจากภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินอ่อน ปัญหาหนี้สาธารณะจากการที่ต้องกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด รวมไปถึงอัตราการลงทุนที่ลดลงเหลือเพียง 3.5% ซึ่งน้อยลงกว่าการเติบโตช่วงก่อนโควิดเกือบครึ่ง

โดยจากข้อมูลของธนาคารโลก หากโลกเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงในปีนี้ นี้จะเป็นการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี จากที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในปี 2020 จากการระบาดของโควิด ซึ่งการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยติดๆ กัน 2 ครั้งในรอบ 10 ปีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาแล้วถึง 80 ปี เพราะครั้งล่าสุดที่เหตการณ์นี้เกิดขึ้นคือในช่วงปี 1930s ที่ GDP โลกลดลงถึง 29% จากปี 1929-1933

 

จุดเปลี่ยนอาจอยู่ที่ ‘จีน’

จากการรายงานของธนาคารโลก จีนจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 4.3% ในปี 2023 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในฝั่งตะวันตก ถึงแม้จะถูกปรับลงเช่นกันจาก 5.2% เพราะมีปัจจัยเสี่ยงคือการระบาดของโควิดหลังประกาศยกเลิกนโยบาย Zero-Covid และประกาศเปิดประเทศ รวมไปถึงดีมานด์ของสินค้าจีนที่จะลดลงเพราะภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก 

อย่างไรก็ตาม จีนก็เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่มากจนหากสามารถฟื้นตัวได้สำเร็จ เศรษฐกิจอื่นๆ ในโลกที่มีความผูกโยงกับเศรษฐกิจจีนก็อาจจะได้รับอานิสงค์ไปด้วย เพราะการที่จีนกลับมาผลิตสินค้าได้เต็มกำลังจะช่วยลดปัญหาขาดแคลนสินค้าที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นลง นอกจากนี้ยังเพิ่มปริมาณการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนการท่องเที่ยวที่หลายๆ ประเทศมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นลูกค้าสำคัญ

นี่ทำให้การฟื้นตัวของจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้โลกรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปได้ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ หรือทรุดตัวลงจากปัจจัยใดๆ ก็ตาม เศรษฐกิจโลกก็จะได้รับผลกระทบจากการถดถอยของเศรษฐกิจจีนเช่นกัน

 

ที่มา: The World Bank, CNN, Bloomberg 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT