ข่าวเศรษฐกิจ

CIMB เปิด 6 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจปีหน้า หวั่นเข้าโหมด 'เผาจริง'

7 ธ.ค. 65
CIMB เปิด 6 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจปีหน้า หวั่นเข้าโหมด 'เผาจริง'

ซีไอเอ็มบี ไทย คาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้า 2566 เข้าสู่โหมดเผาจริง พร้อม 6 ปัจจัยเสี่ยง มอง "เลือกตั้ง" ช่วยหนุนกิจกรรมในต่างจังหวัด ดันเงินหมุนเวียน 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ในปี 2566 จะเป็นปีที่น่าห่วงเพราะ "ความเสี่ยงมีมากขึ้น" โดยครึ่งหนึ่งเป็นปัญหาเดิมที่ยืดเยื้อมาจากปีนี้ และอีกครึ่งเป็นปัญหาใหม่ ที่รวมแล้วอาจทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปีหน้าเข้าสู่โหมด "เผาจริง"

cimbt_info

สำหรับความเสี่ยงทั้ง 6 ด้านในปี 2566 ได้แก่      

  1. ปัญหาการรุกรานของรัสเซียในยูเครนที่ยืดเยื้อ - จนกระทบห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารสัตว์ ปุ๋ย รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ
     
  2. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ - แม้เงินเฟ้อจะปรับลดลง เฟดลดความร้อนแรงในการขึ้นดอกเบี้ย แต่อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้าเพื่อคุมเงินเฟ้อให้ลดลงในกรอบให้ได้ จนเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย (Recession) แรงกว่าคาด
     
  3. จีนล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ต่อเนื่องตามมาตรการ Zero-Covid - แต่รอบนี้มีการประท้วงในหลายเมือง ซึ่งสะท้อนความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายนี้ ขณะที่รัฐบาลจีนยังไม่มีท่าทีผ่อนปรน 
    หากสถานการณ์ยืดเยื้อก็น่าจะกระทบอุปสงค์ในประเทศจีน โดยฉพาะต้องติดตามว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะมีปัญหา จนฟองสบู่แตก ราคาที่ดินร่วงหรือไม่ เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ที่สูงในภาคส่วนนี้ รวมทั้งทำให้ห่วงโซ่การผลิตชะงักงัน และอาจจะส่งผลให้การส่งออกและการผลิตในประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบตามมาด้วยเนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนวัตถุดิบจากจีน
     
  4. วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป - โดยเฉพาะในประเทศที่มีหนี้ภาครัฐสูง เช่น อิตาลี หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นจนนักลงทุนกังวลปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เช่นในอดีต แม้ทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีมาตรการรับมือ แต่หากยูโรโซนเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูง การช่วยเหลืออาจทำได้จำกัด และน่ากระทบความเชื่อมั่นในสกุลเงินยูโร ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและกลับไปถือสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง

  5. วิกฤติตลาดเกิดใหม่ - สืบเนื่องจากปีนี้ที่หลายประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default) โดยเฉพาะเมื่อเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงเร็วจากรายจ่ายด้านน้ำมันและเงินโอนออกนอกประเทศ ขณะที่รายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวหดหาย ปัญหานี้อาจขยายวงได้อีกครั้ง เสมือนใครจะเป็นโดมิโนรายต่อไปที่จะล้ม 
    หากนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นและดึงเงินลงทุนกลับ ค่าเงินจะอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว และประเทศเหล่านี้อาจเผชิญปัญหาสภาพคล่อง ต้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ แต่ปัญหานี้ไม่น่ารุนแรงจนลามไปประเทศที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงและไม่มีปัญหาด้านความเชื่อมั่น

  6. โควิดกลายพันธุ์ - แพร่ได้เร็ว หลบภูมิคุ้มกัน แม้อาการไม่รุนแรง แต่จะส่งผลให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขมีปัญหา รัฐบาลอาจต้องจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้ออาจกระทบความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านท่องเที่ยว รวมทั้งอาจกระทบภาคการผลิต ซึ่งจะมีผลให้ห่วงโซ่อุปทานมีปัญหากระทบการส่งออกได้ 

cimbt_amonthepphoto

คงคาดการณ์ GDP มอง "เลือกตั้งปีหน้า" ทั้งบวกและลบ

ซีไอเอ็มบี ไทย ยังคงคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยในปีนี้ที่ 3.2% และปีหน้า 2566 ที่ 3.4% เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีเกินคาดในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แต่การฟื้นตัวหลักก็มาจาก "การเปิดเมือง" และการเปิดรับการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่มากขึ้น ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์ยัง "กระจุกตัว" ในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ขณะที่การใช้จ่ายในกลุ่มอื่นๆ ยังขยายตัวไม่โดดเด่น อาจด้วยรายได้คนทั่วไปไม่ได้ปรับขึ้นมาก แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นสูงจนคนระมัดระวังการใช้จ่าย

ด้าน "การส่งออก" น่าจะเริ่มชะลอลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลง โดยเฉพาะในฝั่ง "สหรัฐและยุโรป" ที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) รวมทั้งการส่งออกของ "จีน" มีแนวโน้มติดลบในปีหน้า ทั้งจากอุปสงค์ตลาดโลกที่อ่อนแอลง ปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน และจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งโดยรวมจะกระทบการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ "กลุ่มอาหารแปรรูปและสินค้าเกษตร" น่าจะยังพอประคองตัวได้ จากการที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน 

ในส่วน "การลงทุนภาคเอกชน" นั้น มองว่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และน่าจะยังหวัง "การย้ายฐานการผลิตจากจีนมาอาเซียนรวมทั้งไทย" ได้ในปีหน้า โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) การผลิตแบตเตอรี่ และอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ 

ขณะที่การก่อสร้างคอนโดมิเนียมในราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทที่คนไทยพอเข้าถึงได้ น่าจะเป็นโอกาสในการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีหน้า โดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย

ส่วน "การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ" ที่ยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อเนื่องในปีนี้ เราอาจเห็นบทบาทการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐลดลงในปีหน้า หรือไม่ขยายตัวจากปีนี้ "และน่าจะไม่สามารถคาดหวังโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้มากนัก" ด้วยงบประมาณที่จำกัดและนำมาใช้ด้านสวัสดิการคนจนเป็นสำคัญ อีกทั้งหากรัฐบาลใช้เงินมากระตุ้นการใช้จ่ายมากเกินไป ก็อาจทำให้อุปสงค์เร่งแรงกว่าการขยายตัวของอุปทาน ความไม่สมดุลนี้จะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง หรือการขาดความเชื่อมั่นในภาคการคลังในประเทศ ซึ่งรัฐน่าจะประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเน้นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงในปีหน้า 

ดร.อมรเทพ ยังมีมุมมองต่อการเมืองไทยที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจว่า การเลือกตั้งในปีหน้า 2566 จะเป็นทั้ง "โอกาส" และ "ความท้าทาย" นั่นคือ อาจจะเกิดการชะลอของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เนื่องจากนักลงทุนยังไม่มั่นใจในทิศทางนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งการลงทุนจะเริ่มกลับมาอีกครั้งหลังจัดตั้งรัฐบาลและมีคณะรัฐมนตรีที่ชัดเจนแล้ว 

แต่ ดร.อมรเทพมั่นใจว่า ในส่วนของนโยบายพลังงานทางเลือกไม่น่าเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นนโยบายระยะยาวของประเทศไทย นอกจากนี้ การเลือกตั้งก็จะเป็นโอกาสให้เกิดกิจกรรมเศรษฐกิจในต่างจังหวัดมากขึ้น และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นด้วย

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT