ข่าวเศรษฐกิจ

รู้จักกระแส Unretire เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี จึง "เกษียณไม่ได้"

31 ก.ค. 65
รู้จักกระแส Unretire เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี จึง "เกษียณไม่ได้"

เริ่มมีกระแสพูดถึงการ Unretire เกิดขึ้นเมื่อผู้สูงวัยจำนวนมาก "เกษียณไม่ได้" และต้องกลับมาหางานทำอีกครั้ง เพราะ "เงินเฟ้อแรง-ของแพงทั้งโลก"

 

ปกติแล้ว เรามักจะได้ยินแต่คำว่า Retire หรือ Early retire กันเป็นเรื่องปกติ เพราะแทบไม่มีใครอยากยืดเวลาเกษียณออกไป ส่วนใหญ่มักอยากจะเกษียณก่อนอายุ 60 ปี เพื่อไปใช้ชีวิตให้สบายขึ้นหลังจากทำงานหนักกันมาตลอดมากกว่า

 

แต่ปัจจุบันนี้ เริ่มมีกระแสพูดถึงการ Unretire เกิดขึ้นแล้วเมื่อผู้สูงวัยจำนวนมาก "เกษียณไม่ได้" และต้องกลับมาหางานทำกันอีกครั้ง

เพราะภาวะ "เงินเฟ้อแรง-ของแพงขึ้น" กำลังทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูงและกัดกร่อนเงินออม เงินบำเหน็จ-บำนาญของคนวัยเกษียณมากกว่าที่คิดเอาไว้ อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยลง ก็ยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ อีกด้วย

จากกระแส The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ในช่วงโควิดเมื่อปีที่แล้ว จึงเปลี่ยนเป็น The Great Unretirement ในปีข้าวยากหมากแพงเช่นนี้

istock-483497028

เงินเฟ้อกดดันหนัก สูงวัย "อังกฤษ" รู้สึกจนลง

ในประเทศ "อังกฤษ" นั้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ พบว่า มีคนอายุมากกว่า 50 ปี เริ่มกลับมามองหางานทำกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยมีจำนวนถึง 116,000 คน ในช่วงหนึ่งปีมานี้ มากกว่าครึ่งของผู้สูงวัยที่มองหางานทำ เป็นผู้ชายอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยเพิ่มขึ้น 66,000 คน หรือประมาณ 8.5% ส่วนผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยเพิ่มขึ้น 37,000 คน หรือประมาณ 6.8%

สจ๊วต ลิวอิส ประธานบริหารของ Rest Less ซึ่งเป็นคอมมูนิตีดิจิทัลของคนวัย 50+ กล่าวกับเดอะการ์เดียน ว่า จากข้อมูลการวิจัยในเชิงลึกพบว่าผู้สูงวัยที่ทำงานนั้น เป็นลักษณะของการกลับมาหางานทำอีกครั้ง ไม่ใช่การขอยืดอายุเกษียณออกไป จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ในช่วงโควิด-19 ระบาด มีคนจำนวนมากที่ขอเกษียณออกไป แต่ตอนนี้ คนเหล่านั้นเริ่มกลับมาหางานทำอีกครั้ง

"มีคนจำนวนมากขึ้นที่รู้สึกว่าพวกเขาจนลง ท่ามกลางความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และกำลังซื้อที่หดตัวลง เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกระแส unretirement ขึ้นมา" ลิวอิส กล่าว

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลทำให้ตลาดหุ้น-ตลาดการเงินปั่นป่วน ก็ยังเป็นอีกหนึ่งความกังวลที่ทำให้ผู้สูงวัยกังวลใจจนต้องกลับมาหางานทำด้วย เพราะเงินออมและเงินบำเหน็จ-บำนาญ ที่อยู่ในรูปแบบของกองทุนและเงินลงทุนต่างๆ เริ่มไม่มั่นคงเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว

เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา อังกฤษเพิ่งประกาศยกเลิกการการันตีผลตอบแทนด้วยหลัก Triple lock ในกองทุนบำเหน็จบำนาญปีภาษี 2022/23 ซึ่งโดยปกติแล้ว กองทุนนี้จะการันตีผลตอบแทนเพิ่มทุกปีภายใต้ 3 เงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ตามเงินเฟ้อ ตามค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ย หรือล็อกที่ 2.5% แต่เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนหลายอย่าง กองทุนบำเหน็จบำนาญจึงได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งหมายความในปีนี้จะได้ผลตอบแทนแค่ 3.1% เท่านั้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งไปแตะ 9.4% แล้วในเดือน มิ.ย.


คนอเมริกันเลิกเกษียณ กลับมาหางานทำนับล้านคน


ส่วนที่ "สหรัฐอเมริกา" นั้นพบว่า มีคนที่เกษียณไปเมื่อปีที่แล้ว (ไม่ได้ระบุอายุ) มากถึง 1.7 ล้านคน หรือประมาณ 3.2% กลับมาหางานทำอีกครั้ง (นับถึงสิ้นเดือน มี.ค. 65)

จอห์น ทาร์นอฟ โค้ชเรื่องการกลับมาหางานทำในลอสแอนเจลิส ระบุว่า กระแส unretirement เริ่มเป็นปรากฎการณ์ที่กลับมาพักใหญ่แล้ว แต่สื่อมักไม่ค่อยรายงานกัน โดยค่าครองชีพในสหรัฐนั้นสูงก่อนที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งแรงในปัจจุบันเสียอีก

อย่างไรก็ตาม สเปนเซอร์ เบตต์ส นักวางแผนทางการเงินและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการเงินบิคลิง ในแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า หลายคนที่กลับไปทำงานอีกครั้งหลังเกษียณไปแล้ว เป็นเพราะมีตำแหน่งงานว่างเป็นจำนวนมาก และได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เป็นปัจจัยที่ดึงดูด นอกจากนี้ ผู้สูงวัยยังอาจรู้สึกปลอดภัยที่จะกลับไปทำงานอีกครั้งหลังจากสถานการณ์โควิ-19 เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว

ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ของเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ มองว่า ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดถึงเดือน ส.ค. 2021 มีคนเกษียณออกไปมากถึงกว่า 2.5 ล้านคน คนเหล่านี้อาจกลับมาทำงานอีกครั้งเพราะตลาดงานที่เปิด และสภาพการเงินที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ที่จะเอาชนะเงินเฟ้อในยุคนี้ได้ หลังจากเงินเฟ้อในสหรัฐพุ่งไปถึง 8.6% ในเดือน พ.ค. ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

นอกจากนี้ ในช่วงที่ต้องออกจากงานไปเพราะโควิด อาจเป็นการถูกบีบออกด้วยสถานการณ์ จึงมีความเป็นไปได้สูงเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ตลาดงานเปิด และปัญหาเงินเฟ้อสูง พวกคนสูงวัยจึงอาจต้องกลับมาทำงานอีกครั้ง

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT