เผย 5 ทำเลทอง ที่ดินแพงสุดใน กทม. "ถนนวิทยุ" ครองแชมป์ปรับราคาขึ้น 33% ขณะที่ดินแนวรถไฟฟ้ายังฮอตฮิตราคาขึ้นไม่มีลง
บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด ผู้นำด้านที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทย ได้รายงานสถานการณ์ทำเลย่านไหนมีราคาประเมินที่ดินเฉลี่ยแพงที่สุดในประเทศ ว่า ทำเลทองในย่าน CBD ใจกลางธุรกิจกรุงเทพฯ คือ "เพลินจิต" บริเวณถนนวิทยุ คว้าตำแหน่งแชมป์ราคาประเมินที่ดินแพงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งราคาประเมินที่ดินบาทต่อ ตร.ว. อยู่ที่ 1,000,000 บาทต่อ ตร.ว. ซึ่งเป็นราคาประเมินที่ดินที่แพงขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 33% (ราคาเดิม 500,000-750,000 บาทต่อ ตร.ว.) อย่างไรก็ตาม พบว่า ราคาที่ดินบริเวณถนนวิทยุ มีการเสนอขายกันที่ "สูงกว่าราคาประเมิน" โดยล่าสุดอยู่ที่ 1.7 ล้านบาทต่อ ตร.ว.
รายงานระบุว่า ราคาประเมินที่ดินถนนวิทยุที่เพิ่มขึ้น เป็นเพราะย่านดังกล่าวเต็มไปด้วยคอนโดมิเนียมระดับ Super Luxury และอาคารสำนักงานเกรด A จำนวนมาก รวมถึงโรงแรม ห้างหรู และการคมนาคมที่สะดวกหลายช่องทาง และยังมีโครงการในอนาคตอีกหลายแห่ง เช่น BDMS Wellness Clinic ศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร อาคารสำนักงานโครงการ One City Centre Bangkok (มูลค่าโครงการ 1.2 แสนล้านบาท) ส่วนขยายห้าง Central Embassy (ที่ดินแปลงด้านหลังที่เตรียมจะพัฒนาเพิ่มเติม) และอีกหลายโครงการ
นอกจากนี้ "ช่วงถนนสีลม" ก็เป็นอีกหนึ่งทำเลทองที่มีราคาประเมินที่ดินเฉลี่ยอยู่ที่ 700,000-1,000,000 บาทต่อ ตร.ว. หรือสูงขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 11% (ราคาเดิม 400,000-900,000 บาทต่อ ตร.ว.) ส่วนราคาประเมินที่ดินของ "ถนนราชดำริ" ยังคงที่ อยู่ที่ 750,000-900,000 บาทต่อ ตร.ว. และที่น่าสนใจคือ "บริเวณถนนนราธิวาสฯ" ที่มีราคาเฉลี่ย 750,000 บาทต่อ ตร.ว. เนื่องจากมีราคาประเมินสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 25% (ราคาเดิม 280,000-600,000 บาทต่อ ตร.ว.)
ทั้งนี้ ไนท์แฟรงค์ระบุว่า การคงราคาที่ดินแต่ละจังหวัดหรือราคาประเมินที่ดินเดิมไว้ 1 ปี โดยใช้ราคาประเมินที่ดินรอบปี พ.ศ.2559-2563 “จะลดภาระของประชาชน จากภาระถือครองที่ดินและทรัพย์สิน” เช่น บ้าน และที่ดิน จากกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากต้องใช้ราคาประเมินใหม่มาคำนวณภาษี ประชาชนอาจถูกเก็บภาษีจากราคาประเมินใหม่ และมีภาระภาษีที่จะเสียเพิ่มขึ้น
โดยราคาประเมินที่ดินจะถูกใช้เป็นราคามาตรฐานในการคิดภาษีและค่าธรรมเนียม ดังนี้
ที่ดินใกล้รถไฟฟ้ายังเป็นทำเลฮอตผุดคอนโด
รายงานระบุด้วยว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าทำให้การคมนาคมสะดวกสบาย ที่ดินแนวรถไฟฟ้ากลายเป็นทำเลทองสำหรับบริษัทพัฒนาที่ดิน เพื่อพัฒนาคอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงานต่างๆ และทำให้ราคาประเมินที่ดินมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้น โดย 5 ทำเลยอดฮิตใกล้รถไฟฟ้า ได้แก่
ภาษีที่ดินฉุดการซื้อตุน ที่ดินแนวรถไฟฟ้าแพงขึ้น แต่ปรับขึ้นแบบชะลอตัวลง
ด้านศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงาน "ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ ปริมณฑล" ไตรมาส 1 ปี 2565 ว่า ดัชนีเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ค่าดัชนีขึ้นไปอยู่ที่ 341.0 จุด หรือเพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนามีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการ "ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว"
ดัชนีราคาที่ดินเปล่าฯ ปรับเพิ่มมากขึ้นสูงสุดในช่วงปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการพัฒนารถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ก่อนที่จะมีการชะลอการปรับเพิ่มขึ้นของราคาในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประกาศมาตรการ LTV แต่หลังจากนั้นในไตรมาส 3 ปี 2562 จนถึงไตรมาส 1 ปี 2563 มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการชะลอตัวลงในไตรมาส 2 ปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และชะลอตัวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจัยที่ทำให้ราคาที่ดินเปล่ามีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และล่าสุดยังได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยชะลอตัว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องชะลอการเปิดขายโครงการใหม่และชะลอการซื้อที่ดินเปล่าเพื่อการพัฒนา ประกอบกับในปี 2565 นี้ รัฐบาลได้ประกาศจะ"จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตรา" โดยไม่ได้รับส่วนลด 90% เหมือนเช่นในปี 2562-2563 ที่ผ่านมา จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาการซื้อที่ดินสะสมเพิ่มมากขึ้น เพื่อควบคุมภาระภาษีที่ดินซึ่งเป็นต้นทุนในการพัฒนาโครงการในระยะต่อไป
สายสีแดงอ่อน 'เขตทวีวัฒนา-ตลิ่งชัน' ราคาขึ้นมากที่สุด
สำหรับราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแนวเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าผ่านในไตรมาสนี้ พบว่าเส้นทางรถไฟฟ้า 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่มีแผนจะพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในอนาคต