สินทรัพย์ดิจิทัล

สุขสันต์วันเกิดปีที่ 14 “บิตคอยน์” มูลค่าสูงขึ้นกว่า 1.8 พันล้าน%

4 ม.ค. 66
สุขสันต์วันเกิดปีที่ 14 “บิตคอยน์”  มูลค่าสูงขึ้นกว่า 1.8 พันล้าน%

“บิตคอยน์” คริปโทเคอร์เรนซีเหรียญแรกของโลกมีอายุครบ 14 ปี แล้วเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา หลังผ่านมรสุมชีวิตในปี 2022 มาได้ด้วยราคาที่ดิ่งวูบลงไปมากกว่า 60% จาก 45,837 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อต้นปี 2022 ไปอยู่ที่ 16,600.25 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2022

istock-913653902

แต่แม้จะเป็นสินทรัพย์ที่เรียกได้ว่ามีความเสี่ยงและความผันผวนสูงจนหลายๆ คนอาจร่ำรวยหรือสิ้นเนื้อประดาตัวได้จากการซื้อขายบิตคอยน์ หากดูผลงานตลอดช่วงชีวิตของบิตคอยน์ สินทรัพย์ตัวนี้ก็ทำผลงานได้ไม่เลวนัก 

โดยหากคิดจากราคาแรกของบิตคอยน์ที่มีการซื้อขายที่ 0.0009 ดอลลาร์สหรัฐ มาถึงราคา 16,852.31 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเวลา 15.50 น. ของวันนี้ มูลค่าของบิตคอยน์จะเพิ่มขึ้นมาแล้วถึง 1,872,478,788% จนเรียกได้ว่าถ้าใครมองการณ์ไกล ซื้อบิตคอยน์เก็บไว้ตั้งแต่แรก ตอนนี้คนๆ นั้น ก็น่าจะกลายเป็นเศรษฐีไปแล้ว ถึงแม้ผู้สร้างบิตคอยน์จะ ‘ไม่ได้ตั้งใจ’ ให้ค่าเงินดิจิทัลตัวนี้กลายมาเป็นเครื่องมือการลงทุน

ในโอกาสที่บิตคอยน์มีอายุครบ 14 ปีในวันนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากพาไปย้อนดูชีวิตของคริปโทเคอร์เรนซีชื่อดังตัวนี้กันว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างไรบ้าง จึงกลายสภาพจาก ‘นวัตกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อปลดปล่อยมนุษย์จากตัวกลางทางการเงิน’ มาเป็น ‘สินทรัพย์เพื่อการลงทุน’ แบบในปัจจุบัน

 

‘บิตคอยน์’ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008

ก่อนจะมาเป็นสินทรัพย์ที่ทำหลายๆ คนพอร์ตแตกมาในปัจจุบัน ‘บิตคอยน์’ เคยเป็นนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างระบบการเงินแบบใหม่ที่ไม่ต้องพึ่ง ‘ตัวกลางทางการเงิน’ เช่น ธนาคาร ที่่เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์และวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ขึ้นในปี 2008

ในเดือนสิงหาคมปี 2008 ชื่อ ‘บิตคอยน์’ ปรากฎขึ้นมาครั้งแรกโลกอินเทอร์เน็ตบนชื่อโดเมน Bitcoin.org ที่สร้างขึ้นโดย Satoshi Nakamoto บุคคลหรือกลุ่มบุคคลปริศนาที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครในโลกระบุตัวตนที่แท้จริงได้ 

โดยหลังจากตั้งโดเมนเว็บไซต์ขึ้น ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน Satoshi ก็ได้เผยแพร่สมุดปกขาวที่ชื่อว่า “Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System” อธิบายจุดประสงค์และการทำงานของ Bitcoin ว่าเป็นค่าเงินที่จะมาขจัดตัวกลางในระบบการเงินแบบรวมศูนย์ (centralised finance) ออกไป เพราะมันเป็นค่าเงินที่ยืนยันการทำธุรกรรมได้โดยการยืนยันจาก ‘หลายบุคคล’ ด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชนที่จะบันทึกทุกการแลกเปลี่ยนในระบบไว้ ซึ่งเท่ากับเป็นการกระจายอำนาจในระบบการเงินให้ไม่มีศูนย์กลางที่แท้จริง (decentralised finance) 

istock-1314565615

และหลังจากได้เผยแพร่เอกสารนั้นแล้ว เมื่อวันที่ 3 มกราคม ปี 2009 ‘บิตคอยน์บล็อคแรก’ หรือที่ชาวคริปโทเรียกกันว่า ‘The Genesis Block’ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา จากการ ‘ขุด’ ของ Satoshi โดยในบิตคอยน์บล็อคนั้น มีข้อความแฝงไว้ด้วยว่า “The Times 03/Jan/2009 Chancellor on brink of second bailout for banks” หรือที่แปลเป็นไทยว่า “หนังสือพิมพ์ The Times ฉบับวันที่ 3 มกราคม ปี 2009 นายกรัฐมนตรีกำลังจะอนุมัติให้เงินช่วยเหลือกับธนาคารเป็นครั้งที่ 2” ที่หมายถึงการที่รัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนธนาคารที่กำลังจะล้มละลายในวิกฤตการเงินขณะนั้น

จากการที่ Satoshi เลือกที่จะฝังพาดหัวข่าวประเด็นนี้ในบิตคอยน์บล็อคแรกนี้เอง หลายๆ คนจึงเชื่อว่า Satoshi สร้างบิตคอยน์ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางในการทำธุรกรรม ทำให้ผู้ถือบิตคอยน์ใช้ค่าเงินนี้แลกเปลี่ยนสินค้าได้โดยไม่ต้องฝากฝังเงินไว้กับธนาคารที่สามารถนำเงินของเราไปใช้ทำธุรกิจหรือลงทุนในรูปแบบที่มีความเสี่ยงสูงได้

นอกจากนี้บิตคอยน์ยังมีลักษณะสำคัญ คือเป็นค่าเงินที่จะ ‘มีจำนวนจำกัด’ เพราะถูกออกแบบมาให้มีการ ‘halving’ หรือการที่ผู้ขุดบิตคอยน์ (ด้วยการแก้สมการยืนยันธุรกรรม) จะได้บิตคอยน์ปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ ครึ่งหนึ่งทุกๆ 4 ปี ทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งนักขุดจะไม่สามารถผลิตบิตคอยน์เข้าสู่ระบบได้อีก ไม่เหมือนค่าเงินธรรมดาที่ธนาคารกลางสามารถผลิตเข้าระบบได้เรื่อยๆ หากคิดว่าจำเป็น

 

จาก ‘ค่าเงิน’ สู่ ‘เครื่องมือการลงทุน’ 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บิตคอยน์จะเกิดมาเพื่อเป็น ‘ตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ’ เหมือนค่าเงินต่างๆ ที่เรารู้จักกันดี บิตคอยน์กลับกลายเป็นมาเป็นสิ่งที่เสมือนเป็น ‘สินค้า’ เสียเอง เมื่อในเดือนตุลาคมปี 2009  Martti Malmi นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากฟินแลนด์ นำบิตคอยน์ที่ขุดได้มาขายบิตคอยน์ละ 0.0009 ดอลลาร์สหรัฐ

จากนั้นมา เมื่อมีคนรู้จักบิตคอยน์มากขึ้นว่าคืออะไร มีการทำงานอย่างไร และเห็นศักยภาพและความสำคัญของมันในอนาคต บิตคอยน์ก็กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าและซื้อขายกันได้ แต่สิ่งที่ทำให้บิตคอยน์มีความแตกต่างจากสินทรัพย์แบบอื่นคือ บิตคอยน์ไม่มีปัจจัยพื้นฐานมารองรับมูลค่าของมันให้มีเสถียรภาพ มูลค่าของบิตคอยน์จึงขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อคริปโทเคอร์เรนซีเกือบ 100% ว่ามันมีคุณค่า หรือมีศักยภาพที่จะมีคุณค่าในอนาคตขนาดไหน

ด้วยเหตุนี้เอง ราคาของบิตคอยน์จึงอ่อนไหวมากกับ ‘ข่าว’ หรือ ‘ความคิดเห็น’ ของบุคคลที่คนในวงการคริปโทให้ความเชื่อถือ ที่ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อาจจะแห่เข้าไปซื้อจนราคาขึ้น หรือเทขายจนราคาลดได้หากมีบุคคลหรือสถาบันสำคัญมาให้ความเห็นชักจูง รวมไปถึง ‘ระดับการรับบิตคอยน์เข้าไปใช้’ (adoption) ของคนหมู่มาก เพราะถ้าหากในอนาคตบิตคอยน์มีสิทธิที่จะกลายเป็นค่าเงินสำคัญของโลกจริง ค่าเงินนี้จะกลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากขึ้นในไปอีกในฐานะค่าเงินหลักของระบบการเงินแบบใหม่ในอนาคต

โดยตลอดเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ราคาบิตคอยน์มีความผันผวนสูงมาก และสามารถขึ้นและลงได้อย่างรวดเร็วได้ในระยะเวลาสั้นๆ โดยบิตคอยน์เคยขึ้นไปสูงสุดถึง 68,991 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายนปี 2021 ก่อนจะตกลงมาจากหลายเหตุการณ์ รวมไปถึงวิกฤตความเชื่อมั่นที่เกิดจากการล่มสลายของ TerraUSD และ Luna และล่าสุดคือกรณี FTX ที่ทำให้นักลงทุนและคนส่วนมากมองว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซี และสินทรัพย์ดิจิทัลไม่มีความมั่นคงและปลอดภัยมากขึ้นไปอีก

 

ปี 2023 อนาคตยังดูมืดมน แต่ 2024 อาจราคาขึ้นเพราะมี halving

อย่างที่อธิบายไว้ข้างต้น เนื่องจากแทบไม่มีปัจจัยพื้นฐานใดๆ มารองรับมูลค่าของบิตคอยน์เลย การทำนายหรือคาดการณ์มูลค่าของบิตคอยน์หรือคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ราคาดิ่ง หรือดีดขึ้นได้เรื่อยๆ ซึ่งไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยจากการรายงานของ CNBC ไม่มีนักวิเคราะห์รายใดเลยในปีที่ผ่านมาคาดการณ์ถูกว่าราคาบิตคอยน์จะเคลื่อนไหวอย่างไรในอนาคต โดยในปีนี้เอง นักวิเคราะห์แต่ละคนก็คาดการณ์กันไปคนละทิศละทาง จนช่วงราคาของบิตคอยน์ในปีนี้คือ 250,000 - 5000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแทบจะใช้วางแผนอะไรไม่ได้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนมากมองว่าราคาบิตคอยน์ไม่น่าจะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งส่งผลเสียโดยตรงกับราคาของบิตคอยน์ แต่อาจจะสูงขึ้นในปี 2024 ที่จะมีการ halving ที่จะทำให้ปริมาณการผลิตบิตคอยน์ในอีก 4 ปีถัดไปลดลง และผลักให้มูลค่าของบิตคอยน์สูงขึ้นจากกฎอุปสงค์อุปทานของตลาด ที่ราคาของสินค้ามักจะสูงขึ้นหากปริมาณลดลง

โดยจากข้อมูลของ Coindesk มูลค่าของบิตคอยน์มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกครั้งที่มีการ halving โดยจะขึ้นทั้งก่อน และหลังการมี halving 

ในช่วง 14 ปี ที่ผ่านมา การ halving แต่ละครั้งส่งผลให้ราคาบิตคอยน์มีการปรับตัวขึ้นดังนี้

ครั้งที่ 1: ปี 2012 ขึ้น 385% หนึ่งปีก่อนการ halving และเพิ่ม 8,069% หนึ่งปีหลังการ halving

ครั้งที่ 2: ปี 2016 ขึ้น 142% หนึ่งปีก่อนการ halving และเพิ่ม 284% หนึ่งปีหลังการ halving

ครั้งที่ 3: ปี 2020 ขึ้น 17% หนึ่งปีก่อนการ halving และเพิ่ม 559% หนึ่งปีหลังการ halving

 

 

ที่มา: Investopedia, CNBC, Coindesk, Coolwallet



advertisement

SPOTLIGHT