สินทรัพย์ดิจิทัล

อดีตซีอีโอ FTX โดนจับที่บาฮามามาส คดีอะไร เป็นยังไงต่อ สรุปให้ที่นี่!

13 ธ.ค. 65
อดีตซีอีโอ FTX  โดนจับที่บาฮามามาส คดีอะไร เป็นยังไงต่อ สรุปให้ที่นี่!

"แซม แบงก์แมน-ฟรีด" ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ FTX ถูกรวบตัวแล้วที่บาฮามามาส หลังจากสหรัฐยื่นฟ้องคดีอาญา คาดส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเร็วๆ นี้

 

ถือเป็นข่าวที่น่าตื่นเต้นที่สุดในวงการคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลกวันนี้ เมื่อ "แซม แบงก์แมน-ฟรีด" (Sam Bankman-Fried) หรือ SBS อดีตซีอีโอแห่งอดีตกระดานเทรดคริปโทฯ เบอร์ 2 ของโลก "FTX" ในที่สุดก็ถูกจับกุมตัวแล้ว หลังจาก FTX ยื่นล้มละลายเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งว่ากันว่าเป็นเคสที่เละเทะยิ่งกว่ามหากาพย์ Enron ตอนล้มละลายเมื่อหลายสิบปีก่อน  

ที่สำคัญ นี่ยังถือเป็น "ครั้งแรก" ที่มีการจับกุมตัวคีย์แมนคนสำคัญของบริษัทคริปโทฯ ขนาดใหญ่ ที่มีผลกระทบและมีผู้เสียหายเป็นวงกว้างไปทั่วโลกตั้งแต่เม่ารายย่อยไปจนถึงกองทุนใหญ่อย่างเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ 

ทีมข่าว Spotlight จะพาไปสรุปเรื่องที่เกิดขึ้นกัน

 

เกิดอะไรขึ้นกับอดีตซีอีโอ FTX

แซม แบงค์แมน-ฟรีด (SBS) ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของแพล็ตฟอร์มเทรดคริปโทฯ FTX ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลบาฮามาสบุกเข้าควบคุมตัวเมื่อช่วงเย็นวันที่ 12 ธ.ค. 65 ที่อพาร์ทเมนท์หรูของเขาในกรุงนัสโซ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เขามีกำหนดจะขึ้นให้การทางออนไลน์กับสภาคองเกรส (แต่ทนายของปฏิเสธก่อนหน้านี้ว่าจะไม่มีการขึ้นให้ปากคำในสภา)

ไรอัน พินเดอร์ อัยการสูงสุดของบาฮามาสแถลงการณ์ว่า การจับกุมตัวเกิดขึ้นหลังจากทางการสหรัฐแจ้งว่า ได้ยื่นฟ้องแบงค์แมน-ฟรีดในคดีอาญา โดยขณะนี้หน่วยงานสหรัฐและบาฮามาสกำลังทำการตรวจสอบว่า แบงค์แมน-ฟรีดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มละลายของ FTX หรือไม่อย่างไร 

000_333m8lp_1

000_333m8lt

โดนข้อหาอะไร

เดเมียน วิลเลียมส์ อัยการประจำศาลแขวงใต้ของรัฐนิวยอร์ก สหรัฐ ระบุในทวิตเตอร์ว่า การจับกุมตัวแบงค์แมน-ฟรีด เป็นไปตามคำร้องขอของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งได้ยื่นคำฟ้องเมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 ธ.ค. (หมายความว่ายื่นฟ้องตอนเช้า แจ้งเรื่องไปบาฮามาสวันเดยวกัน และจับกุมตัวเลยในตอนเย็น) 

The New York Times รายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้วา การยื่นฟ้องครั้งนี้เป็นการฟ้องในคดีอาญา (criminal charges) โดยมีข้อหาหลายกระทง อาทิ ฉ้อโกง, ร่วมกันฉ้อโกงเป็นกระบวนการ,  ทุจริตเกี่ยวกับหลักทรัพย์, และฟอกเงิน 

ในอีกด้านหนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) หรือ ก.ล.ต.ของฝั่งสหรัฐเอง ก็เตรียมที่จะยื่นฟ้องแบงก์แมน-ฟรีดด้วย ในข้อหาเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายหลักทรัพย์ โดยคาดว่าจะมีการยื่นฟ้องที่ศาลในนิวยอร์ก วันนี้ 

แหล่งข่าวระบุว่า สำนักงานอัยการเขตใต้ของนิวยอร์กได้ใช้เวลานานหลายเดือนในการตรวจสอบ FTX ซึ่งมีบริษัทลูกหลายแห่งที่ให้บริการซื้อขายคริปโทฯ ทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ โดยการตรวจสอบมุ่งเน้นไปยังประเด็นที่ว่า บริษัทเหล่านี้ดำเนินการตามข้อกฎหมาย Bank Secrecy Act ของสหรัฐ หรือไม่

ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อกำหนดให้สถาบันการเงินใช้มาตรการป้องกันการฟอกเงินและการระดมเงินเพื่อการก่อการร้าย และเพื่อทำการตรวจสอบแพลตฟอร์มคริปโทฯ ที่กล่าวอ้างว่าไม่ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในสหรัฐ

 

กระบวนการจะเป็นอย่างไรต่อไป

ทางการบาฮามาสจับกุมตัวแบงก์แมน-ฟรีด ตามคำร้องขอของสหรัฐที่มีการยื่นฟ้องในคดีอาญา และเป็นที่คาดว่าสหรัฐจะยื่นเรื่องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน (extradiction) ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้นำตัวแบงก์แมน-ฟรีดมาดำเนินคดีในสหรัฐต่อไป โดยปัจจุบัน แบงก์แมน-ฟรีดถูกควบคุมตัวอยู่ที่โรงพักแห่งหนึ่ง

นายกรัฐมนตรีของบาฮามาส ฟิลิป เดวิส ระบุว่า บาฮามาสจะยังคงดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีการล้มละลายของ FTX ต่อไป โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐและประเทศอื่นๆ แต่จนถึงปัจจุบัน บาฮามาสยังไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ กับแบงก์แมน-ฟรีด 

 

ถ้าถูกดำเนินคดีในสหรัฐ จะเป็นอย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายได้ให้ความเห็นกับ CNBC ว่า หากรัฐมุ่งเอาผิดในข้อหาเกี่ยวกับการฉ้อโกงจริงๆ แบงก์แมน-ฟรีดก็อาจเผชิญโทษสูงสุด "จำคุกตลอดชีวิต" แม้จะดูร้ายแรงและเป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย คดีก่อนหน้านี้ที่เคยมีการตัดสินจำคุกมาแล้ว 150 ปี ก็คือ คดีฉ้อโกงและแชร์ลูกโซ่ของ เบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์ อดีตประธานตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq เมื่อปี 2009 

ทั้งนี้ FTX ซึ่งเคยเป็นกระดานเทรดคริปโทฯ ใหญ่สุดอันดับ 2 พร้อมทั้งบริษัทในเครือมากกว่า 100 แห่ง ได้ยื่นเรื่องต่อศาลสหรัฐตามมาตรา 11 เพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย เมื่อวันที่ 11 พ.ย. จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อวงการคริปโทฯ มีบริษัทยื่นล้มละลายตามมา อาทิ BlockFi ขณะที่ผู้เสียหายมีตั้งแต่นักลงทุนรายย่อยไปจนถึงคนดังอย่าง สตีเฟน เคอร์รี, ทอม เบรดี, จีเซล บุนเชน และบรรดากองทุนยักษ์ใหญ่ เช่น เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์, กองทุนบำเหน็จบำนาญครูจากแคนาดา และบริษัทซอฟต์แบงก์ จากญี่ปุ่น    

advertisement

SPOTLIGHT