ธุรกิจการตลาด

5 ธุรกิจ ดาวเด่น และธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ

31 ธ.ค. 66
5 ธุรกิจ ดาวเด่น และธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ

ในปี 2566 ที่กำลังจะผ่านไปประเทศไทยได้ก้าวผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและเติบโตขึ้น ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐและกระแสความนิยมใหม่ๆ ส่งผลให้ธุรกิจหลายประเภทมีแนวโน้มเติบโตได้ดี และในวันนี้เราจะไปดูกันว่ามีกลุ่มธุรกิจไหนบ้างที่เป็น ดาวเด่น และ กลุ่มธุรกิจไหนบ้างที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

5 ธุรกิจ ดาวเด่น และธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ ในปี 2566 ที่ผ่านมา

5 ธุรกิจ ดาวเด่น และธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจเชิงลึกเพื่อเฟ้นหาธุรกิจดาวเด่นและธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 โดยพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ เช่น จำนวน/อัตราการเติบโตของการจัดตั้ง อัตราการเลิก การเพิ่มปริมาณการลงทุนของธุรกิจ (จำนวนการเพิ่มทุนจดทะเบียน) แนวโน้มธุรกิจ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ภาพรวมของประเทศ และแนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจ และจากผลวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจเชิงลึก พบธุรกิจดาวเด่น 5 ธุรกิจ เด่นๆนี้ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงก่อนหน้านี้แทบทั้งสิ้น  ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ สำหรับ 5 ธุรกิจที่เป็นดาวเด่นในปี 2566 ที่ผ่านมา มีดังนี้

5 เทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี 2566 ที่ผ่านมา

5 ธุรกิจ ดาวเด่น และธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ

1.ธุรกิจการท่องเที่ยว

  • ธุรกิจการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 64% เมื่อเทียบกับปี 2565 มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปีทั้งสิ้น 2,882 ราย มีทุนจดทะเบียนรวม 7,221 ล้านบาท โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวทั้งนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น การประกาศยกเว้นการตรวจลงตรา (ฟรีวีซ่า) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน

2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตขึ้น 36% เมื่อเทียบกับปี 2565 มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั้งสิ้น 7,878 ราย มีทุนจดทะเบียนรวม 32,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เพราะปัจจัยสนับสนุนมาจากเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนเติบโตตามมา รวมถึงมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ อาทิ การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง (มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566) และการผลักดันให้ไทยเป็น “บ้านหลังที่สอง” สำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ

3.ธุรกิจสมุนไพร

  • ธุรกิจสมุนไพรเติบโตขึ้น 33% เมื่อเทียบกับปี 2565 มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั้งสิ้น 711 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,083 ล้านบาท ปัจจัยสนับสนุนมาจากกระแสนิยมดูแลรักษาสุขภาพโดยวิถีธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีของผู้บริโภค ส่งผลให้สมุนไพรเข้ามาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม (Health and Wellness)

4.ธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

  • ธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เติบโตขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปี 2565 มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั้งสิ้น 1,413 ราย มีทุนจดทะเบียน 10,132 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2565  ปัจจัยสนับสนุนมาจากการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน ทั้งการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเครือข่ายรวมอุปกรณ์ข้อมูลเชื่อมถึงกัน (Internet of Things: IoT) ในบ้านอัจฉริยะ (Smart home) หรือการติดตั้งแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อสอดรับกระแสรถยนต์ EV ของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และสนองความต้องการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

5.ธุรกิจ e-Commerce

  • ธุรกิจ e-Commerce หรือ ธุรกิจการค้าปลีกสินค้าออนไลน์เติบโตขึ้น 19% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมใช้ช่องทางออนไลน์ในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการเกือบทุกประเภทปรับตัวขยายช่องทางการตลาดผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดออนไลน์ได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดด และถึงแม้โควิด-19 ได้คลี่คลายลง แต่กระแสการใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ก็ยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจ e-Commerce เป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งและสามารถยืนหนึ่งบนเวทีธุรกิจได้ทุกสถานการณ์

ทั้งนี้ ธุรกิจทั้ง 5 ประเภทนี้ล้วนมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการที่สนใจจะลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ ควรศึกษาข้อมูลและวางแผนอย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต

3 กลุ่มธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

5 ธุรกิจ ดาวเด่น และธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ

สำหรับ 3 กลุ่มธุรกิจในปี 2566 ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่มมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนี้

 

1.กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์

  • กลุ่มธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบจากกระแสการรณรงค์ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์สูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตลดลง 30 % มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2566 ทั้งสิ้น 146 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 748 ล้านบาท 

2.กลุ่มธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านค้า 

  • กลุ่มธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการร้านค้าในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกทั่วไปลดลง ประกอบกับต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ร้านค้าที่สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตลดลง 12 % ในปี 2566 อยู่ 1,437 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1,943 ล้านบาท 

3.กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงสันดาป

  • กลุ่มธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงสันดาปลดลง ส่งผลให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตลดลงไป 5 %  มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 481 ราย และมีทุนจดทะเบียนรวม 1,244 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะดูลดลงไม่มากแต่อนาคตดูมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น

 

เตรียมตัวสำหรับการประกอบธุรกิจในปี 2567

5 ธุรกิจ ดาวเด่น และธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ

สรุปปี 2566 ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อยู่มาอย่างยาวนานได้เริ่มที่จะคลี่คลายลง ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและเติบโตขึ้น โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ธุรกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังข้อมูลที่เราได้กล่าวไปก่อนหน้านี้

สำหรับข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเสริมที่ช่วยผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุน สิ่งสำคัญที่สุดในการลงทุนประกอบธุรกิจ คือ ความรู้ ความเอาใจใส่ และชื่นชอบในธุรกิจนั้นๆ เพราะมันจะเป็นตัวช่วยเพิ่มแรงขับดัน ความอดทนพยายาม และเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจที่ตัดสินใจลงทุน

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจและปัจจัยต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องพร้อมรับมือและปรับตัวกับทุกการเปลี่ยนแปลง ควรนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยบริหารจัดการธุรกิจ และที่สำคัญ คือ ต้องมีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็งที่พร้อมสนับสนุนเกื้อกูลและจูงมือพากันเติบโตต่อไป เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จต่อไปในภายภาคหน้า

ที่มา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT