ธุรกิจการตลาด

ผ่าค่าบริการ ‘เรียกรถผ่านแอป’ คิดอย่างไร ทำไมเดี๋ยวถูก เดี๋ยวแพง?

16 ส.ค. 66
ผ่าค่าบริการ ‘เรียกรถผ่านแอป’ คิดอย่างไร ทำไมเดี๋ยวถูก เดี๋ยวแพง?

Grab, Bolt, LINE MAN Taxi, airasia ride และอีกหลากหลายแอปพลิเคชันเรียกรถ (Ride Hailing) ในบ้านเรา แม้จะเป็นเส้นทางที่เราเดินทางบ่อย แต่หลายครั้งค่ารถก็อาจต่างกันเป็น ‘เท่าตัว’ ซึ่งหากเทียบกับแท็กซี่มิเตอร์แล้ว ค่าบริการการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันดูจะมีช่วงราคาที่แกว่งกว่ามาก เพราะแท้จริงแล้ว ค่าบริการการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เกิดจากองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนด้วยกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็น Grab, Bolt, LINE MAN Taxi, airasia ride หรือเจ้าไหนๆ ก็ต้องยึดตามนี้

 

Grab Car
 

ค่าบริการเรียกรถจะถูก หรือ แพง ขึ้นกับ 3 ส่วน

 

แม้การเรียกรถผ่านแต่ละแอปพลิเคชันจะคิดค่าบริการต่างกัน แต่จากการสอบถามหนึ่งในผู้ให้บริการเรียกรถในประเทศไทยพบว่า การคิดค่าบริการจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของ “ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่นสำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๔” ซึ่งเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ

 

ค่าโดยสาร = ค่าบริการตามขนาดรถและระยะทาง + ค่าเรียกรถผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ + ค่าบริการเพิ่มเติม (สภาพการจราจรติดขัด, ปริมาณรถไม่เพียงพอต่อความต้องการ)

 

ส่วนที่ 1 : ค่าบริการตามขนาดรถ และระยะทาง

 

กระทรวงคมนาคมแบ่งรถที่ให้บริการออกเป็น 3 ขนาดด้วยกัน ซึ่งค่าบริการตามระยะทางจะแตกต่างกัน ดังนี้

 

  • ขนาดเล็ก (เครื่องยนต์ 50 - 90 กิโลวัตต์) เช่น March, Vios, City, Mirage
     
    ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 - 45 บาท
     
    เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป 6 - 10 บาท/กิโลเมตร

  • ขนาดกลาง (เครื่องยนต์ 90 - 120 กิโลวัตต์) เช่น Altis, Civic

    ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 45 - 50 บาท

    เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป 7 - 12 บาท/กิโลเมตร

  • ขนาดใหญ่ (เครื่องยนต์ขนาด 120 กิโลวัตต์ ขึ้นไป) เช่น Accord, Fortuner
     
    ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 100 - 150 บาท
     
    เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป 12 - 16 บาท/กิโลเมตร

 

ขับ Bolt



ส่วนที่ 2 : ค่าเรียกรถผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (กฎหมายกำหนดไว้ที่ 20 บาท)

 
 

ส่วนที่ 3 : ค่าบริการเพิ่มเติม

 

  •  ค่าบริการเพิ่มเติมกรณีการจราจรติดขัด

    ประกาศกระทรวงระบุไว้ชัดเจนว่า ‘สามารถเรียกเก็บเพิ่มในอัตรา 2 บาท/นาที’
    หากเป็นการจราจรในกรุงเทพมหานครช่วงเลิกงาน หรือฝนตกด้วยแล้ว เราอาจเห็นค่าโดยสารขยับจาก 100 กว่าบาท เป็น 300 - 400 บาทเลยก็เป็นได้
  • ค่าบริการเพิ่มเมื่อปริมาณรถไม่เพียงพอต่อความต้องการ
     
    เกิดขึ้นเมื่อปริมาณ Demand - Supply ของผู้ใช้กับคนขับไม่สมดุลกัน ตัวอย่างเช่น เรียกรถที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี พร้อมๆ กับคนอื่นร้อยคน แต่ในโซนใกล้ๆ มีรถไม่ถึงร้อยคัน หมายความว่าแพลตฟอร์มก็ต้องกระจายงานไปให้คนขับในโซนที่ไกลออกไป ซึ่งต้องมีค่าเดินทางเพิ่มเพื่อดึงดูดให้เขาขับเข้ามานั่นเอง

    โดยแพลตฟอร์มสามารถเรียกเก็บเพิ่มได้ไม่เกิน 1 เท่าของค่าโดยสารข้างต้น แต่ต้องไม่เกิน 200 บาท

    แปลว่าถ้าปกติค่ารถไม่ถึง 200 บาท แต่ถ้าวันนั้นรถวิ่งน้อย หรือไม่เพียงพอกับจำนวนคนเรียก อาจโดนเก็บเพิ่มอีก เป็นเท่าตัวได้เลย

 

ขับแกร็บ



Grab, Bolt, LINE MAN Taxi, airasia ride คิดค่ารถอย่างไรบ้าง?

 

หากลองดูวิธีการคิดค่าบริการคร่าวๆ ของ 4 ผู้ให้บริการในไทย ได้แก่ Grab, Bolt, Line Taxi, airasia ride จะพบว่าเป็นดังนี้

 

Grab

 

ค่าโดยสารปกติ = ค่าโดยสารเริ่มต้น 25บาท + 10 บาท/กม. (เริ่มคิดตั้งแต่กม.แรกตามระยะทางจริง)
 

LINE MAN Taxi

 

LINE MAN Taxi คิดค่าโดยสารตามมิเตอร์ ไม่มีการคิดราคาเหมาจ่าย และมีค่าเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันครั้งละ 20-50 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจรและความต้องการเรียกรถแท็กซี่ในขณะนั้น
 

 
Bolt

  • Taxi (รถแท็กซี่) : ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 35 บาท
     
  • Economy (รถทั่วไปราคาประหยัด) : ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 40 บาท
     
  • Ladies (รถทั่วไปสำหรับผู้หญิง) และ Bolt (รถทั่วไปเรียกใช้บริการได้ไวที่สุด) : ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 45 บาท
     
  • Comfort (รถยนต์รุ่นใหม่) และ XL (รถไซส์ใหญ่) : ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 100 บาท

 

airasia ride

 

ยังไม่เปิดเผยวิธีการคิดค่าโดยสาร แต่เปิดเผยว่าจะใช้กลยุทธ์ดึงดูดผู้ใช้บริการทั้งค่าเรียกรถ อัตราค่าโดยสาร และบริการอื่น ๆ เช่น ค่ายกสัมภาระ (ถ้ามี) ต่ำกว่าคู่แข่ง 15% ในระยะแรกของการทำตลาด

 

แอปเรียกรถ

 

จะเห็นได้ว่า ค่าบริการการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันในไทย แม้แต่ละเจ้าจะมีราคาต่างกัน แต่ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบที่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดไว้ แต่อีกปัจจัยที่เป็นเรื่องสำคัญแต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีกฎกติกามาดูแลอย่างชัดเจนคือ “ค่าตอบแทนของคนขับที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน” อาชีพอิสระที่มีความเสี่ยงทั้งด้านรายได้ ความปลอดภัย และความอ่อนไหวก็การปรับราคาค่ารอบ ซึ่งในยุคที่เรากำลังก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จะมีแรงงานแพลตฟอร์มมากขึ้น การกำกับดูแล สวัสดิการ ก็ควรจะต้องพัฒนาให้เหมาะกับอาชีพยุคใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

advertisement

SPOTLIGHT