ธุรกิจการตลาด

ตลท.จับมือตลาดทุน ประกาศเจตนารมณ์ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” FITCO เสนอเอาผิดแพลตฟอร์มโซเชียล

24 ก.ค. 66
ตลท.จับมือตลาดทุน ประกาศเจตนารมณ์  “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน”  FITCO เสนอเอาผิดแพลตฟอร์มโซเชียล

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จับมือพันธมิตรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ประกาศเจตนารมณ์ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” 24 ก.ค. 2566 แลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบและชี้เป้าข่าวปลอม พร้อมรณรงค์เตือนตอกย้ำประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันด้วยสติ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกลงทุน 

โดยพันธมิตรภาคตลาดทุน มีดังนี้ 

  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 
  • สภาธุรกิจตลาดทุนไทย 
  • สมาคมธนาคารไทย
  • สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย 
  • สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 
  • สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย 
  • สมาคมบริษัทจัดการลงทุน 
  • กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน 
  • ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย 
  • กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 

ตลท.ชี้มีผู้เสียหายแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท

โดยดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมีเป็นจำนวนมาก มีการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ผู้บริหารของหลายหน่วยงาน ร่วมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงให้มาลงทุน สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง 

จากข้อมูล ณ วันที่ 1 มี.ค. 2565- 28 มิ.ย.2566 สถานการณ์ปัญหาหลอกลวงลงทุน  คดี “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” มีจำนวน 23,545 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงที่สุดรวมกว่า 11,500 ล้านบาท 

ทั้งนี้ คดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่  

  • หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ จำนวน 108,383 ครั้ง
  • หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน จำนวน   38,669 ครั้ง
  • หลอกให้กู้เงิน จำนวน   35,121 ครั้ง
  • หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน  25,545  ครั้ง

  • ข่มขู่ทางโทรศัพท์ ( Call Center) จำนวน   21,482  ครั้ง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะแพลตฟอร์มการลงทุนของประเทศ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุน ริเริ่มโครงการ  “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” โดยในเฟสแรก จะร่วมกันสื่อสารโดยตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ผ่านช่องทางของพันธมิตร และสื่อในหลากหลายรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง และในเฟสถัดไปจะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการในการจับปลอมหลอกลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า กลโกงหลอกให้ลงทุนทางออนไลน์เป็นหนึ่งในภัยคุกคามซึ่งสร้างความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก โดยมักแอบอ้างชื่อหรือโลโก้ของ ก.ล.ต. หน่วยงาน บริษัท รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในภาคตลาดทุน ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งนี้ ก.ล.ต. ตระหนักถึงปัญหาของภัยหลอกลวงที่ขยายวงกว้างมากขึ้นในปัจจุบันและที่ผ่านมาได้ดำเนินการในหลายมิติเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เพียงพอและสามารถปกป้องตนเองจากภัยดังกล่าว 

โดย ก.ล.ต. มองว่า การริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันป้องปรามการหลอกลงทุน  

FETCO เตรียมศึกษาเอาผิดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ปัญหามิจฉาชีพหลอกลงทุนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ  การแก้ไขปัญหาและการป้องกันไม่สามารถจัดการได้โดยบุคคลหรือองค์กรที่ถูกแอบอ้างโดยลำพัง หรือเป็นปัญหาขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องทำทั้งกระบวนการตั้งแต่การป้องปรามและปราบปรามไปพร้อมกัน การที่องค์กรต่าง ๆ ในตลาดทุนและภาครัฐ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยกันแก้ไขปัญหา ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

 “ ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไปมาก นำไปสู่การใช้ช่องทางยูทูป Facebook TikTok LINE Twitter หลอกลวงประชาชน มีความเสียหายในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา เป็นหลักหมื่นล้านบาท เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ ก็จะกระทบกับพี่น้องประชาชน”

โดย FETCO มีข้อเสนอใน 3 ประเด็น ดังนี้  

  • หาทางเอาโทษโซเชียลมีเดีย ที่เป็นช่องทางสำคัญในการหลอกลวงประชาชน เพราะโซเชียลมีเดียเหล่านั้นได้ค่าโฆษณา และหลอกคนจำนวนหลายแสนเข้าสู่กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ จะมีการหารือกับกระทรวงดิจิทัล และทางตำรวจ ในการหาแนวทางเอาผิด  

“ผมคิดว่าเราต้องจัดการ เมื่อมิจฉาชีพไม่สามารถใช้ช่องโซเชียลมีเดียในการหลอกลวงประชาชนได้ ก็จะต้องกลับไปใช้ช่องทางโทรศัพท์เหมือนเดิม และจะไม่สามารถเข้าถึงพี่น้องประชาชนจำนวนมากได้ เพราะโซเชียลมีเดียวได้ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกัน ทำให้มีความล่อแหลมและเปราะบางในการถูกหลอกลวง และเราต้องทำงานร่วมกับโซเชียลมีเดียว่า จะช่วยเราได้อย่างไรบ้าง”  

FETCO จะหารือกับกระทรวงดีอีเอส และกรมตำรวจ การหารือกฎเกณฑ์ วางกระบวนการแจ้งขั้นตอนในเรื่องนีัที่จะเป็นแนวทางให้กับโซเชียลมีเดีย และถ้าแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังรับเงินโฆษณาต่อไปอีก ก็ถือว่า “เป็นผู้สมรู้ร่วมคิด”  

  • การหาแนวทางเรื่องการให้สินบนนำจับ ถ้ามิจฉาชีพใช้อวตารในการหลอกลวงประชาชน คนที่ดำเนินการจับกุมก็ใช้อวตารในการจับกุมเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จะต้องวางระบบให้กับผู้ที่มาช่วยเราเป็นหูเป็นตา ที่ช่วยแจ้งกับทางการว่ามีมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนในขณะนี้ เมื่อเรามีตาที่หลากหลาย มิจฉาชีพจะดำเนินการได้ยาก และก็ต้องระวังตัว 
  • ขอทางกองทุนพัฒนาตลาดทุนช่วยลงทุนทำระบบ AI วิ่งดูในโซเซียลต่างๆ ในการแอบอ้างการใช้สื่อ ใช้โซเชียลต่างๆ เช่น คุณวิกรม กรมดิษฐ  ทุกวัน และให้ AI แจ้งเตือนขึ้นมา ทำให้รู้ว่า ก่อนจะลงทุนต้องเช็กก่อน มีพื้นที่ตรวจสอบได้ว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  กล่าวว่า “วันนี้โอกาสดีมากๆ กระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม ได้เข้ามีส่วนร่วมในครั้งนี้ จะมีการผลักดันต่อไป คือ การเร่งออกเตือน โดยเฉพาะเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น เฟสบุ๊ก ยูทูป ที่มีการใช้ช่องทางนี้ในการหลอกลวงจำนวนมาก บางครั้งพบว่า คนร้ายซื้อ sponsor เข้าถึงข้อมูลของเรา และใส่ชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น คุณวิกรม และให้ผลตอบแทน ร้อยละ 3 ต่อสัปดาห์ ซึ่งผิดกฎหมายแน่นอน ซึ่งจริงๆ เราได้มีการแจ้งไปทางเฟสบุ๊กแล้ว และเราต้องดำเนินการเชิงรุกมากขึ้น อยากให้แพลตฟอร์มรับผิดชอบมากขึ้น และมีส่วนช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม” 

ขณะนี้ได้มีการติดต่อพูดคุยกับเฟสบุ๊กอยู่ ซึ่งต้องมีการดูวิธีการทางกฎหมาย และหลักฐานอีกทีหนึ่ง มีข้อมูลลักษณะนี้ และข้อมูลอื่นๆ อีกที รวบรวมพยานหลักฐาน และดูว่าใช้วิธีการทางคดีที่จะดำเนินคดีให้รอบคอบก่อน

“วิกรม” เผยจับมิจฉาชีพได้กว่า 50 ราย

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน) หรือ AMATA เผยว่า ความร่วมมือของหลายองค์กรที่ร่วมกันในการขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อแจ้งเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ ที่หลอกลวงให้เกิดการลงทุน และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวกลุ่มอมตะ ได้ดำเนินการทางกฎหมายมากว่า 1 ปี ที่สามารถจับกุมคนร้ายได้กว่า 50 ราย ในปีที่ผ่านมา และล่าสุดสามารถจับกุมได้ 9 ราย มีหลบหนีอีก 3 ราย  เป็นรูปแบบการจัดทำสื่อขึ้นเอง  

โดยนำรูปของตนเอง และเครื่องหมายของบริษัทอมตะไปสร้างความน่าเชื่อถือ ให้เกิดการลงทุน แม้ว่าจะมีการสื่อสารและให้ข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง ย้ำถึงแนวทางการลงทุนในกลุ่มอมตะ ต้องผ่านกลไกการลงทุน  จากตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ไม่มีการเชิญชวนให้ลงทุนโดยส่วนตัวในทุกกรณี

“ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ เป็นแฟนคลับของตน ที่ติดตามผลงานผ่านหนังสือ และการออกสื่อ ทำให้เป็นช่องว่างของกลุ่มมิจฉาชีพนำไปสร้างเพจเพื่อหลอกลวง ซึ่งตนรู้สึกในเหตุการณ์นี้ ผมเปรียบเสมือนเป็นผู้ต้องหา ที่ทำให้เกิดผลกระทบกับแฟนคลับและประชาชน ซึ่งกลุ่มอมตะ ไม่เคยนิ่งนอนใจ ดำเนินการหาคนกระทำผิดมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่า ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย คงทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องเกิดการขับเคลื่อนโดยทุกฝ่าย โดยเฉพาะเอาจริงเอาจัง ด้านกฎหมาย และอาจต้องขยายผลความร่วมมือไปยัง ต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในการปราบปราม อาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นประเทศต้นกำเนิดของการเกิดกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวง  ไม่ว่าจะเป็นจีน และ ไต้หวัน” นายวิกรมกล่าว

ทั้งนี้ ลักษณะของการลงทุนของมิจฉาชีพ ที่สร้างแรงดึงดูด จูงใจ ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 3-7%
ต่อสัปดาห์ ยืนยันได้ว่าไม่มีรูปแบบการลงทุนใด ๆ ให้ผลตอบแทนได้สูงขนาดนั้น  

ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่ายังไม่สามารถให้ความรู้ได้ในวงกว้าง โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการลงทุน หรือความรู้เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง  เมื่อเห็นการเชิญชวนแบบน่าเชื่อถือ ก็อาจมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในวงกว้างมากขึ้น

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบจากภัยทางการเงิน และการหลอกลงทุน โดยเฉพาะ “แชร์ลูกโซ่” ที่แฝงมาในชื่อ “การออม” หรือ “การลงทุน” สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจร้ายแรง 

จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการป้องกันภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการป้องกัน เช่น ยกเลิกส่ง SMS อีเมลล์ แนบลิงก์ แจ้งเตือนผู้ใช้บริการ Mobile Banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง สแกนใบหน้ายืนยันตัวตนก่อนโอนเงินเกิน 5 หมื่นบาทขึ้นไปต่อครั้ง หรือ ยอดโอนสะสมครบทุก 2 แสนบาทต่อวันต่อบัญชี หรือ ปรับเพิ่มวงเงินโอนตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป  

มาตรการตรวจจับและติดตาม พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร (Central Fraud Registry) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมต้องสงสัยและบัญชีม้า ช่วยป้องกันและจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น  และมาตรการตอบสนองและรับมือ โดยจัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotline) 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น  นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเกราะป้องกันภัย ด้วย “การให้ความรู้ทางการเงิน” กับประชาชนทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การป้องกันภัยต้อง “เริ่มต้นที่ตัวเรา” ประชาชนต้องหมั่นเช็กข้อมูลธุรกรรมการเงินของตัวเองสม่ำเสมอ วิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านทุกครั้งก่อนลงทุน ติดตามข่าวสารภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรู้เท่าทันกลโกง ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ 

นางสาวอังคณา เทพประเสริฐวังศา เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนถูกมิจฉาชีพนำไปแอบอ้างในการหลอกลงทุน สร้างความเสียหายแก่ประชาชนที่หลงเชื่อ ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนก็นับเป็นผู้เสียหายเช่นกัน โดยเฉพาะในเชิงความน่าเชื่อถือ สมาคมฯ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและจะสื่อสารไปยังบริษัทจดทะเบียนให้ร่วมรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย

นายวิรัฐ สุขชัย นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ กล่าวว่า จากสถานการณ์มิจฉาชีพหลอกลงทุนในปัจจุบัน ด้านผู้ประกอบการที่ถูกแอบอ้างไปหลอกเงินจากประชาชน ต้องมีแนวทางป้องกันไม่ให้ใครมาแอบอ้างโดยประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบ รวมถึงดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องปกป้องเงินของตนเองไม่ให้ใครมาหลอกลวง โดยสังเกตข้อพิรุธต่าง ๆ จากการโฆษณาชวนเชื่อสัญญาผลตอบแทนที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ซึ่งสมาคมฯ จะร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทั้งบริษัทจดทะเบียนและประชาชนทั่วไปเพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากภัยหลอกลงทุนดังกล่าว

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ประชาชนมีความสนใจเรียนรู้และลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องดีเพียงแต่ต้องเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากในโลกออนไลน์โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่จำนวนมาก ประชาชนต้องพิจารณาว่าเป็นบริษัทที่มีการรับรองอย่างถูกต้อง รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลและผลตอบแทนที่เชิญชวนว่าน่าเชื่อหรือไม่ โดยสมาคมฯ และบริษัทหลักทรัพย์จะร่วมสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ ต่อเนื่อง

 นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาเชิญชวนหลอกให้มาลงทุนในกองทุนรวมจำนวนมากโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทจัดการลงทุนแต่อย่างใด โดยผู้ประกอบธุรกิจการจัดการลงทุนต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น และการโฆษณาเชิญชวนให้คนมาลงทุนในกองทุนรวมต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด ดังนั้น ประชาชนผู้พบเห็นโฆษณาหลอกลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ ไม่ว่าจะแอบอ้างบริษัทหรือผู้บริหารท่านใด อย่าได้หลงเชื่อเป็นอันขาด

นายชนันต์ ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจสำคัญของ CMDF คือการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุน การลงทุน และการพัฒนาตลาดทุนให้แก่ผู้ลงทุนและประชาชน  โดย CMDF สนับสนุนทุนในโครงการให้ความรู้ประชาชนผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบที่เข้าถึงประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งโครงการเกี่ยวกับการเสริมภูมิคุ้มกันในเรื่องหลอกลงทุนแก่ประชาชนในวงกว้างที่จะเริ่มเผยแพร่ในเร็วๆ นี้

ขอเชิญประชาชน “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” เช็ก ชี้ แฉ หากพบเห็นการเชิญชวนลงทุนโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาสั้น ๆ หรือแอบอ้างองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่าเพิ่งหลงเชื่อร่วมลงทุน และตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยโปรดสอบถามที่องค์กรที่ถูกอ้างถึงโดยตรง หรือตรวจสอบรายชื่อบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจหรือบริการทางการเงินว่าได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT