ธุรกิจการตลาด

ขายดีไม่แคร์เงินเฟ้อ แอร์เมสรายได้เพิ่ม 16% นำหน้าคู่แข่ง พบนักช้อปสหรัฐฯ-จีนกำลังซื้อยังสูง

25 ต.ค. 66
ขายดีไม่แคร์เงินเฟ้อ แอร์เมสรายได้เพิ่ม 16% นำหน้าคู่แข่ง พบนักช้อปสหรัฐฯ-จีนกำลังซื้อยังสูง

‘แอร์เมส’ Hermes บริษัทผลิตเครื่องหนังและกระเป๋าหรูสัญชาติฝรั่งเศส โชว์รายได้ Q3 ทะลุ 1.29 แสนล้านบาท เพิ่ม 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นำหน้าคู่แข่งอย่าง LVMH ที่ทำรายได้ค่อนข้างน่าผิดหวังในไตรมาสล่าสุด สะท้อนกำลังซื้อแกร่งจากกลุ่มลูกค้ารายได้สูงในสหรัฐฯ และเอเชีย

เป็นที่รู้กันว่าแม้ในเวลาที่เศรษฐกิจซบเซา หรือเงินเฟ้อ สินค้าที่มักจะได้รับผลกระทบเป็นสินค้าท้ายๆ คือ สินค้าหรู เพราะฐานลูกค้าของสินค้าชนิดนี้มักเป็นผู้มีรายได้สูง ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจเป็นกลุ่มท้ายๆ ทำให้ยังมีกำลังซื้อสูงอยู่แม้ประชากรโดยรวมจะมีกำลังซื้อน้อยลง

ดังนั้น แม้ในตอนนี้ประชากรทั่วโลกจะต้องเจอกับภาวะเงินเฟ้อ และความเสี่ยงต่างๆ จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รายได้ของบริษัทสินค้าหรูอย่างแอร์เมสจึงยังเติบโตได้อย่างคงที่ โดยในไตรมาสที่ 3 ทำรายได้ไปถึง 3,365 ล้านยูโร หรือราว 1.29 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รวมรายได้ 9 เดือนแรกทั้งหมด 10,063 ล้านยูโร หรือราว 3.85 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

istock-1195947437

โดยหากแบ่งที่มารายได้ตามภูมิภาค จะพบว่าภูมิภาคที่ทำรายได้ให้กับแอร์เมสมากที่สุดในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ คือ 

  1. เอเชีย ที่ทำรายได้ทั้งหมด 5,811 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 21.9% จากปีก่อนหน้า
  2. ยุโรป ที่ทำรายได้ทั้งหมด 2,243 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 20.7% จากปีก่อนหน้า
  3. อเมริกา ที่ทำรายได้ทั้งหมด 1,785 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 20.1% จากปีก่อนหน้า
  4. อื่นๆ ที่ทำรายได้ทั้งหมด 223 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 45.7% จากปีก่อนหน้า

สถิตินี้ทำให้แอร์เมสเป็นบริษัทสินค้าหรูที่เติบโตชนะคู่แข่งอย่าง LVMH เครือแบรนด์หรูที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากฝรั่งเศส ที่ในไตรมาสที่ 3 ทำรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 9% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่น่าผิดหวังเมื่อเทียบกับการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าอายุน้อยเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และมีกำลังซื้อลดลง รวมไปถึงรายได้จากสินค้ากลุ่มไวน์และแชมเปญที่ลดลงถึง 14%

 

ทำไมแอร์เมสยังขายดีแม้ในช่วงเศรษฐกิจแย่?

แอร์เมสเป็นหนึ่งในแบรนด์สินค้าหรูที่เป็นที่รู้จักทั้งในด้านคุณภาพของสินค้า ราคา และ exclusivity หรือความพิเศษเข้าถึงยาก โดยเฉพาะกระเป๋า ‘เบอร์กิน’ (Birkin) กระเป๋าหนังที่แพงและหาซื้อยากที่สุดในโลก เพราะต้องมีการลงชื่อจองสินค้าล่วงหน้าหลายปีกว่าจะได้มาครอง ทำให้กระเป๋าใบนี้นอกจากเป็นเครื่องใช้และของประดับแล้ว ยังถือเป็นสินทรัพย์ลงทุน เพราะเป็นสินค้าสะสมหายากที่มีอยู่ไม่กี่ใบในตลาด

afp.com-20140424-ph-was-was85

จากข้อมูลของ Sotheby’s ในปี 2023 ราคาของ Birkin 35 กระเป๋าเบอร์กินรุ่นดั้งเดิมของแอร์เมสทั้งที่ทำจากหนังจระเข้ หนังนกกระจอกเทศ และหนังอื่นๆ เช่น หนังลูกวัวเพศเมีย (Togo) และหนังลูกวัวเพศผู้ (Clemence) มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทั้งหมด 

โดยราคาของเบอร์กินที่ทำจาก Togo, Clemence และอื่นๆ มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 34% ในปีนี้ และมีราคาเฉลี่ยอยู่ประมาณ 16,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อใบ หรือราว 592,950.2 บาท ขณะที่เบอร์กินทำจากหนังนกกระจอกเทศราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5% ไปอยู่ที่ 16,350 ดอลลาร์สหรัฐต่อใบ หรือราว 591,142.42 บาท

ลักษณะเฉพาะตัวนี้ทำให้กลุ่มลูกค้าของแอร์เมสเป็นกลุ่มคนที่ถือว่าเป็น Ultra High Net Worth หรือกลุ่มคนรายได้สูงมากที่มีกำลังซื้อมากกว่ากลุ่มคนรายได้สูง หรือชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงธรรมดา ทำให้ถึงแม้ประชากรส่วนใหญ่ของโลกจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจนต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง กลุ่มลูกค้าหลักของแอร์เมสกลับไม่มีปัญหานี้ เพราะมีรายได้สูงจนสามารถลอยตัวเหนือปัญหาเศรษฐกิจได้อยู่แล้ว

โดยหากแบ่งรายได้ใน 9 เดือนแรกของแอร์เมสออกตามประเภทของสินค้า จะพบว่ากลุ่มสินค้าที่ทำรายได้ให้กับแอร์เมสสูงสุดก็คือกลุ่มสินค้าหนังและอุปกรณ์บังคับม้า ซึ่งรวมไปถึงกระเป๋า และสินค้าทำจากหนังชิ้นเล็กอื่นๆ ซึ่งทำรายได้ไปทั้งหมด 4,176 ล้านยูโร รองลงมาเป็นสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้าพร้อมใส่ (ready-to-wear) และเครื่องประดับ ซึ่งทำรายได้ไปทั้งหมด 2,934 ล้านยูโร

 

ที่มา: Bloomberg, Hermes, Sotheby's, Reuters

 




advertisement

SPOTLIGHT