ธุรกิจการตลาด

ไปรษณีย์เปิดตัว 'Digital Post ID'  ส่งของไม่ต้องจ่าหน้า แค่แปะ QR Code

1 ธ.ค. 65
ไปรษณีย์เปิดตัว 'Digital Post ID'  ส่งของไม่ต้องจ่าหน้า แค่แปะ QR Code

ไปรษณีย์ไทยปฏิวัติที่อยู่จัดส่ง เปิดตัว 'ดิจิทัลโพสต์ ไอดี' ส่งของไม่ต้องเขียนจ่าหน้า แค่แปะ QR Code คาดเริ่มใช้ได้ช่วงกลางปีหน้า 2566



"บุรุษไปรษณีย์ไทย" มีชื่อเสียงมาตลอดหลายสิบปีในเรื่อง "ความแม่น" ที่เรามักจะเห็นเรื่องราวความเทพของพวกเขาตามโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยๆ เช่น ส่งของถูกบ้านทั้งๆ ที่จ่าหน้าที่อยู่ผิด ผิดบ้านเลขที่ ผิดซอย หรือถึงขั้นผิดเขต 

แต่ในวันนี้ ความแม่นยำของไปรษณีย์ไทยที่เป็นทั้งจุดแข็งและกิมมิคสร้างชื่อ อาจถูกท้าทายครั้งใหญ่ใน "ยุคดิจิทัล" ที่เราจะหันมาใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีอย่างเต็มที่แทน เพราะเรากำลังจะมีทางเลือกใหม่ที่ใช้  "QR Code" แทนจ่าหน้าที่อยู่ตามปกติ 

บริการใหม่นี้มีชื่อว่า "ดิจิทัลโพสต์ ไอดี" (Digital Post ID) โดยจะเปลี่ยนจากการเขียนชื่อ-ที่อยู่ของผู้รับ ไปเป็นการแปะฉลาก QR Code ที่หน้าพัสดุแทน เพื่อใช้เทคโนโลยีระบุข้อมูลที่อยู่ได้อย่างแม่นยำตามพิกัด GPS  

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดบริการนี้ขึ้นมาก็คือ การรักษาข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้รับ-ส่งพัสดุ ซึ่งคนจำนวนมากเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ปัจจุบัน เริ่มมีประเทศบางแห่งในยุโรปใช้ที่อยู่ดิจิทัลผ่านคิวอาร์โค้ดแบบนี้กันบ้างแล้ว เช่น เดนมาร์ก, กรีนแลนด์, นอร์เวย์,สวีเดน และไอร์แลนด์ 

img_20221201130235000000

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า บริการนี้เป็นการต่อยอดจากการใช้รหัสไปรษณีย์ 5 หลัก ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการส่งไปรษณีย์ในประเทศไทยที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 (40 ปี) มาแปลงเป็นพิกัดที่ตั้งบนพื้นผิวโลกในประเทศไทย ด้วยหลักการทำงานเดียวกับระบบการหาตำแหน่งบนพื้นผิวโลก หรือ GPS โดย 1 คน สามารถมีได้หลายที่อยู่ และสามารถเปลี่ยนแปลงที่อยู่ชั่วคราวในระบบได้เมื่อจำเป็นต้องเดินทางไปต่างพื้นที่

“เดิมรหัสไปรษณีย์ 5 หลักจะบอกได้ถึงเขตพื้นที่เท่านั้น แต่ดิจิทัลโพสต์ไอดีจะระบุได้ถึงพิกัดตำแหน่งด้วยการปักหมุด บอกพิกัดแนวดิ่งได้ทำให้ระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูงได้แม่นยำขึ้น และช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลบนจ่าหน้า ป้องกันการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง”

ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ ภายในไตรมาส 2 ของปี 2566 (ช่วงกลางปีหน้า) และภายในปี 2567 ประชาชนน่าจะมีรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดีของตนเองที่จำได้ง่าย มาแทนการเขียนจ่าหน้าแบบเดิมพร้อมกันทั่วประเทศ

capture_4

สำหรับการใช้งานดิจิทัลโพสต์ ไอดีนั้น ที่ทำการไปรษณีย์ หรือผู้ให้บริการโลจิสติกส์จะมีการติดตั้งเครื่องพิมพ์ฉลากในรูปแบบ QR Code ที่เป็นดิจิทัลโพสต์ไอดี เพื่อแปะบนซองเอกสาร โดยผู้รับและผู้ส่งมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่หลุด เพราะไม่มีปรากฎบนกล่องหรือซอง แต่ต้องใช้แอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์อ่าน QR Code เท่านั้นถึงจะโชว์ และเป็นแบบ "ใช้ครั้งเดียว" เพื่อป้องกันการลักลอบนำคิวอาร์โค้ดบนกล่องหรือซองที่ถูกทิ้งแล้วไปใช้ในทางมิชอบ

อย่างไรก็ตาม ไปรษณีย์ไทยย้ำด้วยว่า ดิจิทัลโพสต์ไอดีไม่ได้เข้ามาแทนที่ระบบการจ่าหน้าแบบเดิมที่ใช้อยู่ แต่จะให้บริการควบคู่กันไป โดยถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ประชาชนเท่านั้น ทว่าด้วยความแม่นยำของระบบข้อมูล ส่งของแล้วไม่หาย ติดตามได้ ทำให้เชื่อว่าประชาชนจะค่อยๆ หันมาปรับใช้มากขึ้นในอนาคต

advertisement

SPOTLIGHT