รู้จักที่มาของชื่อแผน “จักรพงษ์ภูวนาถ” เตรียมรับมือเหตุการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา จากชื่อพระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย
หลัง พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) สั่งการให้กำลังกองทัพภาคที่ 1-2 เตรียมพร้อมปฏิบัติตามแผน "จักรพงษ์ภูวนาถ" รับมือสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชา โดยทางเพจ thaiarmedforce.com อธิบายว่า แผนจักรพงษ์ภูวนาถไม่ใช่แผนการรบกับกัมพูชา แต่เป็นแผนเผชิญเหตุสำหรับภาคตะวันออก โดยชื่อแผนนำมาจากจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีบทบาทในการวางรากฐานกิจการการทหารสมัยใหม่เมื่อครั้งการปฏิรูประบบราชการ และเป็นพระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทยอีกด้วย
โดยแผนเผชิญเหตุอย่างแผนจักรพงษ์ภูวนาถจะไม่นำไปสู่การประกาศสงครามหรือการระดมพลทั่วประเทศ เนื่องจากจำกัดการใช้กำลังอยู่ในขั้นปกติจนถึงขั้นตอบโต้ ที่สำคัญแผนเผชิญเหตุอย่างแผนจักรพงษ์ภูวนาถเป็นแผนที่ออกแบบมาตั้งรับและเข้าตีตอบโต้ ซึ่งหมายถึงการเน้นที่การป้องกันตนเองและการโจมตีเพื่อผลในการป้องกันตนเอง ไม่ใช่แผนเชิงรุกเพื่อยึดครองดินแดนหรือทำลายข้าศึก ซึ่งเสมือนเป็นการแสดงเจตนาของของไทยว่าต้องการป้องกันตนเองจากการที่กำลังพลของตนต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เกิดจากทุ่นระเบิดของกัมพูชา และเพื่อให้เห็นภาพ การปะทะกับกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2554 นั้น เป็นการปะทะที่อยู่ในขั้นปกติเท่านั้น
ที่มาของชื่อ แผน “จักรพงษ์ภูวนาถ”
มาจากชื่อพระนามของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ 5 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นสมเด็จพระเชษฐาธิราชในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2425 เป็นองค์ต้นราชสกุล จักรพงษ์ มีพระนามลำลองว่า ทูลกระหม่อมเล็ก พระองค์ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดินีโคไลที่ 2 แห่งรัสเซีย หลังจากสำเร็จการศึกษาทรงรับราชการทหารเป็นเสนาธิการทหารบก โดยทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบินในเมืองไทย
เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาวิชาหนังสือไทยกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และขุนบำนาญวรวัฒน์ (สิงโต) ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวังแล้ว จึงทรงศึกษาต่อที่นี้ทั้งวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีครูสอนภาษาอังกฤษคือ นายวุลสเลย์ ลูวีส และนายเยคอล พิลด์เยมส์ เมื่อมีพระชนม์ได้ 9 พรรษา ได้ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพิษณุโลกประชานารถ เมื่อมีพระชนมายุได้ 14 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษเพื่อเล่าเรียนภาษาอังกฤษ ทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณีของคนอังกฤษและชาวยุโรปชั้นสูง ในปี พ.ศ. 2439
สมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงษ์ภูวนารถ ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก Corps de Pages ประเทศรัสเซีย เมื่อพระชนมพรรษา 16 ปีในการไปศึกษาของพระองค์ในประเทศรัสเซียคราวนั้น มีผู้ตามเสด็จไปร่วมเรียนด้วยคือนายพุ่ม สาคร นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงที่สอบชิงทุนได้เป็นครั้งแรก ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ผลการสอบของพระองค์ในโรงเรียนนายร้อยฯ ปรากฏว่าพระองค์ทรงสอบไล่ได้ที่ 1 นายพุ่มสอบได้เป็นที่ 2 ยิ่งกว่านั้นผลการสอบของพระองค์ในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็กในราชสำนักกรุงรุสเซีย ทรงทำคะแนนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของโรงเรียน ดังนั้นพระนามของพระองค์จึงได้ถูกจารึกไว้บนแผ่นศิลาอ่อนของโรงเรียน ในเวลาต่อมา ทั้งพระองค์ฯ และนายพุ่มได้รับการบรรจุเป็นนายทหารม้าประจำกรมทหารม้าฮุสซาร์ของจักรพรรดินีโคไลที่ 2 แห่งรัสเซียในปีนั้นเอง
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษา ได้เสด็จกลับมาเยี่ยมประเทศไทยในปี พ.ศ. 2446 พร้อมรับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายร้อยเอกในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2446 และในปีเดียวกันนั้นเองก็ได้เสด็จกลับเพื่อการศึกษาชั้นสูงต่อไป โดยเข้าประจำโรงเรียนนายทหารฝ่ายเสนาธิการเป็นเวลา 2 ปี พร้อมกับนายพุ่ม พระสหายจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2448 ปรากฏว่าพระองค์ฯ ทรงสอบได้เป็นที่ 1 อีกครั้ง และจักรพรรดินีโคไลที่ 2 แห่งรัสเซีย ทรงพอพระทัยยิ่ง ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็น นายพันเอกพิเศษในกองทัพบกรัสเซียและเป็นนายทหารพิเศษในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ อีกทั้งยังพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์อันเดรย์ ชั้นสายสะพาย ซึ่งเป็นตราสูงสุดของประเทศรัสเซียสมัยนั้น รวมทั้งตราเซนต์วลาดิเมียร์อีกด้วย
การรับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ โดยได้รับพระราชทานพระยศนายพันเอกเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2449 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรี พระองค์ได้ทรงเริ่มจัดการงานต่างๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเยี่ยงอารยประเทศ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถจากนายพันเอกเป็นนายพลตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 และต่อมาในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2452 พระองค์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้รั้งหน้าที่ เสนาธิการทหารบก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เป็นเสนาธิการทหารบก อันเป็นตำแหน่งสำคัญในการรบทั้งในยามปกติและในยามสงคราม กับรั้งตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง และทรงจัดการวาง แนวทางหลักสูตรการศึกษาโรงเรียนเสนาธิการและการคัดเลือกนายทหารที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมเข้ารับการศึกษา
วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยทหารบก พระภารกิจของพระองค์มีมากมายที่ต้องทรงปฏิบัติราชการทั้งกลางวันและกลางคืน ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ยังต้องทรงแบ่งเวลาสำหรับแต่งและแปลตำราวิชาการทหารสำหรับทำการสอบนักเรียนนายร้อย ด้วยพระวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง กับทั้งได้ทรงจัดระเบียบแบบแผนโรงเรียนนายร้อยขึ้นใหม่ โดยให้มีนักเรียนนายร้อยชั้นปฐม และนักเรียนนายร้อยชั้นมัธยมขึ้น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 23 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2453 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารพระเชษฐาของพระองค์ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เป็นนายพลโท เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ศกเดียวกัน
การรับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทรงถือน้ำพระพิพัฒนสัตยาตั้งเป็นองคมนตรีในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2453
ในปี พ.ศ. 2454 ขณะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมนั้นเอง ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญคือข่าวการเตรียมการก่อการกบฏของ คณะ ร.ศ. 130 โดยฝ่ายกบฏได้กำหนดจะใช้กำลังทหารในพระนครบางส่วนเข้าทำการยึดอำนาจในวันที่ 1 เมษายน อันเป็นวันขึ้นศกใหม่ ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) ซึ่งกลุ่มทหารผู้ก่อการในครั้งนั้นล้วนเป็นลูกศิษย์ของพระองค์แทบทั้งสิ้น ดังนั้นพระองค์จึงได้วางแผนและทำการจับกุมในตอนเช้าตรู่ของวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 และทรงรับหน้าที่เป็นประธานอำนวยการพิจารณาโทษพวกนี้อย่างเคร่งครัด เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระองค์ขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยับยั้งไว้ ทรงให้เหตุผลว่าทรงเชื่อถือในพระราชอนุชา
เมื่อเสร็จสิ้นการจับกุมกบฏในปีนั้นแล้ว สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้เสด็จไปยังกรุงลอนดอนเพื่อเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร โดยมี หม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร เป็นผู้ตามเสด็จ นอกจากนั้นในระหว่างประทับอยู่ในยุโรป พระองค์ยังได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในการเชิญเจ้านายพระราชวงศ์ของเจ้าต่างประเทศในยุโรป เพื่อเสด็จมาในงานสมโภชพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2454
ในการนี้โปรดเกล้าฯ พระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ และเจิมพระมหาสังข์แก่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ ด้วยครั้นวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ก็ได้ทรงรับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้เลื่อนพระอิสริยยศจากกรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เป็นกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เสด็จออกไปช่วยงานนี้ต่างพระองค์เป็นอย่างดีเยี่ยม จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวง และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศจากพลโทเป็นพลเอก ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
พ.ศ. 2454 ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ทรงเห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องจัดหาอากาศยานไว้ป้องกันประเทศ จึงทรงดำริจัดตั้งกิจการการบินขึ้นเป็นแผนกหนึ่งของกองทัพบก ทรงจัดให้มีการคัดเลือกนายทหาร 3 นายไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นกระทรวงกลาโหมได้สั่งซื้อเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศสมาด้วย จำนวน 8 เครื่อง จัดตั้งเป็นแผนกการบินที่สนามราชกรีฑาสโมสร (สนามม้าสระปทุม) อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน
ต่อมา จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงย้ายที่ตั้งแผนกการบินมาที่อำเภอดอนเมืองตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2457 และทรงยกฐานะแผนกการบิน เป็นกองบินทหารบก ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2457
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2457 สงครามโลกครั้งที่ 1 อุบัติขึ้นในทวีปยุโรป พระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกล เพราะทรงศึกษาสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของประเทศคู่สงครามอย่างใกล้ชิด และในที่สุดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมนี หน้าที่ของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ส่วนราชการในตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ซึ่งต้องกระทำการสงครามร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น การจัดกำลังทหารอาสาที่จะไปราชการสงครามยังทวีปยุโรป พระองค์ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปเป็นตามที่พระองค์ทรงวางแผนการไว้เป็นอย่างดียิ่ง ได้ทำการจับกุมชาวเยอรมันและชนชาติที่เข้ากับเยอรมันและยึดทรัพย์สินเชลยศึกในพระนครก็เป็นไปโดยเรียบร้อย การส่งกำลังทหารไปทำราชการสงครามในคราวนั้นได้จัดเป็น 2 กอง คือกองบินทหารบก กองรถยนต์ทหารบกและหน่วยแพทย์อีก 1 หน่วย มีกำลังพลทั้งสิ้น 2,287 นาย
หลังจากสงครามโลกครั้งที่1 พระองค์ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมกิจการบิน ทั้งในกิจการทหารและกิจการพลเรือน ในปี พ.ศ. 2462 โปรดให้ทดลองใช้เครื่องบินนำถุงไปรษณีย์จากดอนเมืองไปจังหวัดจันทบุรี และในเวลาต่อมาได้ใช้กิจการบินทำการส่งเวชภัณฑ์และลำเลียง ผู้เจ็บป่วยทางอากาศ นับว่าพระองค์ทรงวางรากฐานแนวทางเสริมสร้างกำลังทางอากาศของประเทศไทยอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้มาเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน
เสด็จทิวงคต
จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระองค์ตกลงพระทัยว่าจะเสด็จประภาสทะเลทางฝั่งแหลมมลายู ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงพาหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ พระชายา, พระโอรสคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และนายพันเอกพระยาสุรเสนา ปลัดกรมเสนาธิการทหารบก ตามเสด็จไปด้วย แต่ขณะที่เสด็จไปทางเรือไปตามแนวฝั่งทะเลตะวันตก เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ได้เพียงวันเดียว ก็มีพระอาการประชวรไข้ไปตลอดทาง กลายเป็นพระปับผาสะเป็นพิษ (เป็นโรคปอดบวม) ขณะที่เรือถึงเมืองสิงคโปร์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2463 พระอาการกำเริบหนักขึ้น ครั้นความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พันโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาและพันเอกพระศักดาพลรักษ์รีบออกไปสิงคโปร์โดยรถไฟพิเศษ เพื่อจัดการรักษาพยาบาลร่วมมือกันกับนายแพทย์ในเมืองสิงคโปร์ ซึ่งได้ถวายพระโอสถประคับประคองเต็มความสามารถอยู่แล้ว พระอาการมีแต่ทรงกับทรุดตลอดมา และเสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463 เวลา 13 นาฬิกา 50 นาที พระอาการกำเริบหนักเหลือกำลังที่พระองค์จะทนทานได้เสด็จทิวงคตในเวลานั้น
พระกรณียกิจ
จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ มีพระปรีชาสามารถ ทั้งทางด้านการศึกษา และทางด้านรับราชการในบ้านเมืองและพระองค์ได้ทรงกระทำคุณประโยชน์ในการสร้างความเจริญของกองทัพไทย และส่วนราชการอื่นๆ หลายแห่ง
เมื่อทรงรับตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการได้ทรงช่วยจอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการในขณะนั้น ดำริวางการงานต่างๆ ไว้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้นแป็นอันมาก ต่อมาเมื่องทรงรบตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกและเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ได้ทรงวางระเบียบการศึกษา ขยายรูปโครงออกให้กว้างขวางทันสมัย
ในขณะที่ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้ทรงปรับปรุงงานเสนาธิการให้กว้างขวางเพิ่มขึ้น โดยทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการ เพื่อให้การศึกษาแก่นายทหารที่จะทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการบรรจุตามงานในหน้าที่เสนาธิการ ทรงวางแนวทางหลักสูตรการศึกษาโรงเรียนเสนาธิการ และการคัดเลือกนายทหารที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมเข้ารับการศึกษา นอกจากนี้ยังทรงเรียบเรียงตำราเรื่อง พงษาวดารยุทธศิลปะ และเอกสารอื่น ๆ ที่ใช้เป็นตำราศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการยุคต้นอีกจำนวนมาก ซึ่งยังคงใช้แนวทางในการพัฒนาของโรงเรียนเสนาธิการสืบจนถึงปัจจุบัน
จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมกิจการบิน ทั้งในกิจการทหารและกิจการพลเรือน ทรงวางรากฐานแนวทางเสริมสร้างกำลังทางอากาศของประเทศไทยอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้มาเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน กองทัพอากาศไทยได้ยกย่องถวายพระเกียรติพระองค์ไว้ว่าเป็น "พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย"
เมื่อ พ.ศ. 2460 ทรงจัดส่งทหารอาสาไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในปีต่อมาได้ทรงก่อตั้งกองบินทหารบก ซึ่งต่อมา ได้ขยับขยายเป็นกองทัพอากาศ และทรงริเริ่มก่อสร้างค่ายจักรพงษ์ที่จังหวัดปราจีนบุรี
ทางด้านส่วนราชการอื่น พระองค์ยังได้เป็นผู้กำกับการก่อสร้างสถานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสภากาชาดไทย ทรงมีส่วนริเริ่มในการก่อตั้งสภากาชาดไทย และทรงดำรงตำแหน่ง อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย พระองค์แรก ทรงดำริวางระเบียบการ และสร้างความเจริญให้แก่สภากาชาดโดยรอบด้าน อันเป็นประโยชน์ในการเกื้อกูลประชาชนซึ่งเจ็บไข้ได้อย่างดี
Advertisement