Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สินบนใบอนุญาต เขย่าฐานรากความปลอดภัยประชาชน

สินบนใบอนุญาต เขย่าฐานรากความปลอดภัยประชาชน

16 พ.ค. 68
10:00 น.
แชร์

‘กระบวนการขอใบอนุญาตก่อสร้าง’ กำลังกลายเป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ในการเรียกรับผลประโยชน์ เพื่อแลกกับความรวดเร็วในการอนุมัติแบบก่อสร้าง ปัญหานี้กำลังคุกคามความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รายการ SPOTLIGHT Anti Corruption Season 3 เข้าไปตรวจสอบช่องโหว่ของขั้นตอนการขอใบอนุญาตก่อสร้าง และค้นหาแนวทางป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ

‘ละเลย - เพิกเฉย’ กลยุทธ์รีดสินบนใบอนุญาต

ปัญหาสินบนใบอนุญาตฯ เกิดจากการละเลย เพิกเฉย ไปจนถึงการอนุมัติอนุญาตโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. ในช่วงระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2567 พบว่าเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุดเป็นอันดับ 1 เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และหากเจาะลึกลงไปที่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะพบว่ามูลค่าโครงการที่ถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริตรวมกันถึง 13,430 ล้านบาท แบ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 9,996 ล้านบาท การจัดซื้อจัดจ้าง 2,092 ล้านบาท และการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ 1,049 ล้านบาท

‘หลงจู๊’ ผู้ประสานงานนอกระบบ

ปัจจุบัน กระบวนการขอใบอนุญาตก่อสร้างมีขั้นตอนที่ชัดเจน แต่ก็ยังมีช่องว่างที่ก่อให้เกิดการทุจริตได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การยื่นคำขอไปจนถึงการอนุมัติใบอนุญาตฯ โดยข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. พบว่าการทุจริตเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นลำพัง แต่ทำกันเป็น ‘ขบวนการ’ โดยเจ้าหน้าที่รัฐบางรายสมรู้ร่วมคิดกับบุคคลภายนอก ใช้อำนาจและดุลพินิจเพื่อยื้อเวลา ปัดตกคำขอ หรือแจ้งทักท้วงซ้ำซาก เพื่อบีบให้ผู้ขอใบอนุญาตฯ ต้องยอมจ่ายสินบนเพื่อให้กระบวนการเดินหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐอาจมีการแนะนำให้ผู้ขอใบอนุญาตฯ ติดต่อ “หลงจู๊” หรือผู้ประสานงานนอกระบบ ที่จะเรียกผลประโยชน์ตามอัตราส่วนมูลค่าของโครงการ ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่เพียงบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อระบบราชการเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากความล่าช้าที่ไม่เป็นธรรม

ผู้ประกอบการสุดทน! ถูกเรียกรับสินบนซ้ำซาก

นายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เปิดเผยกรณีการเรียกรับสินบนในกระบวนการขอใบอนุญาตก่อสร้างที่น่าสนใจ โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. และกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ปฏิบัติการจับกุมนายช่างโยธาปฏิบัติงาน สำนักงานเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร

ปฏิบัติการ ‘จับสด’ ในครั้งนี้เป็นผลมาจากช่วงเดือนกันยายน 2567 ผู้เสียหายได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร จำนวน 7 อาคาร ที่ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตพระโขนง จนได้พบกับนายช่างโยธาฯ รายดังกล่าว ซึ่งได้ใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อหน่วงเวลาการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ทำให้ผู้เสียหายเกิดความยุ่งยาก และนำไปสู่การเรียกรับเงินค่าออกใบอนุญาตก่อสร้างในส่วนของ 6 อาคารแรกจากผู้เสียหายเป็นเงิน จำนวน 400,000 บาท เพื่อแลกกับการออกใบอนุญาตฯ โดยให้แบ่งชำระก่อน จำนวน 200,000 บาท

ในช่วงเวลาต่อมา ผู้เสียหายได้ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหลังที่ 7 ซึ่งนายช่างโยธาฯ ได้มีการเรียกรับสินบนเพิ่มเติมอีก จำนวน 20,000 บาท ทำให้ผู้เสียหายหมดความอดทน และเข้าร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และนำไปสู่การสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกันระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. จนศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อนุมัติหมายจับนายช่างโยธาฯ รายดังกล่าว

ปฏิบัติการจับสดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการซ้อนแผนเข้าจับกุม ภายหลังนายช่างโยธาฯ ได้นัดหมายผู้เสียหายให้นำเงินสด จำนวน 200,000 บาท มาให้ที่ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตพระโขนง เมื่อถึงเวลานัดหมาย นายช่างโยธาฯ ได้แจ้งผู้เสียหายให้นำเงินมาให้ที่โต๊ะทำงาน ผู้เสียหายจึงได้นำเงินไปให้ตามนัดหมาย และส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้ เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจับกุมที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ จึงได้แสดงตัวเข้าทำการจับกุมและแสดงหมายจับ พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายให้รับทราบ ทั้งนี้ มีการตรวจสอบพบเงินสด จำนวน 200,000 บาท อยู่บริเวณโต๊ะทำงานของนายช่างโยธาฯ รายดังกล่าว ซึ่งเป็นของกลางที่จะนำส่งพนักงานสอบสวน บก.ปปป. เพื่อดำเนินคดีต่อไป

นายสุขสันต์เล่าว่าการเรียกรับสินบนในกระบวนการขอใบอนุญาตก่อสร้างเกิดขึ้นหลายครั้ง และมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายรายไม่กล้าเข้ามาร้องเรียนต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เนื่องจากเกรงกลัวอันตรายจากขบวนการเรียกรับสินบน และเกรงกลัวความผิดจากการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ

ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษยืนยันว่ากระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน ป.ป.ช. มีความปลอดภัย และสามารถปกป้องผู้เสียหายจากขบวนการเรียกรับสินบนได้ ทั้งนี้ การเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษภายหลังที่ผู้เสียหายได้มีการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว จะไม่ถือว่าผู้เสียหายมีความผิดใด ๆ เนื่องจากเป็นการให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ในการดำเนินคดี

ป.ป.ช. เสนอมาตรการปราบสินบนใบอนุญาตฯ

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาการเรียกรับสินบนในกระบวนการขอใบอนุญาตก่อสร้างนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้

  1. เสนอให้เร่งรัดการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการขออนุญาตก่อสร้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ขอใบอนุญาตฯ สามารถตรวจสอบสถานะของการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ช่วยลดช่องทางการติดต่อระหว่างผู้ขอใบอนุญาตฯ และเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตโดยตรง ซึ่งเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และลดความเสี่ยงในการทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ในการออกใบอนุญาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. เสนอให้พัฒนาระบบ One Stop Service โดยการเชื่อมโยงการอนุมัติ อนุญาต ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงควรมีการเปิดเผยข้อมูลทุกหน่วยงาน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการนำไปใช้ต่อของผู้ใช้งานข้อมูล และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ครบถ้วน ง่าย สะดวก ไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่มีข้อจำกัด
  3. เสนอให้ใช้กลไกการตรวจสอบโดยเอกชน (Third Party Inspector) ซึ่งเป็นการเข้าร่วมตรวจแบบแปลนและการก่อสร้าง ทั้งในขั้นตอนก่อนก่อสร้าง ขั้นตอนระหว่างก่อสร้าง และขั้นตอนหลังก่อสร้าง โดยต้องกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของนายตรวจเอกชนให้รัดกุม เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ถูกต้อง และโปร่งใส ซึ่งจะทำให้การพิจารณารวดเร็ว ลดปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ได้ และแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เพียงพออีกด้วย
  4. ควรจัดให้มีคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และประชาชนที่ขอใบอนุญาตฯ รวมถึงการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในกระบวนการอนุมัติ อนุญาต อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง ลดปัญหาการเกิดความเข้าใจผิดระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน
  5. ควรจัดให้มีระบบการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตที่มีประสิทธิผล มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย พร้อมให้ความรู้ และความคุ้มครองผู้แจ้งข้อมูล

ท้ายที่สุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอให้มอบหมายกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินการตามมาตรการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณา และมีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยรายงานผลการขับเคลื่อนมาตรการฯ เสนอต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปีด้วย

Advertisement

แชร์
สินบนใบอนุญาต เขย่าฐานรากความปลอดภัยประชาชน