จากกรณีที่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรมศิลปากรได้ทำการขุดสำรวจบริเวณใต้สะพานอรุณอมรินทร์พื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มบางขุนนนท์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ถูกมัดมือไพร่หลัง บริเวณใต้ซากอิฐโบราณ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและกรมศิลปากรได้ปิดพื้นที่จุดดังกล่าวไว้ เพื่อรอนักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญสำรวจตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ซึ่งจากการสังเกตการณ์ของทีมข่าวพบว่าในจุดดังกล่าวมีฝนตกทำให้น้ำท่วมขังเห็นเพียงซากอิฐแดงโบราณ โดยคนงานก่อสร้างรถไฟฟ้าบอกว่ามีการเคลื่อนย้ายโครงกระดูกออกไปหมดแล้วและไม่มีใครรู้ข้อมูลเนื่องจากกรมศิลปากรปิดพื้นที่ตั้งแต่มีการขุดค้นพบ
โดยทีมข่าวสอบถามไปยังอาจารย์ตุ๊ก บางปะอิน ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ นักสะสมศาสตราวุธโบราณ ชื่อดัง บอกว่า จากการติดตามข่าวนี้มา เชื่อว่าโครงกระดูกที่กรมศิลปากรขุดค้นพบนั้นเป็นกลุ่มนักโทษทางการเมืองในสมัยช่วงกรุงธนบุรี ต่อเนื่องต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะโครงกระดูกที่พบมีลักษณะถูกมัดมือไพร่หลัง และกะโหลกถูกทุบและบางโครงกระดูกไม่มีกะโหลก และถูกฝังไว้ใต้ป้อมเก่า เพราะจุดบริเวณนั้นเป็นป้อมปราการ ทางทิศตะวันตก ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ออกญาวิไชยเยนทร์ หรือ คอยสแตนติน ฟอลค่อล ได้เกณฑ์คนมาสร้างเอาไว้
ก่อนที่ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ต่อเนื่อง สมัยกรุงธนบุรี ป้อมก็พังทลายลงจมจึง สันนิษฐานว่าได้มีการประหารนักโทษโดนการใช้ตะลุมพุกทุบหัว และการตัดหัวจึงเอาร่างไปฝังไปไว้ตรงป้อมเก่า ซึ่งเชื่อว่ามีมากกว่า 70 โครง ก็อาจจะเป็นกลุ่มนักโทษคดีทางการเมืองในช่วงผัดเปลี่ยนกรุงรัตนโกสินทร์ก็เป็นได้ เพราะหากเป็นนักโทษทั่วไปก็อาจจะมีการประหารตามปกติเป็นรายบุคคลแต่ในลักษณะนี้มีเป็นกลุ่มเป็นก้อนจึงน่าจะเรียกว่าเป็นก๊กทางการเมือง
ทั้งนี้ ยอมรับว่า เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตุเทียบเคียงข้อมูลทางวิชาการ เพราะข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์จุดนั้นยังไม่ชัดเจน เพราะกรมศิลปากรปิดพื้นที่ไม่ให้บุคคลภายนอกหรือใคร เข้าไปบันทึกภาพจึงทำให้ไม่กล้าฟันธง100% ว่าโครงกระดูกทั้งหมดนั้นเป็นของฝ่ายไหนหรือใคร และไม่อยากให้ประชาชนรู้สึกตื่นกลัวอยากให้มองเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่เราจะต้องเรียนรู้สภาพพื้นที่
Advertisement