เมื่อเวลา 09.30 น. (21 พ.ค. 2568) สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่นำทีมงานเข้าตรวจสอบโครงกระดูกโบราณและภาชนะดินเผาที่ถูกพบภายในร่องน้ำริมถนนลูกรัง ลึกประมาณ 1.5 เมตร ที่ถูกแรงน้ำหลากกัดเซาะจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันหลายวัน ติดพื้นที่การเกษตรท้ายหมู่บ้านไร่แหลมทองพัฒนาหมู่ที่ 12 ตำบลลำเพียก อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งมีชาวบ้านผ่านมาพบและทาง อ.ครบุรี แจ้งไปยังทางสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา
ดูจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบโครงกระดูกและเศษชิ้นส่วน ทั้งส่วนที่เป็นชิ้นส่วนกระดูกและเครื่องปั้นดินเผากระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณในรัศมี 50 เมตร ในจำนวนนั้นมีโครงกระดูกที่อยู่ในสภาพท่อนล่างสมบูรณ์ พร้อมกับมีหม้อปั้นดินเผาหลายใบกองอยู่บริเวณปลายเท้า เจ้าหน้าที่จึงทำการขุดเก็บรายละเอียดโครงนี้เป็นพิเศษ 1 ร่าง ก่อนที่จะเก็บรวบรวมกระดูกชิ้นส่วนทั้งหมดพร้อมกับภาชนะดินเผาซึ่งเป็นของอุทิศให้กับศพพบบริเวณปลายเท้า จำนวน 5 ใบ และใกล้เคียงกันยังพบโบราณวัตถุ อาทิ ขวานหินขัด กระสุนดินเผา กลับไปตรวจสอบรายละเอียดเพื่อระบุอายุและสมัยของโครงกระดูกดังกล่าวและใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ว่ามีความสำคัญทางโบราณคดีมากน้อยขนาดไหน
ในเบื้องต้นทาง นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา สันนิษฐานว่าโครงกระดูกดังกล่าวน่าจะเป็นโครงกระดูกมนุษย์ เพศชาย เนื่องจากกระดูกเชิงกรานแคบ กระดูกต้นขาและหน้าแข้งใหญ่ นอนหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
โดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ที่พบโครงกระดูกมนุษย์ลักษณะนอนหงายฝังร่วมกับภาชนะดินเผา ถือเป็นร่องรอยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบเชื่อว่าน่าจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 1,500 - 3,000 ปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนการรับพุทธศาสนาในดินแดนประเทศไทย
ก่อนหน้านี้บริเวณแห่งนี้ยังไม่ได้เคยขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีมาก่อน จากการสำรวจชั้นดินพบชิ้นส่วนของกระดูกมนุษย์ ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา และกระดูกสัตว์กระจายตัวอยู่ในระยะ 50 เมตร พิจารณาจากลักษณะภูมิประเทศพบว่าเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ซึ่งสัมพันธ์กับร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าพื้นที่เนินดินขนาดใหญ่เช่นนี้ถูกใช้เป็นแหล่งฝังศพมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
Advertisement