"วราวุธ" ให้กำลังใจ ทีมพม.จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา สั่งปลัดกระทรวง เตรียมพร้อมหมุนเวียนสับเปลี่ยนทีม ย้ำช่วยกลุ่มเปราะบางอพยพเข้าศูนย์พักพิง
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2568 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การปะทะในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชา ที่ยังมีอยู่ในขณะนี้ ตนได้กำชับให้ทีม พม.จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบให้ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันการที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ตัวเราเองก็ต้องพร้อมก่อน ดังนั้นขอให้ทีม พม.จังหวัดที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ต้องหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ หากไม่สบายนอกจากช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้แล้ว เราจะกลายเป็นภาระให้กับคนอื่นเสียเอง ตนจึงย้ำเสมอว่าต้องดูแลตัวเองให้แข็งแรงปลอดภัยด้วย และต้องขอขอบคุณพร้อมเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ ทีม พม.จังหวัดในพื้นที่ทุกๆ คน ที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและประชาชน ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. แล้วว่า หากมีความจำเป็นขอให้พิจารณาดำเนินการจัดให้มีการหมุนเวียนทีม พม.จังหวัดในพื้นที่ต่างๆ พื้นที่ใกล้เคียง หรือภาคอื่นๆ มาช่วยสมทบ และขณะนี้ประเทศไทย ประสบทั้งปัญหาน้ำท่วม และสถานการณ์ชายแดน เราต้องแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่แต่ละภาคให้เหมาะสม
ด้านนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. ระบุว่า ขอเป็นกำลังใจให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) และทีม พม.หนึ่งเดียวจังหวัดในทุกพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ เราต้องแข่งกับเวลาความยากลำบากของกลุ่มเปราะบางและประชาชน นอกจากนี้ขอย้ำเรื่องให้ พมจ. แบ่งเวลาในการวางแผนการช่วยเหลือ และทำงานบูรณาการร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อที่จะได้รักษาระยะการทำงานเพื่อกลุ่มเปราะบางและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการในพื้นที่ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อสามารถจัดการแก้ไขให้ได้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยจากสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชา นั้นทางศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) กระทรวง พม. ได้รายงานความคืบหน้าดังนี้
ศบปภ. พม.จังหวัดจันทบุรี รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2568 ทีม พม.จังหวัดจันทบุรี ร่วม บูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจประชาชนที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวในอำเภอสอยดาว มีประชาชนเข้าพักอาศัยประมาณ 350 ราย และศูนย์พักพิงชั่วคราว ในอำเภอโป่งน้ำร้อน มีประชาชนเข้าพักอาศัยประมาณ 100 ราย เนื่องจากช่วงเวลา 00.34 น. ได้มีชาวบ้านในพื้นที่ชายแดน จากตำบลทุ่งขนาน ตำบลทับช้าง อำเภอสอยดาว และตำบลเทพนิมิต อำเภอโป่งน้ำร้อน ทยอยเดินทางเข้ามาพักอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวตามแผนอพยพพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลังเพื่อความปลอดภัย โดยทีม พม.จังหวัดจันทบุรี ได้ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ด้วยการพูดคุยให้กำลังใจกับผู้ประสบภัย พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกและจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นประจำจุดคัดกรอง อีกทั้งจัดกิจกรรมให้กับเด็กและเยาวชนภายในศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวล
ศบปภ. พม.จังหวัดตราด รายงานว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดสถานที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว และมอบหมายให้อำเภอ ท้องถิ่น อพยพกลุ่มเปราะบางและ ประชาชน ออกจากพื้นที่เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ได้รับอันตราย โดยมอบหมายให้ทีม พม. จังหวัดตราด ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตามภารกิจของกระทรวง พม. โดยทีม พม.จังหวัดตราดได้ลงพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว 3 แห่ง เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนตามภารกิจของ กระทรวง พม. โดยศูนย์พักพิงชั่วคราวจุดที่ 1 รับผู้อพยพมาจากตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จำนวน 440 คน แบ่งเป็น เด็ก 0-6 ปี จำนวน 30 คน เด็ก 7-18 ปี จำนวน 10 คน ผู้สูงอายุ จำนวน 30 คน คนพิการ จำนวน 1 คน ผู้สูงอายุติดเตียงจำนวน 2 คน และคนวัยทำงาน จำนวน 370 คน
โดยมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่คอยดูแล มีโรงครัว มีบริการอาหาร น้ำดื่ม และมีสิ่งของเครื่องใช้ที่ต้องการและยังขาดแคลน อาทิ นมผงเด็ก ผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำเร็จรูป มุ้ง ปลั๊กไฟ และ ยากันยุง , จุดที่ 2 รับผู้อพยพมาจากตำบลชำราก อำเภอเมืองจำนวน 375 คน แบ่งเป็น เด็ก 0-6 ปี จำนวน 15 คน เด็ก 7-18 ปี จำนวน 20 คน ผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 8 คน และวัยทำงาน ผู้สูงอายุ รวมจำนวน 332 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่คอยดูแล จัดหาอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น อีกทั้ง มีกิจกรรมให้เด็กได้ผ่อนคลาย , จุดที่ 3 รับผู้อพยพมาจากอำเภอคลองใหญ่ รวม 141 คน ซึ่งมีกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กอายุ 0-6 ปี จำนวน 30 คน อายุ 7-18 ปี จำนวน 31 คน ผู้สูงอายุจำนวน 23 คน และผู้ป่วยติดเตียงจำนวน 3 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ คอยดูแลพร้อมให้บริการอาหาร และพบว่า สิ่งของเครื่องใช้ที่ต้องการเพิ่มเติม อาทิ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ถุงดำ ยาสระผม และนมกล่อง ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ทีม พม.จังหวัดตราด ได้สนับสนุนเสื้อผ้าให้แก่ประชาชนที่ไม่ได้นำติดตัวมา
ศบปภ. พม.จังหวัดสระแก้ว รายงานว่า ได้ร่วมบูรณาการกับทางจังหวัดสระแก้ว หลังได้รับการประสานจากหน่วยงานความมั่นคงให้ดำเนินการอพยพประชาชน ในเขต 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตาพระยา โคกสูง อรัญประเทศ จึงได้ประกาศให้มีการอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนอพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย รวบรวมพลเรือน และศูนย์พักพิงชั่วคราว จำนวน 9 แห่ง รวมถึงสำรองไว้อีกจำนวน 6 แห่ง เนื่องจากมีการอพยพอย่างต่อเนื่อง
ทีม พม.จังหวัดสระแก้วได้ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและ ประชาชน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรับลงทะเบียนคัดกรองกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ ลงพื้นที่พูดคุยให้กำลังใจผู้ประสบภัย พร้อมทั้งสำรวจปัญหา ความต้องการช่วยเหลือต่างๆ ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวจังหวัดสระแก้ว ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้อพยพรวม 3,905 ราย แบ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กและเยาวชนจำนวน 1,096 ราย ผู้สูงอายุจำนวน 627 ราย และคนพิการจำนวน 23 ราย ซึ่งทีม พม.จังหวัดสระแก้ว ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดในการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
ทั้งด้านที่พัก อาหาร สุขอนามัย และการดูแลสุขภาพจิต รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขในการให้บริการทางการแพทย์ และการดูแลสุขภาพแก่ผู้ประสบภัย รวมทั้งการจัดหาและจัดส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ อาทิ น้ำดื่ม อาหารแห้ง ยารักษาโรค เสื้อผ้า และของใช้จำเป็นพื้นฐาน อีกทั้ง วางแผนการจัดกิจกรรมภายในศูนย์พักพิง ประเมินความเสียหายและความต้องการความช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัย รวมถึงการติดตามสถานการณ์และการสื่อสารข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมสำหรับการอพยพเพิ่มเติมในกรณีที่ได้รับการประสานเพิ่มมาจากหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งขณะนี้ยังคงมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
Advertisement