วันที่ 10 ก.ค. 68 นาย มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาญัตติเสนอให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่มีความสำคัญ 4 ด้าน
ประกอบด้วย1. กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน หลังรัฐบาล ไม่สามารถแก้ปัญเศรษฐกิจ เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ดังที่ประกาศไว้เช่นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ชะลอโครงการ เฟส 3 ออกไป หรือ จะผลักดัน การสร้างสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ก็ยังพบว่า มีเสียง คัดค้านจากหลายภาคส่วนในสังคมเนื่องจากกังวลถึงผลลัพธ์ที่ตามมา
นอกจากนี้ ยังเจอปัญหาภายนอก เรื่องภาษีสหรัฐอเมริกา ภาวะสงครามในหลายพื้นที่ ราคาน้ำมันโลกและพลังงานที่ผันผวน ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าคาดการณ์ สร้างผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ
2.กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน เนื่องจากกลไกของรัฐไม่สามารถ จัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ได้แก่ ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์และเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายกับปัญหาการพนันออนไลน์และยาเสพติด ทำให้จำนวนคดีอาชญากรรม สูงขึ้นมา
3.กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาและติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนของประเทศไทยแบบบูรณาการ หลังประสบปัญหา เช่น บริเวณชายแดนประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งมีกลุ่มว้าแดง (กองกำลังสหรัฐว้า หรือ UWSA) มีการรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่อธิปไตยของไทย หรือบริเวณชายแดนประเทศไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา ที่มีความขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดน รวมถึงสถานการณ์ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการก่อเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นและผู้ก่อความไม่สงบสามารถหลบหนีการจับกุมไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ง่าย
4.กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อหาแนวทางแก้ไข หลัง เกิดจากธรรมชาติและเกิดจากมนุษย์ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ดินหรือโคลนถล่ม พายุ ไฟป่าและหมอกควัน หรือแม้กระทั่งแผ่นดินไหวรุนแรง
โดยแต่ละคณะมีจำนวน 29 คน และกำหนดเวลาการพิจารณาศึกษา 90 วัน โดยจะนำมา 4 กมธ.ฯ เข้าสู่การพิจารณา ในการประชุมวุฒิสภา ในวันที่ 15 ก.ค.นี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา ในวันที่ 14 และวันที่ 15 ก.ค. 68 มีวาระการพิจารณาน่าสนใจ ได้แก่ การให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด
Advertisement