นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดี "จำนำข้าว"
22 พฤษภาคม 2568 ครบรอบ 11 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อผ. 160-163/2568 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 พิพากษาเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นบางส่วน และแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น สรุปความได้ว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี 2554-2557) ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากโครงการจำนำข้าว จำนวน 10,028,861,880.83 บาท ("ประมาณ 10,029 ล้านบาท")
โดยศาลพิจารณาและให้เหตุผลประกอบ ดังนี้
1. ศาลแบ่งแยกโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก ส่วนที่สอง การปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย
โดยศาลเห็นว่า ในส่วนแรกนั้นเป็นการดำเนินในระดับนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา เป็นเรื่องทางการเมือง ต้องถูกตรวจสอบโดยการตั้งกระทู้ถามหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ถือเป็น "เจ้าหน้าที่" ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในส่วนแรกนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดทางละเมิดแต่อย่างใด ในส่วนที่สอง เป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อให้นโยบายรับจำนำข้าวบรรลุผล ซึ่งถือเป็น "การกระทำทางปกครอง" ไม่ใช่การดำเนินการในส่วนนโยบาย จึงถือเป็น "เจ้าหน้าที่" ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 อันอาจมีความรับผิดทางละเมิดได้ (ดูคำพิพากษา หน้า 109-113)
2. ส.ต.ง.และ ป.ป.ช. ได้แจ้งผลการตรวจสอบต่อนายกรัฐมนตรี "สอดคล้องต้องกันโดยสรุปว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก มีการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้นในหลายขั้นตอน ขอให้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะและข้อสังเกตต่อไปด้วย" แต่นายกรัฐมนตรีมิได้ดำเนินการใดๆ
แม้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะอนุกรรมการแล้ว "แต่ก็มิได้ติดตามให้คณะอนุกรรมการรายงานผลการดำเนินการให้ทราบว่า มีปัญหาในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามที่ได้รับรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงาน ป.ป.ช.หรือไม่" และยังมีการตั้งกระทู้ถามและการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยกล่าวหาและมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการทจริตในการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)
จึงถือว่า นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ "ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาลว่า มีปัญหาการทุจริตทุกขั้นตอน" แต่ก็มิได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการดำเนินการตรวจสอบว่ามีปัญหาการทุจริตหรือไม่
จึงเป็นกรณีที่ "ไม่คำนึงถึงข้อทักท้วงและข้อเสนอของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการต่างๆของรัฐ รวมทั้งการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด" แต่กลับปล่อยให้ดำเนินโครงการต่อไป จึงถือได้ว่า "ปล่อยปละละเลย ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการทุจริต จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการกระทำการทุจริตได้โดยง่าย" เป็นการที่คุณยิ่งลักษณ์ ละเมิดต่อกระทรวงการคลัง ทำให้ได้รับความเสียหายตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 (ดูคำพิพากษา หน้า 121)
3. ศาลอธิบายว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือก มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 2.การนำข้าวเปลือกไปจำนำและเก็บรักษา 3.การสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร 4. การระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)
ศาลเห็นว่าในสามขั้นตอนแรก ซึ่งเป็นขั้นตอนในการจำนำข้าวเปลือกนั้น แม้มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่พฤติการณ์ของการกระทำของคุณยิ่งลักษณ์ ยังไม่ถึงขนาดเป็นความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่จะทำให้กระทรวงการคลังเสียหาย คุณยิ่งลักษณ์จึง "ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตในขั้นตอนการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557" (ดูคำพิพากษา หน้า 122)
4. ศาลเห็นว่า ในขั้นตอนที่ 4 การระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ที่มีการทุจริตเกิดขึ้นนั้น คุณยิ่งลักษณ์ได้รับทราบปัญหา "แต่ไม่ได้มีการติดตามกำกับดูแลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกให้มีประสิทธิภาพตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้อย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะในการติดตามดูแลหรือตรวจสอบการทุจริตการระบายข้าวตามสัญญาซื้อขายกรณีการระบายข้าวด้วยวิธีขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) อย่างใกล้ชิด” ประกอบกับ คุณยิ่งลักษณ์ในฐานะประธาน กขช. ได้เข้าร่วมประชุมเพียงครั้งเดียว จึงเห็นได้ว่า “ยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลย ไม่ติดตาม หรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานตรวจสอบ"
ศาลเห็นว่า โดยวิสัย คุณยิ่งลักษณ์ต้องเล็งเห็นได้ว่า การดำเนินโครงการนี้มีความเสียหายเกิดขึ้นชัดเจนแล้ว จึงควรพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆที่ปรากฏในหนังสือทักท้วงของหน่วยงานตรวจสอบ แต่กลับเพิกเฉย จนมีการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ส่วนนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้กระทรวงการคลังเสียหาย คุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ดูคำพิพากษา หน้า 123)
5. ศาลนำความเสียหายจากสัญญาซื้อขาย 4 ฉบับที่มีปัญหาการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) มาพิจารณากำหนดค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,057,723,761.66 บาท (ประมาณ 20,058 ล้านบาท) (ดูคำพิพากษาหน้า 124-125)
6. ศาลเห็นว่า พิจารณาจากระดับความร้ายแรงของการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีแล้ว ไม่เห็นควรที่จะหักส่วนแห่งความรับผิด (ดูคำพิพากษา หน้า 125-126)
7. ศาลเห็นว่า กรณีนี้ ความเสียหายจากการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) มีผู้กระทำละเมิดหลายคน ต้องหักส่วนความรับผิดของแต่ละคนออก โดยศาลกำหนดให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดจำนวน 10,028,861,880.83 บาท (“ประมาณ 10,029 ล้านบาท”) หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนมูลค่าความเสียหาย (ดูคำพิพากษา หน้า 127)
ผมขอแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ดังนี้
1. การดำเนินการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากคุณยิ่งลักษณ์ ในความเสียหายที่เกิดจากโครงการจำนำข้าว ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ไปจนถึงการออกคำสั่งของกระทรวงการคลังในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางนั้น มีความสัมพันธ์กับรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นกลางของผู้ออกคำสั่งทางปกครอง จนทำให้องค์กรผู้ใช้ดุลพินิจออกคำสั่งเรียกค่าสินไหมทดแทนมีความเป็นปฏิปักษ์กับคู่กรณี
2. การพิจารณาว่า "เจ้าหน้าที่" ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดแก่รัฐหรือหน่วยงานหรือไม่ ต้องพิจารณาจาก พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ประกอบกับ ป.พ.พ.มาตรา 420 เรื่องละเมิด ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ 1. เจ้าหน้าที่กระทำหรือละเว้นการกระทำ 2. การกระทำหรือละเว้นการกระทำนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 3. มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่หน่วยงาน 4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำหรือละเว้นการกระทำกับความเสียหายที่เกิดขึ้น (causation)
ในส่วนที่เป็นการตัดสินใจทางนโยบายว่าจะดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลเห็นว่าในส่วนนี้เป็นการกระทำทางการเมืองโดยแท้ เป็นเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง ผ่านกระบวนการตรวจสอบทางการเมือง เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการตั้งกระทู้ถาม ไม่ใช่เป็นการกระทำทางปกครอง ที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง ไม่ได้กระทำการในฐานะ "เจ้าหน้าที่" ตามกฎหมายปกครอง ไม่อยู่ในขอบเขตความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในส่วนนี้ ผมเห็นด้วยกับศาลปกครองสูงสุด
แต่ในส่วนของกรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อปฏิบัติตามนโยบาย และใช้อำนาจในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการ กขช. ซึ่งถือเป็น "เจ้าหน้าที่" ตามกฎหมายปกครองนั้น ศาลเห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G ในส่วนนี้ ผมไม่เห็นด้วยกับศาลปกครองสูงสุด เพราะ การระบายข้าวแบบ G to G เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์และการปฏิบัติในระดับเจ้าหน้าที่ ในขณะที่คุณยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบในระดับนโยบาย และนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของคุณยิ่งลักษณ์
3. ในคดีนี้ประเด็นพิพาท คือ คำสั่งของกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ให้คุณยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 35,717,273,715.23 บาท (ประมาณ 35,717 ล้านบาท) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ วัตถุแห่งคดีที่ต้องพิจารณาคือ "คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559"
ในการพิจารณาออกคำสั่งกระทรวงการคลัง 1351/2559 นั้น ยืนยันว่า คุณยิ่งลักษณ์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 และนาปรัง ปี 2555 แต่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปี 2555/2556 และปี 2556/2557 จะเห็นได้ว่า กระทรวงการคลังไม่ได้นำข้อเท็จจริงกรณีความเสียหายในปี 2554/2555 มาเป็นฐานในการออกคำสั่งกำหนดค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด
แต่ปรากฏว่า ศาลปกครองสูงสุดได้นำกรณีความเสียหายจากการทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G ตามสัญญา 4 ฉบับ ซึ่งเป็นกรณีข้าวปีการผลิต 2554/2555 (โดยข้อเท็จจริงเรื่องทุจริตนี้ปรากฏในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้อยู่ในคำสั่งกระทรวงการคลัง) มากำหนดค่าสินไหมทดแทนในคดีนี้ กรณีจึงเป็นการนำข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ได้เป็นมูลเหตุ (ในวิชากฎหมายปกครอง เราเรียกว่า motif) ในการออกคำสั่ง มาพิจารณาว่า คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (ดูความเห็นแย้งของตุลาการเสียงข้างน้อยได้ในหน้า 170)
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเท็จจริงเรื่องการทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G ก็ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ออกมาภายหลังจากคำสั่งกระทรวงการคลังด้วย
4. ในคดีปกครองในศาลปกครองนี้ เป็นการพิจารณา ความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งกระทรวงการคลัง และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการลงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งใช้ ป.พ.พ.มาตรา 420 และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ในขณะที่การพิจารณาคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นการพิจารณาความผิดทางอาญาตามมาตรา 157 และความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งเป็นคนละเรื่อง คนละประเด็น มาตรวัดทางกฎหมายไม่เหมือนกัน องค์ประกอบความผิดตามกฎหมายไม่เหมือนกัน ระดับความเข้มข้นของความผิดทางละเมิดกับทางอาญาก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่สามารถหยิบเอาประเด็นในคดีอาญามาใช้ประกอบได้
5. การพิจารณาว่า "นายกรัฐมนตรี" เป็น "เจ้าหน้าที่" ใช้อำนาจตามกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาโดยยึดวัตถุประสงค์ของกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ให้กล้าตัดสินใจกระทำการ (ดูได้จากหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ) เป็นสำคัญ
หากศาลพิจารณาโดยใช้เทคนิควิธี "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" ชนิดที่ว่า โยงกันตั้งแต่
[รัฐเสียหาย --- เสียหายจากการทุจริต --- การทุจริตในการระบายข้าวแบบ G to G --- การระบายข้าวแบบ G to G อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีพาณิชย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ --- นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ --- ส.ต.ง. และ ป.ป.ช. ท้วงแล้ว สื่อลงข่าวแล้ว ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายแล้ว ยังไม่หยุด --- เป็นประธาน กขช. แต่กลับไม่เข้าประชุม ]
=
[นายกรัฐมนตรีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริต]
เช่นนี้แล้วล่ะก็ ต่อไป นายกรัฐมนตรีประเทศนี้จะไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้เลย ไม่สามารถนำนโยบายที่รณรงค์หาเสียงมาปฏิบัติได้เลย เพราะ หากมีใครไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ทักท้วงขึ้นมา นายกรัฐมนตรีก็ต้องหยุดทันที และหากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อยากต้องรับผิด ถูกดำเนินคดี วิธีการปลอดภัยที่สุด คือ ไม่คิด ไม่เสนอสิ่งใหม่ ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องเสี่ยงใดๆทั้งสิ้น ปล่อยให้ระบบราชการทำกันไปตามแต่ละวัน นายกรัฐมนตรีก็จะแปลงสภาพกลายเป็น "ปลัดประเทศ" ไปในที่สุด
ต้องไม่ลืมว่า นโยบายดีหรือไม่ดี คุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่า ย่อมมีคนเห็นแตกต่างกัน นโยบายหนึ่ง คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ คนอีกกลุ่มหนึ่งเสียประโยชน์ นโยบายหนึ่ง สอดคล้องกับวิธีคิดทางสำนักเศรษฐศาสตร์ของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่สอดคล้องกับวิธีคิดทางสำนักเศรษฐศาสตร์ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง การประเมินว่าการดำเนินนโยบายนี้ สร้างความเสียหายให้กับรัฐ หรือเสี่ยงต่อการทุจริต ก็มีคนมองได้ต่างกัน
ดังนั้น ต้องปล่อยให้ตัดสินใจกันในทางการเมือง รับผิดชอบกันในทางการเมือง ไม่สมควรให้นักวิชาการบางกลุ่มหรือองค์กรอิสระมาเป็นดัชนีชี้วัดว่านโยบายไหนทำได้หรือทำไม่ได้ มิเช่นนั้นแล้ว ต่อไป เพียงแค่ องค์กรอิสระหรือนักวิชาการทำหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยและสันนิษฐานว่าอาจเกิดทุจริตได้หรือมี สส.ฝ่ายค้านอภิปรายแล้ว ก็เท่ากับว่า รัฐบาลต้องยุติการดำเนินนโยบายทันที สรุปแล้ว ใครเป็นรัฐบาลกันแน่?
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ผมมีความเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น (ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้คุณยิ่งลักษณ์ชดใช้ 30,000 กว่าล้านบาท) และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังบางส่วน และคุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้อีกประมาณ 10,029 ล้านบาท)
ผมเห็นว่า กรณีนี้ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะ ความเสียหายที่จากการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเกิดจากระดับปฏิบัติในชั้นเจ้าหน้าที่ นายกรัฐมนตรีไม่ได้ละเว้นการกระทำ แต่ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบติดตามแล้ว นายกรัฐมนตรีไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปล่อยให้มีการทุจริต และความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ห่างไกลและไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของนายกรัฐมนตรี การนำความเสียหายจากการทุจริตการระบายข้าวแบบ G to G มาใช้เป็นฐานในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน เป็นการนำข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เป็นมูลฐานในการออกคำสั่งของกระทรวงการคลังมาใช้พิจารณา
ข้อสังเกตที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ มีตุลาการศาลปกครองสูงสุด ลงชื่อในคำพิพากษา 5 คน ได้แก่ ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ (ตุลาการเจ้าของสำนวน), พงษ์ศักดิ์ กัมพูสิริ, สมยศ วัฒนภิรมย์, สมภพ ผ่องสว่าง, ฉัตรชัย นิติภักดิ์ (ดูคำพิพากษา หน้า 136) โดยมีตุลาการทำความเห็นแย้งใน 4 ประเด็น
ประเด็นแรก
การกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทน ต้องหักส่วนที่เป็นความผิดของหน่วยงานหรือระบบออกไปก่อน และให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบเฉพาะ ร้อยละ 20 หลังจากหักส่วนความผิดของหน่วยงานไปแล้ว รวมแล้วให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ประมาณ 2,000 ล้านบาท
ตุลาการผู้ลงชื่อในประเด็นนี้ คือ ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ (ดูคำพิพากษา หน้า 137-146)
ประเด็นที่สอง
ยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง คุณยิ่งลักษณ์ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยให้เหตุผลประกอบ ดังนี้
1. คุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะ กรณีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G นั้น เป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบระดับนโยบาย จากคำให้การของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ต่อคณะกรรมการฯ ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีรับรู้เฉพาะในการทำ MOU แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรายละเอียดของสัญญา นอกจากนี้ เมื่อเกิดประเด็นข้อสงสัยเรื่องการทุจริตขึ้นมา นายกรัฐมนตรีก็ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการแล้ว ส่วนกรณี ส.ต.ง.ทักท้วงนั้น เป็นเพียงข้อแนะนำ มิได้มีผลก่อให้เกิดหน้าที่ตามกฎหมายที่ผูกพันให้นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตาม แต่เป็นดุลพินิจนายกรัฐมนตรีที่จะดำเนินการตามความเหมาะสม และนายกรัฐมนตรีก็ได้ส่งหนังสือของ ส.ต.ง. ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการต่อแล้ว ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
2. ในคดีนี้ ไม่สามารถนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดี อม.211/2560 มาใช้ได้ เพราะ ประเด็นของคดีนี้ คือ คำสั่งของกระทรวงการคลังที่ให้คุณยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในขณะที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญา ไม่ได้เป็นฐานในการออกคำสั่งของกระทรวงการคลัง การที่ศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่นอกเหนือจากข้อเท็จจริงในคำสั่งพิพาท จึงไม่น่าจะถูกต้อง
3. นายกรัฐมนตรีไม่สามารถรับทราบและรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ได้ทั้งหมด "การวางหลักให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบทุกเรื่องถึงขั้นอาจจะเป็นปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปในอนาคต"
4. การประเมินว่าเกิดความเสียหายกับรัฐหรือไม่ ไม่อาจใช้ "ขาดทุน" มาประเมินได้ เพราะ โครงการรับจำนำข้าวไม่ใช่โครงการแสวงหากำไร แต่เป็นโครงการช่วยเหลือชาวนา "ถือเป็นโครงการที่รัฐต้องใช้งบประมาณใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการให้บรรลุผลเช่นเดียวกับนโยบายอื่นๆที่รัฐสนับสนุน เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือโครงการคนละครึ่ง หรือโครงการสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น ดังนั้น ปัญหาการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุน จึงมิใช่เหตุผลที่รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตนรีหรือคณะรัฐมนตรีจะนำมาใช้เป็นเหตุในการยกเลิกโครงการ และไม่อาจนำมาอ้างเป็นความเสียหายเพื่อให้รัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรี หรือเจ้าหน้าที่ให้ต้องรับผิดในผลการดำเนินการที่ขาดทุน" ในส่วนของการทุจริตที่เกิดขึ้นนั้น มีการดำเนินคดีทางแพ่งและทางอาญากับเจ้าหน้าที่แล้ว และ "ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ร่วมกระทำทุจริตกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด"
ตุลาการผู้ลงชื่อในประเด็นนี้ ได้แก่ สมชัย วัฒนการุณ, มานิตย์ วงษ์เสรี, สมยศ วัฒนภิรมย์ (ดูคำพิพากษา หน้า 147-171)
ประเด็นที่สาม
การกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทน ไม่สามารถนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาใช้ประกอบการพิจารณาในคดีนี้ได้ / ต้องหักส่วนความผิดของหน่วยงานและระบบออกไปด้วยร้อยละ 50 / โครงการระบายข้าว G to G เกิดจากการปฏิบัติในระดับเจ้าหน้าที่ นายกรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในระดับนโยบาย ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติการ จึงให้รับผิดร้อยละ 5 คิดเป็นค่าสินไหมทดแทนประมาณ 500 ล้านบาท) / หากเอกชนผู้ทุจริต ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ความเสียหายของโครงการระบายข้าว G to G แล้ว ก็ให้หักส่วนนี้ออกจากส่วนที่คุณยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้ด้วย
ตุลาการผู้ลงชื่อในประเด็นนี้ ได้แก่ สมชัย วัฒนการุณ, อนุวัฒน์ ธาราแสวง, สมยศ วัฒนภิรมย์ (ดูคำพิพากษา หน้า 172-177)
ประเด็นที่สี่
ยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง คุณยิ่งลักษณ์ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยให้เหตุผลประกอบ ดังนี้
1. การดำเนินการโครงการจำนำข้าว ทำโดยรูปแบบองค์กรกลุ่ม คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ไม่อาจเป็นความรับผิดของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว
2. คณะกรรมการกำหนดค่าเสียหายของกระทรวงการคลัง เป็นผลสืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีจากการยึดอำนาจ ดังนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและผู้ลงนามออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ "จำเป็นที่จะต้องพิจารณาและใช้ดุลพินิจวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยไม่ต้องพิจารณาหรือคำนึงถึงความยุติธรรมหรือคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางการเมืองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทรืโอชา ได้กำหนดสั่งการและคาดโทษไว้ในที่ประชุมของคณะกรรมการ กบข.ครั้งที่ 3/2558 ดังกล่าว" (ดูส่วนนี้ในหน้า 190,191)
3. ประเด็นในคดีอาญา ไม่อาจนำมาใช้ในคดีนี้ได้
ตุลาการผู้ลงชื่อในประเด็นนี้ ได้แก่ สมฤทธิ์ ไชยวงศ์ (ดูคำพิพากษา หน้า 178-195)
อนึ่ง เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาและความเห็นแย้ง พิจารณาจากรายชื่อตุลาการที่ลงชื่อในคำพิพากษาจำนวน 5 คน พิจารณาจากรายชื่อตุลาการที่ลงชื่อในความเห็นแย้งแล้ว เราไม่อาจทราบได้ว่าองค์คณะ 5 คน (ตามรายชื่อปรากฏท้ายคำพิพากษา หน้า 136) แต่ละคนลงมติกันอย่างไร ในแต่ละประเด็น มีมติด้วยเสียงเท่าไร ใครเป็นเสียงข้างมาก ใครเป็นเสียงข้างน้อย และเราไม่อาจทราบได้ว่า มีประเด็นใดบ้างที่ส่งให้ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ฯ มีกี่คน ใครบ้าง และในแต่ละประเด็น มีมติด้วยเสียงเท่าไร ใครเป็นเสียงข้างมาก ใครเป็นเสียงข้างน้อย (เราทราบแต่เพียงมีตุลาการที่เป็นเสียงข้างน้อยในบางประเด็น ได้ลงชื่อไว้ในความเห็นแย้ง)
เนื่องจากคดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง สัมพันธ์กับการเมือง เป็นคำพิพากษาที่กลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น และมีความเห็นแย้งของตุลาการเสียงข้างน้อยในหลายประเด็น ผมจึงมีความเห็นว่า เพื่อความโปร่งใสและประโยชน์ทางวิชาการ เพื่อให้สาธารณชนได้ตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลปกครองผ่านการพิจารณาการให้เหตุผลประกอบคำพิพากษาได้ ศาลปกครองสูงสุดควรเปิดเผยข้อมูล ดังต่อไปนี้
1. การพิจารณาในองค์คณะ ต้องวินิจฉัยและลงมติในประเด็นใดบ้าง
2. ตุลาการในองค์คณะ ลงมติในแต่ละประเด็นด้วยเสียงเท่าไร ใครเป็นเสียงข้างมาก ใครเป็นเสียงข้างน้อย
3. มีประเด็นใดบ้างที่ให้ที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด
4. องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดที่ชี้ขาดในแต่ละประเด็น มีจำนวนเท่าไร ในแต่ละประเด็นมีการลงมติด้วยคะแนนเสียงเท่าไร ใครเป็นเสียงข้างมาก ใครเป็นเสียงข้างน้อย
ตั้งแต่ผมยังปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับผิดชอบบรรยายกฎหมายปกครองและความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อเนื่องทุกปี ผมยืนยันมาโดยตลอดว่า กรณีความเสียหายจากการทุจริตโครงการจำนำข้าว ไม่สามารถนำกฎหมายความรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ มาบังคับใช้ สั่งให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ผมได้แสดงความเห็นมาโดยตลอด ทั้งผ่านทางข้อเขียน เฟสบุ๊ค และแสดงความเห็นในที่สาธารณะ
จนกระทั่ง ผมได้ลาออกจากอาจารย์ประจำ มาตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้เป็น สส. จนถูกยุบพรรคและถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี หากมีโอกาส ก็แสดงความเห็นเช่นนี้มาเสมอ
จนมาถึงวันนี้ วันที่ผมไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองใดๆ และมีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ในประเด็นสำคัญหลายเรื่อง แต่ผมก็ยังคงยืนยันความเห็นทางกฎหมายในกรณีนี้แบบเดิม
จึงขอยืนยันใช้เสรีภาพในทางความคิดและทางวิชาการ แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
Advertisement