วันที่ 3 พ.ค. 68 นาย ไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก “Paisal Puechmongkol” ระบุว่า “เรื่องคดีชั้น 14 นอกจากยังไม่จบแล้วยังบานเป็นกระด้ง”
“จากคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง ที่ว่าศาลมีอำนาจไต่สวนเรื่องกรณีชั้น 14 ได้เอง แม้ว่าจะไม่รับคำร้องของนายชาญชัยแล้วก็ตาม และสั่งว่า ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งได้ตามที่อันสมควรนั้น ทำให้เรื่องนี้ยังไม่จบลงตามที่นักกฎหมายมหาชนบางคน พยายามสร้างความไขว้เขวอยู่ในขณะนี้”
“นอกจากเรื่องนี้ยังไม่จบแล้วยังบานปลายเป็นกระด้ง เพราะยังมีความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะคือ 1. ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องโดยตรง คืออัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องคดี มีหน้าที่ต้องร้องต่อศาลให้ทำการไต่สวน เมื่อทราบว่ามีกรณีไม่ปฏิบัติตามหมายจำคุกของศาล แต่ทั้งอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. เพิกเฉยละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่จนนายชาญชัยต้องไปร้องต่อศาล จึงมีปัญหาว่า จะต้องรับผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่กระบวนการยุติธรรมหรือแก่รัฐหรือไม่ ถ้ารับผิดก็มีโทษจำคุก 10 ปี”
“2.อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง กับการปฏิบัติตามหมายจำคุกของศาล ที่ไม่ปฏิบัติตามหมายจำคุกของศาล เช่น แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บัญชาการเรือนจำ ที่ปล่อยตัวจำเลยออกไปโรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อศาล และโดยที่ไม่มีหมายปล่อยของศาล เป็นการใช้อำนาจหน้าที่หรือละเว้นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบหรือโดยทุจริต ตามกฎหมายอาญามาตรา 151และ 157 หรือไม่ ถ้ามีความผิดก็ถูกจำคุก 20 ปีหรือตลอดชีวิต”
“3.ผู้อำนวยการใหญ่โรงพยาบาลตำรวจรองผู้อำนวยการใหญ่ และแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง ที่รับตัวนักโทษไว้ โดยไม่ได้ป่วยจริง และปกปิดความจริง เพื่อช่วยเหลือนักโทษ ว่าจะมีความผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบหรือโดยทุจริตหรือไม่ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 157 และ 151 มีโทษจำคุก 20 ปีหรือตลอดชีวิต”
“4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งการหรือจัดการ เพื่อไม่ให้จำเลยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาหรือไม่ และถ้ามีความผิด ก็อาจมีโทษจำคุกถึง 20 ปีหรือตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน ดังนั้นผลการไต่สวนของศาลฎีกาในเรื่องนี้ จึงบานเป็นกระด้งและข้อสำคัญ จะมีผลในการฟื้นฟูและพิทักษ์ความยุติธรรม และอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของศาล ให้เป็นที่ยำเกรงของคนทั้งหลายสืบไป หลังจากที่ถูกดูหมิ่นย่ำยี หรือขาดความเชื่อถือมาระยะหนึ่งแล้ว”
Advertisement