แม่ “พลอย”- แม่ “แอ๋ม” ฉะพวกค้านประหาร ชี้ญาติตายจะรู้สึก - นักสิทธิฯ เชื่อฆาตรกรกลับใจ (คลิป)

22 มิ.ย. 61
กรณีกรมราชทัณฑ์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 61 เกี่ยวกับการประหารชีวิตนักโทษชายเด็ดขาดธีรศักดิ์ หลงจิ ก่อเหตุฆาตกรรมชิงทรัพย์ในพื้นที่ จ.ตรัง เมื่อปี 2555 ทำให้สังคมเกิดการถกเถียงเกี่ยวกับการตัดสินโทษประหารชีวิตในประเทศไทยกันอย่างเป็นกว้างขวางว่าสมควรจะให้มีโทษดังกล่าวต่อไปหรือไม่ วันที่ 21 มิ.ย. 61 ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน เปิดเผยความคิดเห็นส่วนตัวว่า ตนขอยืนเคียงข้างและสนับสนุนให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต เนื่องจากการประหารชีวิตเป็นกระบวนการสุดท้ายของปลายน้ำ ซึ่งระหว่างทางที่มีการดำเนินคดีก็ยังมีการเยียวยาผู้สูญเสียจากเหตุอาชญากรรม หากเรียกร้องการประหารชีวิตเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากต้องย้อนมองถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับการศึกษาของหลายฉบับ มีผลลักษณะเดียวกัน คือ อาชญากรรม กับโทษประหาร ระดับของการเพิ่มขึ้นของการก่อเหตุไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน
ดร.เอกพันธุ์ บอกว่า การมีโทษสุงสุดของกฎหมายไทย คือ การประหารชีวิตแต่ก็ไม่จำเป็นต้องลงโทษสูงสุด ควรได้รับความผิดตามฐานความผิดของตัวเอง หรือไม่ก็จำคุกตลอดชีวิต เผื่อวันหนึ่ง นักโทษรายดังกล่าวกลับตัวกลับใจอาจได้รับลดหย่อนโทษ ส่วนคำว่า “ชีวิตแลกชีวิต” ในฐานะคนที่กระทำผิดเจตนาฆ่าคนตาย  ดร.เอกพันธุ์ มองว่า ความยุติธรรมกับคำว่าแก้แค้น ไม่เหมือนกัน หากพูดว่าชีวิตแลกชีวิต คล้ายกับว่าแค้นนี้ต้องชำระ ตนมองว่าไม่ต่างจากการเอาชีวิตคนหนึ่งไป แล้วต้องเอาอีกหนึ่งชีวิตตายตามกันไป แต่ต้องเข้าใจว่าชีวิตแลกชีวิต ไม่ใช่เป็นการแลกชีวิตกัน เพราะคนที่ทำผิดถูกประหารชีวิต แต่คนที่เป็นเหยื่อไม่สามารถฟื้นคืนมาได้ และการแลกชีวิตกันเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะจะเป็นการเพิ่มจำนวนคนตาย เพิ่มจำนวนคนสูญเสียมากขึ้น ทั้งนี้ ดร.เอกพันธุ์ เสนอทางออกและแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องโทษประหารว่า ภายใต้กฏหมายสามารถสร้างความเข้าใจ เปิดรับฟังความเห็นและสอบถามข้อเท็จจริงว่า สังคมไทยต้องการการลงโทษแบบใดควรมีหรือไม่ควรมี เพราะประเทศไทยเคยร่วมทำสัญญากับเวทีนานาชาติไว้ค่อนข้างมาก และเหมือนกับประเทศไทยกำลังผิดสัญญา อีกทั้งโทษสูงสุดควรเปลี่ยนเป็นเพียงจำคุกตลอดชีวิต เพื่อเป็นการให้โอกาสสำหรับคนที่คิดผิด หลงกระทำผิด เผื่อในอนาคตคนเหล่านั้นยังสามารถกลับมาเป็นคนดีในสังคมได้ แต่เชื่อว่าคงยังไม่มีข้อสรุปโดยเร็วนี้แน่นอน เพราะยังต้องใช้เวลาในการศึกษา และวางสมดุลที่เหมาะสม ด้าน นางพัชรี ปั้นทอง แม่ของ น.ส.พลอยนรินทร์ ผลิผล หรือ น้องพลอย ซึ่งลูกสาวต้องเสียชีวิตจากการถูกนายพลกฤต วิเศษ หรือ เอส อดีตทหารสังกัดศูนย์การทหารปืนใหญ่ลพบุรี ก่อเหตุอุ้มฆ่าเผานั่งยาง และนำศพไปอำพรางในพื้นที่แก่งคอย จ.สระบุรี เมื่อเกือน พ.ค. 57 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้แล้วนั้น โดยนางพัชรีเปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดเรื่องจนถึงวันนี้ แม้ระยะเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ตนยังทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกสาวไม่ได้ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนไม่ได้เตรียมตัวและเตรียมใจว่าลูกสาวจะเสียชีวิต ซึ่งตนไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้น ส่วนในเรื่องของคดี วันที่ 5 ก.ค.61 ศาลจังหวัดสระบุรี ได้นัดฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ส่วนตัวยอมรับว่าเครียด เนื่องจากไม่ทราบว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร แต่ตนอยากได้รับความยุติธรรมเป็นอย่างมาก
รูปหน้าศพของ น.ส.พลอยนรินทร์ ผลิผล หรือ พลอย
ส่วนที่กรมราชทัณฑ์ มีมาตราการลงโทษสูงสุดโดยการประหารชีวิต นางพัชรีบอกว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับมาตราการนี้ และอยากให้มีการประหารชีวิตคนทำผิด ซึ่งการที่ตนสนับสนุนไม่ได้เป็นเพราะความแค้น แต่โทษประหารเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย ดังนั้นต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ตามไปด้วย ตนมองว่าคนที่ฆ่าคนอื่นถือเป็นการทำลายหนึ่งชีวิต และทิ้งให้ครอบครัวที่สูญเสียอยู่ข้างหลังต้องคิดถึง และอยู่ในอาการความเศร้าอยู่แบบนั้น ดังนั้น คนที่ฆ่าคนอื่นต้องได้รับโทษตามไปด้วย แต่ถ้าไม่มีการประหาร เพียงแค่ติดคุกตลอดชีวิต วันหนึ่งต้องได้รับการอภัยโทษออกมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม กลับกันครอบครัวที่สูญเสีย เช่น กรณีน้องพลอย ตนเองจะกลับไปเจอลูกได้อีกหรือไม่ ส่วนครอบครัวคนที่ทำร้ายคนอื่น ต้องได้รับรู้ความรู้สึกของความสูญเสีย เพราะตอนนี้ตนยังไม่เคยได้รับการติดต่อ หรือจะมีการเยียวยาใดๆ กับทางครอบครัว อีกทั้งช่วงที่ตนออกค้นหาน้อง ก็ไม่เคยมีใครเข้ามาช่วย นอกจากอีกฝ่ายที่ทำเพียงทำอย่างไรให้ตีวเองรอดพ้นจากการถูกจับกุม
นางพัชรี ปั้นทอง แม่ของน้องพลอย
ส่วนกรณีที่มีกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านโทษประหารชีวิต นางพัชรีบอกว่า คนเหล่านั้นอาจยังไม่เคยรับรู้ถึงความสูญเสียในชีวิต และส่วนตัวอยากถามกลับไปว่า สมมติว่าครอบครัวเขาเกิดการสูญเสียบ้าง จะออกมาเรียกร้องแบบนี้หรือไม่ พร้อมตั้งคำถามกลับไปว่า หากมองว่าโทษประหารชีวิตรุนแรง แล้วอะไรที่จะเป็นบทลงโทษสำหรับคนที่ฆ่าคนตาย หรือจะบอกว่าเพียงจำคุกตลอดชีวิต พอถึงวันหนึ่งอายุมากขึ้น เรือนจำไม่เก็บคนพวกนั้นเป็นภาระ เพราะผลสุดท้ายก็ต้องปล่อยตัวออกมา
นางพัชรี ปั้นทอง ออกรายการต่างคน ต่างคิด
นอกจากนี้ นางพัชรี ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการต่างคนต่างคิดวันนี้ด้วยว่า กลุ่มรณรงค์ให้เลิกโทษประหาร แม้จะปิดหน้าออกมาถือป้ายเรียกร้อง แต่ควรจะเปิดใจ ให้เข้าใจความรู้สึกของคนสูญเสียจริง ๆ เช่น กรณีเสือดำที่คนจำนวนมากเรียกร้องชีวิตให้สัตว์ แต่ชีวิตคนที่สูญเสียไป ก็ควรจะได้เรียกร้องให้มีความยุติธรรม ที่ผ่านมา อาชญากรก่อเหตุกับลูกตนแล้วหนี ไม่มีการเยียวยา ไม่มีแม้คำขอโทษหรือการสำนึกผิด ก็ควรจะต้องได้รับโทษประหาร
นางพิชชาภา คำเพิงใจ (แม่ )และ นายสุชาติ คำเพิงใจ (พ่อเลี้ยง) ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว
ขณะเดียวกัน นางพิชชาภา คำเพิงใจ แม่ของ น.ส.วริศรา กลิ่นจุ้ย หรือ แอ๋ม ผู้เสียชีวิตถูกกลุ่มน.ส.เปรี้ยว ฆ่าหั่นศพฝังดินใน อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ตนไม่คิดว่าจะมีโทษประหารเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก แต่เมื่อล่าสุดได้ทราบว่ามีโทษประหารชีวิตเกิดขึ้นอีก ตนเห็นว่าคนทำผิดก็สมควรได้รับโทษสูงสุดตามที่เขาก่อ ยอมรับว่าส่วนตัวแล้ว คดีน้องแอ๋มก็อยากให้ถึงขั้นนั้น ครอบครัวหวังไว้สูงสุดคือโทษประหาร ตนก็ยังมีหวังว่าคนที่ทำกับน้องแอ๋มเขาควรจะได้รับโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตเช่นกัน แต่ตอนนี้เขาได้โทษจำคุก ซึ่งก็ยังมีวันที่ได้ออกมา  ตอนนี้ตนได้คุยกับครอบครัวแล้วว่าเรายังมีหวัง จึงตัดสินใจจะสู้ต่อ เพื่อทวงความยุติธรรมให้แอ๋ม ให้ผู้ก่อเหตุได้รับโทษถึงขั้นประหาร นางพิชชาภา กล่าวว่า เขาทำผิดแล้วเขาก็ควรได้รับโทษตามความผิดของเขาทำ คือต้องชดใช้ด้วยชีวิตอยู่แล้ว ไม่มีอะไรทดแทนได้ นอกจากชีวิตต่อชีวิต ถ้าเขาเป็นคนที่สูญเสีย ครอบครัวของคนกระทำก็ต้องเข้าใจว่าครอบครัวคนที่ถูกกระทำเขารู้สึกอย่างไร ความสูญเสียของเขามันกลับคืนมาไม่ได้ แล้วคนที่ต้องชดใช้ก็ต้องชดใช้ให้สาสมกับความผิดที่เขาได้ทำก็ถูกต้องแล้ว
น.ส.วริศรา กลิ่นจุ้ย หรือ แอ๋ม ผู้เสียชีวิต
เมื่อมองคดีประหารกับคดีที่เปรี้ยวก่อขึ้น นางพิชชาภากล่าวว่า ความผิดที่เกิดขึ้นถึงขั้นประหารชีวิตได้เลย เพราะเกินที่จะรับได้กับสิ่งที่ทำกับลูกตนขนาดนี้ แค่ตายอย่างเดียวก็ทรมานจิตใจตนที่สุดแล้ว เขาโหดเกินกว่าที่จะชดใช้กรรมแค่ในคุก คือต้องชดใช้ด้วยชีวิตด้วยกัน จึงจะสมกับที่เขาทำกับลูกตน ส่วนสภาพจิตใจของตัวเองตอนนี้ ถือว่ามีสติมากขึ้นโดยไม่ฟุ้งซ่านเกินไป แต่ความโศกเศร้าที่สูญเสียลูกสาวไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่กับเรา เรายังมีหวังว่าเรายังอยู่เพื่อลูก คนรอบข้างให้กำลังใจว่าอย่าไปทุกข์กับความสูญเสีย แต่สิ่งที่กฎหมายตัดสินกับคนที่กระทำต่อลูกตนนั้น ตนเคารพ แต่ในใจหวังว่าน่าจะถึงที่สุดมากกว่านี้ สำหรับความคืบหน้าคดีตอนนี้ ครอบครัวได้บทสรุปว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อ แม้ในใจจะอโหสิกรรม แต่ในทางกฎหมายตนขอเดินหน้าต่อให้ไปถึงโทษสูงสุดคือประหารชีวิต เพราะตอนนี้ครอบครัวมีหวังว่าโทษจะถึงขั้นประหารชีวิต จึงขอสู้ต่อไป
สมศรี หาญอนันทสุข อดีตประธานองค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ฯ
ด้าน นางสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มูลนิธิเพื่อนหญิง และอดีตประธานองค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ตนไม่อยากเรียกการเคลื่อนไหวของแอมเนสตี้ว่าเป็นการต่อต้านโทษประหาร เพราะเป็นเพียงการเสนอทางเลือกใหม่คือการลงโทษที่ไม่ต้องปลิดชีวิตผู้คนมากกว่า โดยแอมเนสตี้เองก็พยายามที่จะดำเนินการไม่ให้มีเหยื่ออาชญากรรมเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ด้วยการเสนอให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้คนหันมาศรัทธากระบวนการยุติธรรมมากขึ้น เพราะหากกระบวนการยุติธรรมไม่เข้มแข็ง คนก็จะหันมามองทางเลือกของการประหารชีวิต คือการกำจัดนักโทษออกไป ซึ่งตนไม่มองคำว่า “กำจัด” แต่อยากให้เป็นการ “จำกัด” คนที่ทำผิดให้อยู่ในเรือนจำหรือในที่ ๆ เหมาะสมมากกว่า
กลุ่มแอมเนสตี้ ถือป้ายคัดค้านโทษประหาร
ตนมองว่านอกจากโทษประหารชีวิตแล้ว เรายังมีทางเลือกอื่น ได้แก่ โทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเป็นทางออกที่หลายประเทศทำกัน ซึ่งหากมีการตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแล้ว ก็ต้องให้จำคุกตลอดชีวิตจริง เว้นแต่ว่ามีพฤติกรรมดีขึ้นแล้ว และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้จึงลดโทษ โดยไม่ควรลดโทษตามวันหรือเทศกาลต่าง ๆ ทั้งนี้ นางสมศรี เผยอีกว่า การที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโทษประหารชีวิต ไม่ได้เป็นการสนับสนุนผู้ต้องหา แต่กลับสนับสนุนให้มีการจับกุม และไม่มีการลอยนวล ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยยังมีความหละหลวมทางกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะทำให้การตัดสินโทษมีความเหมาะสม โดยจากการตัดสินครั้งล่าสุด ตนยังมีข้อสงสัยว่าผู้ถูกประหารชีวิตคือผู้กระทำผิดจริงหรือไม่ เนื่องจากแม่ของผู้ถูกประหารยังกล่าวว่าผู้ก่อเหตุมี 2 คน และหากมี 2 คนจริง ตนก็ยังสงสัยว่าใครที่เป็นคนลงมือฆาตกรรมกันแน่ และอะไรเป็นแรงจูงใจในการก่อเหตุ เมื่อถามว่าหากนักโทษได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนอื่นไปแล้ว จะยังควรได้รับสิทธิมนุษยชนอยู่หรือไม่ คุณสมศรี ตอบว่า เรื่องนี้เป็นคุณธรรมซ้อนคุณธรรม โดยตนเชื่อว่าผู้ที่เรียกร้องให้มีการประหารชีวิตก็รักความเป็นธรรม เพียงแต่เรามีวิธีแตกต่างกันในเรื่องการลงโทษ จะทำอย่างไรที่ทำให้กระบวนการลงโทษไม่ต้องมีคนที่จะต้องเป็นผู้ลงมือฆาตกรรมคนอื่นอีก ซึ่งตนมองว่าการที่เพชฌฆาตประหารนักโทษก็เป็นอาชกรรมอย่างหนึ่ง เพียงแต่เป็นอาชญากรรมที่ถูกกฎหมาย
สมศรี หาญอนันทสุข อดีตประธานองค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ฯ
สำหรับกรณีที่มีบางกลุ่มมองว่าแอมเนสตี้ละเมิดอำนาจศาล ตนมองว่ากฎหมายและรัฐธรรมนูญไทยสามารถแก้ไขได้ จึงวิงวอนอยากให้แก้ไข เพราะทุกวันนี้สังคมมีแต่ความรุนแรงสะสม ส่วนฝ่ายครอบครัวผู้เสียชีวิต ตนก็เห็นใจและอยากเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตเช่นกัน ส่วนคำถามที่ผู้เห็นต่างมักจะถามว่า หากครอบครัวตัวเองถูกฆาตกรรม จะยังคัดค้านการประหารชีวิตอยู่หรือไม่ นางสมศรีตอบว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้น ตนคงใจสลาย แต่การประหารชีวิตก็ไม่ได้ทำให้ครอบครัวฟื้นขึ้นมา แล้วทำไมจึงไม่หาวิธีลงโทษด้วยวิธีอื่นโดยที่เราไม่ได้ไปก่อกรรมทำเข็ญกับใคร แต่ตนยืนยันอยากให้มีการลงโทษอย่างจริงจัง ไม่ใช่เข้าไปเพียง 2-3 ปีแล้วกลับมาก่อเหตุ ทั้งนี้ ตนเสนอให้มีการประเมินนักโทษก่อนที่จะปล่อยออกมาและมีการติดตามผล รวมถึงการตัดสินโทษต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ แต่ในการลงโทษนั้นจะต้องไม่มีการประหารชีวิต ทั้งนี้สิทธิในการมีชีวิตของนักโทษมีควาสำคัญ เพราะทุกชีวิตสำคัญหมด คนเราไม่ได้เป็นอาชญากรโดยกำเนิด สำหรับแคมเปญที่มีคนรวบรวมรายชื่อไม่เอาแอมเนสตี้ ตนมองว่าก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ แต่สักวันหนึ่งกลุ่มคนเหล่านั้นจะเข้าใจ เพราะเราไม่ได้ช่วยให้คนกระทำผิดหลุดรอด ตรงกันข้าม เราเรียกร้องให้มีการจับกุมตัวผู้กระทำผิดด้วยซ้ำ ซึ่งปลายทางของแอมเนสตี้ต้องการให้สังคมอยู่อย่างสันติ ไม่อยากให้มีการล้างแค้นหรือใช้ความรุนแรงต่อกัน โดยรัฐก็ต้องดูแลชุมชน และชุมชนต้องดูแลซึ่งกันและกัน โดยทุกฝ่ายต้องมีจิตสำนึกและไม่ไปละเมิดผู้อื่น

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ