ย้อนรอยคดีพักบ้านหลวง ก่อนศาลรธน.ชี้ชะตา "บิ๊กตู่" พ้นเก้าอี้นายกฯ หรือไม่

2 ธ.ค. 63

ย้อนรอยคดี "บิ๊กตู่" พักบ้านหลวงในกรมทหาร แม้เกษียณไปแล้ว 6 ปี ก่อนศาลรธน.ชี้ชะตาวันนี้ (2 ธ.ค.) พ้นเก้าอี้นายกฯ หรือไม่ 

วันนี้(2 ธ.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม พักอยู่บ้านหลวง ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถ.วิภาวดีรังสิต แม้เกษียณอายุราชการมาแล้ว 6 ปี หลังคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อช่วงก.พ. ที่ผ่านมา แม้สภาจะลงมติไว้วางใจ แต่ฝ่ายค้านก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจฟ้องร้องต่อนอกสภา

55644670_568413046998702_1992

เส้นทางคดี "พักบ้านหลวง"

25-27 ก.พ. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เปิดประเด็นกล่าวหา พล.อ. ประยุทธ์ ว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ม.184 ว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ เนื่องจากยังพักในบ้านพักทหารโดยไม่จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งที่เกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไปตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557 ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ในลักษณะที่ร้ายแรง อีกทั้งพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท 

9 มี.ค. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน พร้อม ส.ส.ฝ่ายค้านรวม 56 คน ได้เข้าชื่อกันยื่นคำร้องผ่านประธานสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) ที่กำหนดว่า  "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรี ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ"  หรือไม่ จากกรณีพักบ้านหลวง

11 มิ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือแจ้งคู่ความว่ามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาล

4 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ศาลได้ประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า "คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน" และกำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันที่ 2 ธ.ค. เวลา 15.00 น.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
3 เหล่าทัพนัดถกวาระ 'บ้านหลวง' เล็งยึดตามระเบียบเดิม ทหารเกษียณแล้วต้องออก
ตร.คุมเข้มรอบศาล รธน.นัดชี้ชะตาบิ๊กตู่ วางกำลังผลัดละ 3 กองร้อย ตลอด 24 ชม.
ศาล รธน.สั่งห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้อง เข้าฟังคำตัดสินคดีบ้านพักหลวงของ “พล.อ.ประยุทธ์”

ทั้งนี้ข้อมูลจาก ไอลอว์ พบว่า การจะอาศัยอยู่บ้านหลวงต่อแม้ว่าได้ออกจากราชการกองทัพไปแล้วสามารถกระทำได้ภายใต้ "ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ปี 2548" ซึ่งกำหนดให้ อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติและเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้วมีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ที่ผ่านมา

ซึ่งกองทัพบก (ทบ.) ได้ส่งเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวให้ พล.อ. ประยุทธ์ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ 1.ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง ปี 2548 และ2.ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคารบ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก ปี 2553

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในขณะนั้น อ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็น เป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศ และเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทบ. ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและ ทบ. หากพักอยู่นอกเขตทหารจะทำให้เกิดความยากลำบากในการรักษาความปลอดภัย จึงอนุมัติให้เข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองของ ทบ. รวมถึงให้การรักษาความปลอดภัย และการสนับสนุนอื่น ๆ ในฐานะบุคคลสำคัญของประเทศ

119962937_1015008505631622_42

ทั้งนี้หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ และครม.ยกคณะต้องพ้นตำแหน่งทันที โดยจะอยู่ทำหน้าที่ รัฐบาลรักษาการระหว่างรอรัฐบาลชุดใหม่ 

จากนั้นรัฐสภาต้องร่วมกันลงมติเลือกนายกฯ คนที่ 30 จากแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เหลืออยู่ ซึ่ง ส.ว. 250 คน ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ จากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้ ให้ใช้การลงมติของ ส.ส. + ส.ว. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา เปิดทางให้มีการเสนอชื่อ "นายกฯ คนนอก" หรือ การเสนอให้ใครก็ได้มาดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ได้

ทั้งนี้ ในวันนี้ (2 ธ.ค.) กลุ่มราษฎรได้มีการนัดชุมนุม บริเวณ 5 แยกลาดพร้าว เพื่อติดตามผลคำตัดสินในคดีนี้ของศาลด้วย 

 

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม