พรานป่ายังอึ้ง เชื่อมืออาชีพแล่หนังเสือดำ เปิดความลับ ไม่กลัวคน จนต้องถึงจุดจบ (คลิป)

10 ก.พ. 61
ความคืบหน้าคดี นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) พร้อมพวกอีก 3 คน ที่ถูกจับข้อหาล่าสัตว์ที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งพบของกลางเป็นซากเสือดำ ไก่ฟ้าหลังเทา และอาวุธปืน ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเป็นแขกของผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่านั้น
น.ส.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
ล่าสุด วันนี้ (9 ก.พ.) หลังจากที่ น.ส.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสร็จสิ้น ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่ได้เป็นผู้อนุญาตให้นายเปรมชัย กรรณสูต และพวกอีก 3 คน เข้าไปในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก เพราะหลังจากที่ นายนพดล พฤกษะวัน อดีตข้าราชการ กรมอุทยานฯ ที่ปรึกษาบริษัทอิตาเลียนไทย โทรศัพท์มา ตนแค่แนะนำขั้นตอนให้ประสานกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อขอเข้าพื้นที่ เนื่องจากตนไม่มีอำนาจหน้าที่ นอกจากนี้ น.ส.กาญจนา ยืนยันว่า ไม่รู้จักกับ นายนพดล และ นายเปรมชัย เป็นการส่วนตัว รวมถึง นายวิเชียร ที่เป็นหัวหน้าชุดจับกุม รู้จักเพียงว่าเป็นรุ่นน้องเท่านั้นไม่สนิทสนม พร้อมยอมรับว่า รู้สึกท้อแท้กับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะไม่คิดว่าการที่เป็นคนแนะนำเรื่องการประสานงาน จนนำไปสู่การลักลอบล่าสัตว์ป่า จนทำให้เกิดเหตุสลดใจขึ้น และตนเองไม่คิดว่า ยังมีคนประเภทนี้อยู่ในสังคม และยังถูกสังคมมองว่า ตนเองเป็นผู้ให้การสนับสนุน
นางสุดาวรรณ อรุณศรีสุวรรณ ชาวบ้านจะแก ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว
สำหรับคนในพื้นที่อย่าง นางสุดาวรรณ อรุณศรีสุวรรณ เปิดเผยว่า ตนเป็นคนหมู่บ้านจะแก ที่มาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านคลิตี้ ชาวบ้านที่นี่จะเคารพศาลฤาษี และ ศาลพระนเรศวร ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มักจะขอพรให้ตนเดินทางโดยสวัสดิภาพ แต่มักจะไม่ขอพรต่อสิ่งศักสิทธิ์ให้ล่าสัตว์ป่าได้ ตนเคยเห็นเสือในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งเสือโคร่งและเสือดำ แต่พวกเสือจะไม่ค่อยกลัวคน และคิดว่าคนที่ล่าสัตว์ ไปได้ก็เป็นเพราะเสือพวกนี้ ไม่ได้หลบคน ทั้งนี้ในป่ามีสัตว์ค่อนข้างเยอะ เวลาที่ตนเดินทางกลับไปหมู่บ้านจะแก ก็จะพบทั้งเสือ ไก่ฟ้า และเก้ง อยู่เป็นประจำ
นางสุดาวรรณ อรุณศรีสุวรรณ ชาวบ้านจะแก ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว
นางสุดาวรรณ บอกว่า นานครั้งจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปในป่า และส่วนใหญ่จะพกพาเสบียงอาหารไปกินเอง และหากต้องการไปเคารพศาลพระฤาษี ก็ต้องเตรียมธูปเทียน และน้ำผลไม้เข้าไปเคารพขอพร ส่วนศาลนเรศวรมักจะเห็นเจ้าหน้าที่นำไก่ และเหล้าไปทำพิธีไหว้ศาลปีละครั้ง ทั้งนี้หากคนในหมู่บ้านคลิตี้ต้องการเข้าไปในหมู่บ้านจะแก ไม่ต้องทำหนังสือขออนุญาตเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า เข้าไปทำอะไร หรือไปจุดไหน หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่า ไปไม่ถึงจุดที่แจ้งไว้ ก็จะทำการเข้าไปตรวจสอบ โดยหากเข้าไปในเขตทุ่งใหญ่แล้วจะไม่สามารถแวะพักตามทางได้ นักท่องเที่ยวทุกคนต้องพักในจุดที่เจ้าหน้าที่กำหนดเท่านั้น อย่างกรณีนายเปรมชัย ที่พักระหว่างทางจึงถือว่ามีความผิด
นางมาลัย ทองผาภูมิดิลก ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว
นอกจากนี้ทีมข่าวยังได้พูดคุยกับ นางมาลัย ทองผาภูมิดิลก ได้เปิดเผยกับทีมข่าวว่า ในป่าทุ่งเขาใหญ่นเรศวร มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่สองจุด ที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย คนส่วนมากมักจะขอให้อยู่ดีกินดี นางมาลัย ยังเล่าต่อว่า บางครั้งนักท่องเที่ยวที่ผ่านมา แล้วไม่ได้ไหว้สิ่งศักสิทธิ์ ตนเคยเห็นว่าบางคนรถเสีย ทำให้เดินทางไปไม่ถึงจุดหมายก็มีให้เห็นค่อนข้างบ่อย สำหรับการล่าสัตว์นั้น ชาวบ้านเลิกล่าสัตว์ไปนานแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่ค่อนข้างเข้มงวด ส่วนตนเคยเห็นเสือซึ่งค่อนข้างมีเยอะ แต่คนในพื้นที่มักจะไม่ล่าสัตว์ใหญ่ เนื่องจากกลัวโดนสัตว์ทำร้าย
นางมาลัย ทองผาภูมิดิลก ชาวบ้านคลิตี้ ให้ข้อมูลกับผู็สื่อข่าว
กรณีที่มีข่าวออกมาว่ากลุ่มของนายเปรมชัย หลงป่านั้น ตนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเส้นทางที่นายเปรมชัย ไปจะมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำตามจุดต่างๆ ค่อนข้างเยอะ ส่วนที่มีชาวบ้านพูดกันว่า เจ้าหน้าที่ไปจับกุมกลุ่มคนเหล่านี้ได้ เป็นเพราะไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ตนคิดว่าเป็นไปได้ เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามาเพื่อล่าสัตว์ในลักษณะแบบนี้
นายไพบูลย์ พิมพ์วงศ์สวย อดีตพรานที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านคลองลำงู
ต่อมาทางทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ได้ข้อมูลมาว่ามีอดีตพรานป่า อาศัยอยู่ที่หมู่ 4 บ้านลำคลองงู ตำบลคลองงู ซึ่งห่างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ประมาณ 50 กิโลเมตร จึงเดินทางไปพบ โดยอดีตพรานป่ารายนี้คือ นายไพบูลย์ พิมพ์วงศ์สวย อายุ 59 ปี อดีตพรานที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านคลองลำงู เปิดเผยว่า ตนเองได้เลิกทำอาชีพพรานป่ามาหลายสิบปีแล้ว แต่ชาวบ้านก็จะเรียกตนว่า "พรานบุญ" พร้อมเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนทุ่งใหญ่นเรศวร มีสัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งเสือโคร่ง เสือดาว และเสือดำ แต่สำหรับเสือดำ เป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยกลัวคน ตอนกลางคืนที่มีคนตั้งแคมป์ก่อไฟ เสือดำจะเข้ามาให้เห็นใกล้ๆ โดยไม่ได้ทำร้ายใคร "พรานบุญ" บอกอีกว่า สัตว์ป่าส่วนใหญ่ที่พรานสมัยก่อนล่ามักเป็นพวกเก้ง หมูป่า และเม่น ซึ่งจะต้องนำมาผ่านการถนอมอาหารก่อน เพราะการเดินทางเข้า-ออก ภายในป่าต้องใช้ระยะเวลานานหลายวัน จึงต้องมีการนำเนื้อสัตว์มาลอกหนังแล้วนำมาเผาไฟ หรือย่างไป บางครั้งก็นำเกลือมาพอก
จุดรอยกระสุนบนซากเสือดำ
ส่วนอาวุธที่ใช้ในการล่าจะเป็นปืนแก๊บ ปืนลูกซอง และมีด สำหรับจุดตายของเสือจะอยู่ที่บริเวณหัว และใกล้กับบริเวณหัวไหล่ หรือที่เรียกกันว่า "เหยียบขึ้น"
นอกจากนี้ "พรานบุญ" บอกว่า คนพื้นบ้านจะไม่ทานเนื้อเสือ เพราะเนื้อไม่อร่อยมีกลิ่นสาบ แต่บางคนจะล่าเสือเพื่อนำไปส่งขายให้กับตลาดประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะมีคนจีนบางกลุ่มที่เชื่อว่า "เสือเป็นยาบำรุงกำลัง" และจะมีพ่อค้ารับซื้อทั้งเนื้อ และกระดูกเสือ เพื่อนำไปทำเป็นยา "พรานบุญ" ได้เล่าให้ฟังอีกว่า เสือโคร่ง 1 ตัว ตีเป็นมูลค่าได้ประมาณ 200,000 บาท โดยราคากระดูก และเนื้อของเสือโคร่ง มีราคากิโลกรัมละ 8,000 บาท แต่สำหรับเสือดำ ตนไม่ทราบว่ามีราคากี่บาท แต่เท่าที่ตนทราบ เสือดำที่มีขนาดโตที่สุด จะมีน้ำหนักประมาณ 25 กิโลกรัม ขณะที่หนวดเสือ และเขี้ยวเสือ จะมีการรับซื้อในราคาที่สูงเช่นกัน สำหรับวิธีการแร่หนังให้สวย จะต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ทำให้เป็นรอย ซึ่งจุดที่แร่ยากที่สุดคือ หัว เบ้าตา ขนตา และหนวด เพราะต้องทำให้สภาพอยู่ครบสมบูรณ์

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ