ฅนจันท์ ยื่นหนังสือคัดค้าน "เหมืองทองคำ 14,650 ไร่" หวั่นพิษไซยาไนด์

31 ส.ค. 63

สภาเกษตร นำร่องยืนหนังสือคัดค้าน ไม่เอาเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ จันทบุรี หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม และวิถีภาคการเกษตร ประชาชนต้องจับตา บริษัทเอกชนดัง จะได้รับใบอนุญาต หรือไม่?

ฅนจันท์ ไม่เอาเหมืองทองคำ สภาเกษตร นำร่องยืนหนังสือคัดค้าน แสดงจุดยืนไม่เอาเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ จันทบุรี หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม และวิถีภาคการเกษตร ขณะที่อุตสาหกรรม จ.จันทบุรีบอกบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ เนื้อที่ประมาณ 14,650 ไร่ ในพื้นที่ ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว  แต่ยังไม่ได้มีการอนุญาตในอาชญาบัตรพิเศษ เหมืองแร่ (กพร.) แต่อย่างใด

31 ส.ค. 63 ที่หน้าศาลากลาง จ.จันทบุรี นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกร จ.จันทบุรี พร้อมคณะกรรมการสภาเกษตรกรแต่ละอำเภอ ตลอดจนผู้แทนเกษตรกร เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำทั้งหมดในพื้นที่ จ.จันทบุรี ให้กับนายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล ปลัด จ.จันทบุรี เพื่อส่งต่อให้กับ น.ส.กาญจนา ทัพป้อม อุตสาหกรรม จ.จันทบุรี ในการแสดงจุดยืน เพื่อคัดค้าน อาชญาบัตรพิเศษเหมืองแร่ทองคำ พื้นที่ 14,650 ไร่ ในพื้นที่ ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ด้วยหวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม ภาคการเกษตรจากกระบวนการใช้ไซยาไนต์ในการแยกแร่ทองคำและเงิน ซึ่งไซยาไนต์สามารถแทรกซึมสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสะสมในห่วงโซ่อาหาร ซึ่ง อ.แก่งหางแมว ถือเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของจังหวัด

การออกอาชญาบัตรพิเศษให้แก่เหมืองแร่ทองคำ มี จันทบุรี เป็น 1 ใน 12 จังหวัด ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม มีการเตรียมออกอาชญาบัตรพิเศษให้แก่เอกชน คือ บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับบริษัท นายทุนต่างชาติที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ จำนวน 2 แปลง โดยจะทำการสำรวจพื้นที่ใน ต.พวา ต.สามพี่น้อง ซึ่งเครือข่ายด้านการเกษตรไม่ต้องการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ เนื่องจากสารเคมีที่มาจากกระบวนการทำเหมืองแร่ทองคำ ต้องตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ผลผลิตทางการเกษตร ซึ่ง จันทบุรี เป็น 1 ใน 6 เมืองเกษตรสีเขียวและแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย

นายธีระ กล่าวต่อว่า จากการติดตามข้อมูลของ กพร. ที่มีความต้องการจะออกประกาศกระทรวงในการทำเหมืองแร่ทองคำขึ้นมาใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน กันยายน 2558 ได้มีการยืนหยัดแนวทางการคัดค้าน และมีมติร่วมกัน ว่าคนภาคตะวันออกไม่เอาเหมืองแร่ทองคำ และคัดค้านการออกอาชญาบัตรพิเศษ พร้อมหาแนวทางต่อสู้ด้านการเกษตรสีเขียว และแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ซึ่งการทำเหมืองแร่ทองคำใช้สารไซยาไนด์ที่อาจปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ ได้  และจากการศึกษาข้อมูลผลกระทบของพิจิตรโมเดล เกิดความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ สภาเกษตรกร ต.จันทบุรี จึงขอเดินหน้าสู้ในเรื่องนี้ จนกว่าจะมีการยกเลิกการทำเหมืองแร่ในจันทบุรี

ขณะที่ น.ส.กาญจนา ทัพป้อม อุตสาหกรรม จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า ทาง บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ เนื้อที่ประมาณ 14,650 ไร่ ในพื้นที่ ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว  และเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทางอุตสาหกรรม จ.จันทบุรี ได้ทำการส่งประกาศ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เรื่องการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ ไปยังทาง อ.แก่งหางแมว ,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น,ตลอดจนผู้นำชุมชนทุกหมู่บ้าน ปิดประกาศเพื่อให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับในเรื่องการสำรวจแร่ทองคำดังกล่าวแล้ว ตามระเบียบราชการกำหนด ไม่น้อยกว่า 30 วัน

ซึ่งอย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถที่จะแสดง ความต้องการ / ไม่ต้องการ พร้อมความคิดเห็นได้ ภายในวันที่ 27 กันยายน 2563 หรือ 30 วัน หลังปิดประกาศ ซึ่งจะเป็นแบบรวมกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้ โดยส่งมาที่อุตสาหกรรมจังหวัด โดยยืนยันว่า ในขณะนี้ บริษัทดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนของการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ เท่านั้น และยังไม่ได้มีการอนุญาตในอาชญาบัตรพิเศษ ดังกล่าว จากทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) แต่อย่างใด

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ