ทำแบบครูบาน้อยในพระไตรปิฎกไม่มี! ผู้รู้ ชี้อยู่ถ้ำ 3 ปี ถ้ากินทุกวันอย่าอ้างเข้านิโรธ (คลิป)

19 ต.ค. 60
ภายหลังจากที่  พระญาณวิไชย ภิกขุ หรือ ครูบาน้อย จำพรรษาในถ้ำเชตวัน ต.สันทะ อ.นาน้อย จ.น่าน มาเป็นระยะเวลานาน 3 ปี 3 เดือน 3 วัน โดยฉันแค่เพียงน้ำและผลไม้ จนกลายเป็นกระแสวิจารณ์กันอย่างมากมาย
พระญาณวิไชย ภิกขุ หรือ "ครูบาน้อย"
ล่าสุด วันนี้(18 ต.ค.2560) นางณัฐนันท์ สุดประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีของ "ครูบาน้อย" ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เพราะเกี่ยวข้องกับจารีตประเพณีของทางภาคเหนือ ที่การจะขึ้นเป็นครูบาได้ ต้องผ่านการปฏิบัติด้วยการเข้าสู่สมาธิอย่างดิ่งลึก ไม่คบหาใคร ไม่พูดคุยกับใคร และต้องจำกัดปริมาณอาหารที่รับประทาน ซึ่งเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ว่า คนเราแม้ไม่กินข้าวแต่กินน้ำ กินผลไม้ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งตามพระไตรปิฎก การเข้านิโรธสมาบัติ คือการเข้าสมาธิชั้นลึกแบบนิ่งเหมือนคนตาย ไม่หายใจไม่ทานอาหาร ไม่นอนตลอด 7 วัน 7 คืน จากนั้นก็จะออกมาฉันอาหาร 1 ครั้ง แล้วเข้านิโรธสมาบัติ ต่ออีก 7 วัน แต่หากทานอาหารทุกวันแม้แต่ผลไม้ ก็ถือว่าไม่ใช่การเข้านิโรธสมาบัติ
ณัฐนันท์ สุดประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
อาจารย์ณัฐนันท์ ยังบอกอีกว่า การเข้านิโรธสมาบัติต่างจากคนตาย แค่อย่างเดียว คือ มีไออุ่นของร่างกาย ซึ่งผู้ที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ จะต้องเป็นพระอนาคามี ที่ได้สมาบัติ 8 หรือพระอรหันต์เท่านั้น และเมื่อเข้านิโรธสมาบัติ ร่างกายจะหยุดทุกอย่าง หยุดการเผาผลาญ ทำให้ร่างกายไม่แก่ ส่วนของ "ครูบาน้อย" หากเป็นพระอนาคามีที่ได้สมาบัติ 8 หรือพระอรหันต์ ก็จะสามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ ขณะเดียวกัน อาจารย์ณัฐนันท์ เปิดเผยว่า วิธีปฏิบัติของ "ครูบาน้อย" ไม่ได้ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่เป็นวิธีปฏิบัติซึ่งรู้ได้เฉพาะตน ที่เรียกว่าปัตจัตตัง โดยไม่สามารถไปวินิจฉัยได้ว่า "ครูบาน้อย" เข้านิโรธสมาบัติได้จริงหรือไม่ ส่วนการกระทำของ "ครูบาน้อย" ถือเป็นการอวดอุตริมนุสธรรมหรือไม่นั้น ตนไม่สามารถตอบได้ เพราะหาก "ครูบาน้อย" สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้จริงถือว่าอาบัติ เพราะไม่ควรอวดอ้างตน แต่หากไม่สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ เท่ากับอวดอ้างแต่ทำไม่ได้จริง ซึ่งถือว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นพระ โดยผู้ที่รู้ดีที่สุด คือตัว "ครูบาน้อย" แต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ อาจารย์ณัฐนันท์ มองว่า ขณะนี้ความเชื่อ ความศรัทธาขยายวงกว้างไปมาก อยากให้ทุกคนใช้ปัญญา เพราะศรัทธาที่ไร้ปัญญา จะกลายเป็นงมงาย โดยวิธีการวางจิตของพุทธศาสนิกชน เมื่อพบเจอเหตุการณ์แบบนี้ให้ทำใจเป็นกลาง ไม่เชื่อ ไม่คัดค้าน แต่ให้นำเรื่องราวนั้นมาพิจารณาแล้วศึกษาโดยตรงจากพระไตรปิฎก ส่วนเรื่องอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เอง

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ