ปิดตำนานราชาเพลงรำวง “กุศล กมลสิงห์” เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ สิริอายุ 90 ปี

15 เม.ย. 67

นับเป็นการสูญเสียอีกครั้งของวงการเพลง ปิดตำนานราชาเพลงรำวง “กุศล กมลสิงห์” เจ้าของเพลงดังอมตะ รักกลางจันทร์ เสียชีวิตแล้ว สิริอายุ 90 ปี

โดยล่าสุดวันนี้ 15 เม.ย. 2567 เพจดาราภาพยนตร์ โพสต์แจ้งข่าวเศร้าว่า "#เรื่องเศร้าคนบันเทิง #ปิดตำนานราชาเพลงรำวง #กุศลกมลสิงห์ ราชาเพลงรำวง เจ้าของตำนานเพลง #รักกลางจันทร์ #แม่ศรีไพร #รอคู่รำ เสียชีวิตอย่างสงบ สิริอายุ 90 ปี"

"ทีมข่าวดาราภาพยนตร์ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ คุณกุศล กมลสิงห์ ฉายา "ราชาเพลงรำวง" เจ้าของเพลงดังอมตะ 'รักกลางจันทร์' เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อ 13 เมษายน 2567 เวลา 09.30 น.จากไปด้วยวัย 90 ปี ที่บ้านพัก หมู่บ้านพฤกษา 45 ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี"

"พิธีสวดพระอภิธรรม ณ ศาลา5 วัดเต็มรักสามัคคี 13 - 15 เมษายน 2567 เวลา 19.00 น. พิธีฌาปนกิจ วันอังคารที่ 16 เมษายน 2567 เวลา 16.00 น."

"กุศล กมลสิงห์ ชื่อจริง “บุญเหลือ ผดุงศิลป์” เกิดเมื่อ 28 กันยายน 2477 ที่บ้านพักทหาร ร.พัน.9 หรือปัจจุบันคือ ร.1 พัน.4 ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ คุณพ่อชื่อ จ่าสิบเอกอินทร์ แม่ชื่อช่วง ผดุงศิลป์ มีพี่น้อง 5 คนด้วยกัน เป็นคนที่ 2 กำพร้าพ่อแม่มาตั้งแต่เด็ก แม่เสียชีวิตเมื่อต้นปี 2491 พอปลายปีพ่อก็เสียชีวิต"

"ตอนนั้นบุญเหลืออายุได้ 13 ปี จึงไปอาศัยอยู่กับหลวงพี่วสันต์ ผดุงศิลป์ ซึ่งเป็นพี่คนละแม่ ที่วัดแคสามเสน เรียนจบชั้นมัธยมต้น ที่โรงเรียนนันทนศึกษา ราชวัตร เมื่อหลวงพี่วสันต์สึกออกไป ก็อาศัยใบบุญของหลวงปู่สรวงต่อ พออายุได้ 16 ปี ก็ไปเป็นกระเป๋ารถเมล์เหลือง วิ่งระหว่างสะพานหัน-สะพานแดง ต่อมาได้เป็นนายตรวจ ทำอยู่ 2 ปีก็ลาออก"

"บุญเหลือ มีเพื่อนรักอยู่คนหนึ่งสมัยเรียนอยู่โรงเรียนนันทนศึกษา ชื่อประสพศักดิ์ พาทยะโกศล (ศักดิ์ โกศล) ซึ่งทั้งคู่ชอบร้องเพลงเหมือนกัน จึงชวนกันไปสมัครร้องเพลงประกวดตามงานวัดต่าง ๆ ประกวดสนุกๆ ไม่ได้หวังผลอะไร มีโอกาสได้เข้าทำงานที่กรมชลประทาน ซึ่งอยู่แถวศรีย่าน ทำให้ช่วงนี้พอมีเงินเดือนเลี้ยงชีพ ชีวิตไม่ค่อยลำบาก"

"พออายุได้ 20 ปี ก็ได้เข้ารับราชการทหาร โดยเป็นทหารอากาศอยู่กรมอากาศโยธิน ที่นี่เองทำให้เขาได้ร้องเพลงตามงานต่าง ๆ มากขึ้น พอออกจากการเป็นทหารในปี 2500 ก็เข้าทำงานที่กรมชลประทานต่อ และครั้งนี้เขาเริ่มเอาจริงเอาจังกับการร้องเพลง โดยเฉพาะการร้องเพลงประกวดตามงานวัดในนาม “ส. เสมาน้อย” คู่กับเพื่อนรัก “ส. อมรศิลป์” และประสบความสำเร็จงานแรกที่วัดอินทร์บางขุนพรหม ตอนนั้น พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธานการจัดงาน เขาชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลสลักชื่อ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ นับเป็นความสำเร็จในชีวิตการร้องเพลงครั้งแรก"

"หลังจากนั้นประกวดร้องเพลงล่ารางวัลไปเรื่อย จนได้รับถ้วยรางวัลมากมาย และได้ตั้งวง “โชเฟอร์แบนด์” ขึ้น เขาร้องเพลงบันทึกเสียงครั้งแรกในชีวิต ในเพลง “นางในวรรณคดี” แต่งโดย “วัลลภ ชื่นใจชน” โดยใช้ชื่อ “รุ่ง ผดุงศิลป์”"

"ในปี พ.ศ.2504 ต้น ๆ ปี ที่วัดอัมพวันมีงานประกวดร้องเพลง ก่อนถึงเวลาประกวด ส. เสมาน้อย ได้ขึ้นร้องโชว์ในเพลง “กระต่ายเต้น” ครูเบญจมินทร์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินได้ฟังรู้สึกชอบในน้ำเสียง เมื่อลงจากเวที ครูเบญจมินทร์ซึ่งกำลังยืนคุยอยู่กับ “บังเละ” ในบริเวณพระอุโบสถ เรียกเข้าไปถามว่า “เสียงดีอย่างนี้ทำไมไม่ร้องประกวด” เขาตอบว่า “ผมไม่กล้าครับ” ครูเบญจมินทร์ก็คะยั้นคะยอให้เขาประกวดพร้อมกับให้กำลังใจ เขาจึงตกลง และกลับไปบ้านอาบน้ำแต่งตัวแล้วกลับมาประกวด ในคืนนั้นบังคับให้ร้องประกวดในแนวนักร้อง 3 ท่าน คือ แนวปรีชา บุญยะเกียรติ แนวสมยศ ทัศนพันธ์ และแนวชาญ เย็นแข ส. เสมาน้อย เลือกร้องเพลง “ทูนหัวทูลเกล้า” ของ ชาญ เย็นแข เสร็จสิ้นการประกวดปรากฏว่าเขาชนะเลิศ "

"หลังจากนั้น 2 วัน ครูเบญจมินทร์ให้ “ชัยสิทธิ์ บุญฟัก” ไปตามให้เขามาต่อเพลงเพื่อร้องบันทึกเสียง ทำให้เขาดีใจมาก เขาได้บันทึกเสียงเพลงแรกของครู “เบญจมินทร” ในเพลง “ริษยา” เมื่อปี พ.ศ. 2504 และครูเบญจมินทร์ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “กุศล กมลสิงห์” และแต่งเพลงให้บันทึกอีกหลายเพลง"

"ในปี พ.ศ.2505 ได้ร้องเพลง “รักกลางจันทร์” ของ “นิยม มารยาท” ทำให้ชื่อเสียงของ “กุศล กมลสิงห์” โด่งดังสุด ๆ หลังจากนั้นครูเบญจมินทร์หันสร้างภาพยนตร์เรื่อง “เสือเฒ่า” จึงให้กุศล กมลสิงห์ดูแลวงแทน และต่อมาในปี พ.ศ.2507 เปลี่ยนชื่อมาเป็นวง “กุศล กมลสิงห์” ตอนนั้น “มานพ แก้วมณี” ร่วมอยู่ด้วยแต่ใช้ชื่อ “เพลง เบญจพงษ์” วงกุศล กมลสิงห์ อยู่รับใช้แฟนเพลงถึงปี พ.ศ.2512 ก็ยุบวง เนื่องจากต้องไปราชการที่เวียตนาม นานถึง 7 ปี กลับมาเมื่อปี พ.ศ.2519 ก็เป็นนักร้องรับเชิญร้องตามงานทั่วไป"

"จนช่วงหลังสุขภาพไม่อำนวย หูไม่ค่อยได้ยิน ตาขวามืดมองไม่ค่อยเห็น ต้องใส่แว่นดำตลอด โดนแสงไม่ได้ และล่าสุดเส้นเสียงตีบ ทับปลายประสาท ทำให้ร้องเพลงไม่ได้ โดยมีเพื่อนพ้องในวงการแวะเวียนมาเยี่ยมเยียน และ #สมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทย #พนมนพพร #ชมรมคนรักลูกทุ่ง นำเงินมามอบให้ ไว้ใช้จ่ายเพื่อรักษาตัว ขอบคุณข้อมูลประวัติ จาก #สัมพันธ์พัทลุง"

กุศล กมลสิงห์

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวบันเทิง เป็นกระแส