ลุ้นวันนี้ ร่าง กม.สมรสเท่าเทียมเข้าสภา จับตาจะได้ไปต่อหรือไม่

27 มี.ค. 67

วันนี้สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมรายมาตราในวาระสอง และวาระสาม ถือเป็นจุดตัดสำคัญว่าร่างกฎหมายนี้จะได้ไปต่อหรือไม่

หลังจากเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ “รับหลักการ” ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งมีสาระสำคัญคือการแก้ไขกฎหมายสมรสที่ยังรับรองสิทธิสมรสเฉพาะชาย-หญิง ให้รองรับการสมรสสำหรับบุคคลสองคนโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเพศ

วันนี้ (27 มีนาคม 2567) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอีกครั้ง โดยเป็นการพิจารณารายมาตราในวาระสอง และการลงมติเห็นชอบในวาระสาม การพิจารณาในครั้งนี้เป็นจุดสำคัญ ว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะได้ไปต่อหรือไม่ หากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายก็จะตกไป หากมีมติเห็นชอบ ร่างกฎหมายก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาต่อไป

ด้าน นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) กล่าวถึงกรณีที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯในวันนี้ว่า "เชื่อว่ากฎหมายผ่านสภาฯแน่นอน" เพราะที่ผ่านมาการทำงานใน กมธ. เป็นไปด้วยดี

เนื้อหาสาระในร่างที่ กมธ. ปรับแก้ไข สอดคล้องกับร่างของพรรคก้าวไกล เช่น การแก้ไขอายุขั้นต่ำในการสมรส จากเดิม 17 เป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ยังมีความเห็นต่างกันว่าควรแก้ไขในกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ คือเรื่องที่ภาคประชาชนเสนอให้เพศใดก็ได้สามารถเป็น “บุพการีลำดับแรก” มีสิทธิและหน้าที่เทียบเท่าบิดามารดา พรรคก้าวไกลเห็นด้วยในหลักการที่จะให้เกิดการสร้างครอบครัวอย่างเต็มรูปแบบของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

เพียงแต่เห็นว่า เรื่องนี้ควรมีการแก้ไขในกฎหมายอื่นๆ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 และกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเป็นบิดามารดาได้ และสามารถนิยามเพศของตนตามกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศได้ อย่างไรก็ดี กฎหมายสมรสเท่าเทียมร่างนี้ให้สิทธิในการรับอุปการะบุตรบุญธรรมแล้ว

นายธัญวัจน์กล่าวต่อว่า เป็นทิศทางที่ดีที่สังคมทุกภาคส่วนให้การตอบรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม เสมือนประตูบานแรกที่เปิดไปสู่การสร้างความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย แต่เราต้องไม่ลืมว่ามีอีกหลายประเด็นความท้าทายที่ต้องขับเคลื่อนรณรงค์ เช่น คำนำหน้านามตามความสมัครใจ เพื่อให้ทุกคนแสดงเจตจำนงเพศของตนเองได้ ซึ่งน่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้สภาฯ ปัดตกร่างของพรรคก้าวไกล

ดังนั้นสมรสเท่าเทียมเป็นก้าวที่สำคัญมาก แต่ยังมีอีกหลายก้าวต้องผลักดันต่อ เพื่อสร้างความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศในสังคมไทยทุกมิติ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส