เปิดบันทึกลับ 7 หน้า สาเหตุตำรวจหญิงป่วยจิตเวชซึมเศร้า

25 มี.ค. 67

เปิดบันทึกลับ 7 หน้า บอกเล่าความเจ็บปวด และแฉพฤติกรรมครูฝึก สาเหตุที่ทำให้ตำรวจหญิงป่วยเป็นจิตเวช และซึมเศร้า


จากกรณี ตำรวจหญิงยศ ส.ต.ต. ได้โพสต์ภาพขณะรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ พร้อมเล่าถึงอาการป่วยของตัวเอง หลังเกิดอุบัติเหตุถูกเตะศีรษะในค่าย เมื่อรักษาตัวแล้วได้ถูกให้กลับไปฝึกอีกครั้ง ปรากฏว่าถูกครูฝึกทำโทษหนัก พูดทำร้ายจิตใจ จนกลายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พร้อมระบุว่า บันทึกสำนวนที่เคยเขียนไว้ 7 แผ่น มีเนื้อหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เก็บไว้ในแฟ้ม ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ 25 มี.ค.2567 สำหรับบันทึกขนาดความยาว 7 แผ่นดังกล่าว มีข้อความระบุว่า “ดิฉัน นอป.หญิง คนธรส (ขอสงวนนามสกุล) สังกัด หมู่ 3 หมวด 4 ลำดับที่ 134 ค่ะ ดิฉันได้เกิดอุบัติเหตุจากการฝึกในค่ายแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ครูฝึกเรียกวันนี้ว่าวันต้อนค่ะ คือครูฝึกจะพาเด็ก ๆ ไปชมสถานที่ต่าง ๆ ภายในค่าย แต่การชมที่ว่าก็ต้องแลกด้วยการหมอบ การคลาน การกลิ้ง การวิ่งต่าง ๆ
ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับดิฉัน ได้เกิดขึ้นบริเวณหน้าค่ายค่ะ ครูฝึกได้สั่งให้เด็กหมอบ ลุก หมอบ แบบเร็ว ๆ ทำให้เท้าของเพื่อนที่อยู่ด้านหน้าเตะเข้ามาที่บริเวณศีรษะของดิฉัน ดิฉันรู้สึกหน้ามืดหมดสติชั่วครู่ ก่อนที่จะรู้สึกตัวและร้องไห้ออกมาค่ะ แต่เพื่อนรอบข้างก็ใจดีกันมาก ๆ ช่วยกันดึงดิฉันจนพ้นจากตรงนั้นไป

ตั้งแต่ที่เกิดอุบัติเหตุ ดิฉันมีอาการปวดหัวรุนแรงค่ะ ปวดหัวตลอดเวลา แต่ด้วยแดดที่ร้อนมากกับการฝึกที่หนักในแต่ละวัน ทำให้ดิฉันไม่รู้ว่าอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นมาจากการถูกเตะ เพราะดิฉันก็สอบถามเพื่อนที่อยู่รอบข้างว่า มีอาการเหมือนกันมั้ย เพื่อน ๆก็มีอาการปวดหัวแบบเดียวกันค่ะ

ดิฉันทนปวดหัวมาเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 19 มีนาคม ดิฉันมีเวรทำความสะอาดห้องน้ำค่ะ และได้เห็นตัวเองในกระจก ภาพที่เห็นคือ ศีรษะของดิฉันมีลักษณะบวมโตผิดปกติ เพื่อความแน่ใจเลยรีบวิ่งไปถามเพื่อน ๆ เพื่อนเห็นก็รีบทักเลยค่ะว่าบวม ให้ดิฉันรีบไปบอกครูฝึก

ดิฉันก็รีบวิ่งไปบอกครูฝึกค่ะ และเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น ครูฝึกบอกว่า ให้รอดูอาการไปก่อนว่าตอนเย็นจะเป็นยังไง เพราะพี่ปีที่ผ่าน ๆ มาก็มีหัวบวมเหมือนกัน ดิฉันก็เลยกลับมาทำความสะอาดห้องน้ำต่อค่ะ

พอถึงตอนเคารพธงชาติ ดิฉันดันอาเจียนพุ่งออกมา ครูฝึกเลยให้รถพยาบาลค่ายไปส่งที่โรงพยาบาลหัวหินค่ะ คุณหมอท่านแรกที่ดิฉันเจอที่ห้องฉุกเฉินได้อ่านผลสมองและมาบอกดิฉันว่าพบจุดเลือดในสมองค่ะ และได้ให้ดิฉันแอดมิทที่นั่น

คุณหมอท่านที่สองตามมาที่ห้องแอดมิทและได้บอกดิฉันว่า เลือดไม่ได้ออกในสมองค่ะ แต่สมองของดิฉันบวมเนื่องจากเกิดการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ ตอนนั้น ดิฉันก็ไม่ค่อยสบายใจแล้วค่ะว่าทำไมคุณหมอสองท่านวินิจฉัยไม่เหมือนกัน บวกกับศีรษะของดิฉันเริ่มมีลักษณะที่โตขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งทำให้ดิฉันไม่สบายใจเข้าไปใหญ่

คุณหมอบอกว่า กว่าอาการบวมจะหายก็ต้องใช้เวลารักษาอาทิตย์สองอาทิตย์ ส่วนอาการเวียนหัว อาเจียน น้ำในหูไม่เท่ากัน ต้องใช้เวลารักษาเป็นเดือนค่ะ

หลังจากที่ดิฉันได้ติดต่อกับคุณแม่ คุณแม่ได้เดินทางมาหาในวันที่ 20 มีนาคม คุณแม่ไม่สบายใจมากค่ะ ที่ผลการวินิจฉัยของคุณหมอสองท่านไม่เหมือนกัน เลยมีความต้องการให้ส่งตัวดิฉันไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตำรวจค่ะ ดิฉันได้เดินทางมาถึงที่โรงพยาบาลตำรวจตอน 5 ทุ่ม และได้เข้าแอดมิทตอนตี 2

ดิฉันได้ทำการรักษาตัวอยู่ที่นี่จนถึงวันที่ 29 มีนาคม คุณหมอเจ้าของเคสคือ คุณหมอกรภัคค่ะ แต่คุณหมอติดเคสอื่น เลยได้ให้ลูกศิษย์ในทีมเดียวกันคือ คุณหมอนนท์ธนะ ช่วยดูแลเคสดิฉันแทน ตอนที่ดิฉันแอดมิทอยู่ที่นี่

ดิฉันยังคงมีอาการปวดหัว เวียนหัว และอาเจียนค่ะ แต่อาการบวมของหัวดีขึ้นจนเป็นปกติ คุณหมอได้ออกใบรับรองแพทย์ให้ดิฉัน โดยระบุว่า มีอาการบวมบริเวณศีรษะ มีเวียนศีรษะ อาเจียน และได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ สมควรหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 14 วันค่ะ

ดิฉันได้ออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 29 มีนาคม และได้กลับไปฝึกในวันนั้นทันที พร้อมกับให้เอกสารการรักษาตัวและใบรับรองแพทย์ให้กับทางครูฝ่ายปกครอง เพื่อให้ครูฝ่ายปกครองชี้แจงเรื่องอาการป่วยให้ครูเวรประจำวันรับทราบต่อไปค่ะ

ตั้งแต่ที่ดิฉันได้กลับเข้าไปฝึก ดิฉันไม่เคยได้พักตามที่คุณหมอสั่งเลยค่ะ ดิฉันปวดหัว เวียนหัว อาเจียนแทบจะทุกวัน ทานข้าวไม่ค่อยได้ค่ะ จนน้ำหนักลดลงไป 4-5 กิโลกรัม รวมถึงนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะดิฉัน โดนครูฝึกดองเวรให้ยืนเวรในผลัดแรกทุก ๆ คืน

ทำให้ดิฉันได้นอนแค่ 2-3 ชั่วโมงต่อวันค่ะ กว่าจะผ่านไปได้ในแต่ละวันดิฉันทรมานมากค่ะ ดิฉันเริ่มมีอาการซึมเศร้าจนถึงขั้นคิดสั้นค่ะ เนื่องจากแรงกดดันต่าง ๆ ที่ดิฉันได้พบในการฝึก ซึ่งในส่วนนี้ดิฉันขออนุญาตอธิบายในส่วนถัดไปค่ะ

1 เมษายน ดิฉันเริ่มมีอาการไอค่ะ เพราะติดมาจากเพื่อน ๆ ในค่ายที่ไอติด ๆ กันมา ดิฉันไอหนักมากค่ะ เป็นปัญหาใหญ่ในการฝึกเลย ทั้งไอทั้งอาเจียน ไอมาก ๆ ยิ่งทำให้ไข้ขึ้นค่ะ ใช้ชีวิตลำบากมาก ๆ

จนมีอยู่วันหนึ่ง ดิฉันจำวันที่ไม่ได้ค่ะ ดิฉันอาเจียนออกมาเป็นเลือดหนึ่งครั้ง โดยมีครูฝึกเห็นเหตุการณ์หนึ่งท่าน ครูฝึกบอกว่าอาจเกิดจากการที่เราไอแรง ๆ ค่ะ หลังจากวันนั้นมาดิฉันก็ยังคงไอหนักมาเรื่อย ๆ ค่ะ จนสุดท้ายดิฉันเริ่มไอออกมาเป็นเลือด

ซึ่งโชคดีที่ตอนนั้นได้ออกมาจากค่ายแล้ว เนื่องจากวันหยุดสงกรานต์ และได้เข้าห้องฉุกเฉินในวันที่ 10 เมษายน เพราะดิฉันไอหนักมากจนหายใจไม่ออกค่ะ คุณหมอสงสัยว่าจะเป็นวัณโรคค่ะ

โดยเบื้องต้นวินิจฉัยว่าปอดติดเชื้อ และให้ทำการเก็บเสมหะเพื่อตรวจหาเชื้อ โดยผลออกในวันที่ 19 เมษายน ว่าไม่พบเชื้อวัณโรคค่ะ แต่เป็นการที่ปอดติดเชื้อ ทำให้ปอดของดิฉันเกิดรอยโรคขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลารักษาค่ะ รอยโรคนี้ถึงจะหายไป โดยคุณหมอได้ทำการนัดติดตามอาการในวันที่ … มิถุนายน ค่ะ (จำวันที่ไม่ได้)

ย้อนกลับไปที่เรื่องสมองค่ะ ดิฉันมีนัดติดตามผลสมองวันที่ 12 เมษายน และได้พบกับคุณหมอกรภัค ซึ่งเป็นคุณหมอเจ้าของเคสเป็นครั้งแรก คุณหมอเปิดผล CT Scan สมองให้ดูค่ะ และแจ้งผลว่า ดิฉันมีเลือดออกในสมองมาตั้งแต่แรกจริง ๆ ซึ่งที่ผ่านมา ดิฉันไม่ได้พักการฝึกตามที่คุณหมอสั่งเลย

โดยในการฝึกแต่ละอย่างก็หนักมากและเสี่ยงต่อสมองจริง ๆ ค่ะ คุณหมอเลยได้ให้ใบรับรองแพทย์ โดยวินิจฉัยว่า ปวดศีรษะเรื้อรังหลังได้รับบาดเจ็บ และมีภาวะเลือดออกในสมอง ให้หลีกเสี่ยงการออกแรง และงานที่เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนสมอง โดยมีนัดทำ CT Scan สมอง เพื่อติดตามภาวะเลือดออกในสมองอีกทีในวันที่
10 พฤษภาคม ค่ะ

หลังจากที่ได้ออกมาจากค่าย เนื่องจากวันหยุดสงกรานต์ นอกจากร่างกายที่เจ็บป่วยแล้ว ดิฉันยังคงต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านจิตใจ ดิฉันร้องไห้ทุกวัน ได้ยินเสียงแว่วในหู เสียงนกหวีด เสียงเท้าเดิน เสียงเรียกแถว เวลานอนก็ฝันร้ายเกี่ยวกับเรื่องในค่าย วน ๆ ซ้ำ ๆ ทุกคืน

คุณแม่เล่าให้ฟังว่าได้ยินเสียงดิฉันร้องครางตอนกลางคืน เหมือนคนกำลังกลัวอะไรอยู่เลย คนรอบข้างทักว่าดิฉันเปลี่ยนไป พูดน้อย ตาลอย สีหน้าไม่มีความสุข เปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากคนที่เคยสดใส ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว เหลือแต่ความเศร้า ความหม่นหมอง ที่แย่ไปกว่านั้นคือดิฉันกลัวที่จะต้องกลับไปฝึกในค่าย เวลานึกถึงทีไรดิฉันก็ร้องไห้ เคยร้อง

หนัก ๆ จนถึงขนาดที่ทำร้ายร่างกายตัวเอง ดิฉันเสียใจจริง ๆ ค่ะ ที่ดิฉันเป็นแบบนี้ ดิฉันสงสารคุณแม่ที่ต้องมาเห็นภาพแบบนี้ แต่ดิฉันบอกตามตรงค่ะว่าดิฉันไม่ไหวแล้วจริง ๆ ดิฉันเสียใจค่ะดิฉันตัดสินใจเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นค่ะ และได้เล่าถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในค่ายให้คุณหมอฟัง เล่าไปร้องไห้ไปค่ะ ใจของดิฉันไม่เข้มแข็งพอจริง ๆ พอนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นอาการแบบนี้ก็จะกำเริบค่ะ

คุณหมอได้ออกใบรับรองแพทย์โดยระบุว่า ดิฉันมีอาการ เครียด เศร้า จากเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดระหว่างการฝึก และผลการวินิจฉัยได้ออกมาว่าดิฉันเป็นโรคเครียด-ซึมเศร้าจริง ๆ ค่ะ คุณหมอได้ให้ดิฉันเข้าแอดมิทที่แผนกจิตเวช ในวันที่ 19 เมษายน ซึ่งก็คือวันนั้นเลยนั่นเองค่ะ ดิฉันได้ใช้ชีวิตในแผนกจิตเวชและได้รับการรักษาตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคม ค่ะ รวมเป็นระยะเวลา 2 อาทิตย์พอดี

ดิฉันได้รับการรักษาที่ดี ได้รับการเอาใจใส่จากคุณหมอและคุณพยาบาลค่ะ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องเล่าถึงเหตุการณ์ในค่าย ก็ยังคงมีอาการร้องไห้ฟูมายอยู่ค่ะ รวมถึงเสียงแว่วต่างๆและดิฉันเพิ่งได้พบว่านอกจากเสียงแว่วแล้ว ดิฉันยังมีอาการกลัวเสียงดัง ๆ เช่นเสียงฟ้าร้อง และยังกลัวคนเยอะ ๆ อีกด้วยค่ะ

ตอนนี้ดิฉันได้กลับมาพักรักษาตัวต่อที่บ้านโดยมีคุณแม่เป็นผู้ดูแลค่ะ คุณหมอได้ให้ยามารับประทาน เป็นยารักษาโรคประสาทและอาการจิตเวชค่ะ ดิฉันต้องรับประทานยาทุกวันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้อาการต่าง ๆ

ดีขึ้นค่ะ โดยคุณหมอได้ออกใบรับรองแพทย์โดยระบุว่า ดิฉันมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวลรุนแรงจากเหตุการณ์สะเทือนใจซึ่งมีที่มาจากการฝึก และผลวินิจฉัยคือ ดิฉันเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล ผู้ป่วยไม่สามารถทำการฝึกต่อได้เนื่องจากอาการป่วย และสมควรได้หยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 14 วันค่ะ

กลับมาในส่วนของแรงกดดันต่าง ๆ ในค่ายที่ดิฉันได้พบเจอ ย้อนกลับไป ในวันที่ดิฉันศีรษะบวม ครูจอยได้พูดว่า “จะไปวัดไหน ศาลาไหนล่ะ ระวังรถเลี้ยวผิดเข้าศาลานะ” ดิฉันทราบดีค่ะว่าอาจเป็นการแซวเล่น

แต่ด้วยภาวะป่วยในตอนนั้นกับการอาเจียนในเวลานั้นมันทำให้ดิฉันรู้สึกเสียใจและคิดมากเกี่ยวกับอาการศีรษะบวมที่เกิดขึ้นค่ะ ว่าดิฉันเป็นหนักถึงขั้นต้องไปวัดไปศาลาเลยหรือ เมื่อถึงโรงพยาบาลหัวหินและได้แอดมิทที่นั่น ดิฉันไม่สามารถติดต่อทางบ้านได้เลยค่ะ เนื่องจากไม่มีโทรศัพท์

โดยครูตั๊กได้เข้ามาเยี่ยมที่ห้องแอดมิทและแจ้งว่าจะไปถามผู้บังคับบัญชาเรื่องการใช้โทรศัพท์เพื่อติดต่อกับทางบ้านค่ะ ดิฉันเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่ 8 โมง นอนรอไปเรื่อย ๆ ร้องไห้ไปด้วยจนเตียงข้าง ๆ สงสารจะให้ยืมโทรศัพท์แจ้งที่บ้านค่ะแต่กฎเป็นกฎค่ะ ดิฉันไม่เคยละเมิดกฎ

ดิฉันรอทางครูฝึกให้นำโทรศัพท์มาให้อย่างเดียว คุณพยาบาลที่มาเห็นสภาพของดิฉันก็ถามว่าบอกที่บ้านหรือยัง ดิฉันไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดีจริง ๆ ค่ะ จนสุดท้ายเมื่อดิฉันได้รับการอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ติดต่อทางบ้านก็เป็นเวลาบ่ายแล้ว ดิฉันได้ร้องไห้และได้เผลอเล่าเรื่องครูจอยให้คุณแม่ฟังค่ะ

ตอนนั้นคุณแม่ โกรธมาก เพราะวิดีโอคอลเห็นสภาพศีรษะดิฉัน การพูดแบบนั้นมันไม่เป็นมงคลเลย คุณแม่พยายามโทรติดต่อครูฝึกค่ะ โดยได้โทรหา ร.ต.อ.หญิง คนหนึ่ง เนื่องจากโทรตามใบเอกสารที่ได้แจกมาในวันรายงานตัวค่ะ โดยโทรไป 2 ครั้ง ครั้งแรกครูบอกว่าจะโทรกลับมาและติดตามองให้ แต่เวลาก็ผ่านไปเป็นชั่วโมง ก็ยังไม่มีการติดต่อกลับมา

คุณแม่จึงโทรไปอีกหนึ่งครั้ง แต่ครูบอกว่าไม่สะดวกคุยเนื่องจากขับรถอยู่ ให้ไปตามเองว่าครูเวรประจำวันในวันนั้นคือท่านใด ในส่วนนี้คุณแม่เลยได้มีการคอมเพลนครูทั้งสองท่านไปยังทางผู้บังคับกองร้อยค่ะ โดยผู้บังคับกองร้อยได้บอกคุณแม่ว่าจะพาครูทั้งสองท่านมาขอโทษคุณแม่ที่โรงพยาบาลหัวหิน แต่จนถึงทุกวันคุณแม่ยังไม่ได้รับคำขอโทษเลยค่ะ

ดิฉันรู้สึกเครียดมากสำหรับเรื่องครูจอยที่เผลอเล่าให้คุณแม่ฟังไป เนื่องจากไม่อยากมีปัญหากับครู กลับไปก็ต้องเจอหน้ากัน ต้องฝึกด้วยกันจะมองหน้ากันอย่างไร วันที่ดิฉันออกจากโรงพยาบาล ดิฉันจึงได้โทรไปขอโทษครูจอยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่ะตลอดเวลาที่ดิฉันอยู่ที่โรงพยาบาลหัวหินไม่มีครูฝึกท่านใดมาเยี่ยมเลยค่ะ นอกจากครูตั๊กและครูนุ่มที่เข้ามาในวันแรก

แต่ก็มีผู้บังคับกองร้อยและผู้กำกับที่ข้ามาเยี่ยมและถามไถ่อาการค่ะ ในวันที่ผู้บังคับกองร้อยเข้ามาเยี่ยม ได้เข้ามาพร้อมกับภรรยา และพยาบาลค่ายค่ะ และได้พบแพทย์ที่วินิจฉัยอาการสมองบวมด้วย จึงรับทราบพร้อมกันว่าต้องทำการรักษาเช่นไรและเป็นระยะเวลาเท่าใดค่ะ

ห้องที่ดิฉันแอดมิทเป็นห้องรวมค่ะ ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าญาติของเตียงฝั่งตรงข้ามไม่ทำพฤติกรรมแย่ ๆ เช่นนี้ เค้าเป็นผู้ชายค่ะ และได้นำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์เข้ามาแอบดื่ม ดึงกางเกงขึ้น ๆ ลง ๆ ให้ต่ำ ๆ เพื่อแสดงการอนาจาร และได้พยายามใช้สายตามองลวนลามหน้าอกของดิฉันค่ะ

ดิฉันไม่สบายใจมากถ้าต้องนอนพักร่วมกับบุคคลเช่นนี้ ซึ่งในเรื่องนี้พยาบาลค่ายก็ได้ทราบเหตุการณ์ค่ะ และได้ไปแจ้งทางคุณพยาบาล กว่าจะนำตัวบุคคลนี้ออกไปได้ก็ใช้เวลานานมากเลยค่ะ

เมื่อผู้กำกับมาเยี่ยมและได้พูดคุยกับคุณแม่ ได้ข้อสรุปว่าเห็นควรให้ย้ายโรงพยาบาลค่ะ เพราะตัวผู้กำกับเองเคยมารักษาตัวที่นี่ก็ได้พบเหตุการณ์ที่ไม่ดีเช่นกัน และได้บอกคุณแม่ว่าให้น้องรักษาตัวให้หาย ไม่ต้องกังวลเรื่องฝึกเรื่องเรียน เดี๋ยวมีครูมาติวให้ตัวต่อตัวเลยค่ะ

เมื่อมารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจก็ได้มีผู้ใหญ่จากทางศูนย์ฝึกอบรมตำรวจเข้ามาเยี่ยม คือท่าน … และได้ให้ผู้ติดตามจดบันทึกรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างเริ่มมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงค่ะ ทางค่ายเงียบหายไม่ติดต่อหาหรือถามไถ่อาการเลยค่ะ มีเพียงผู้บังคับกองร้อยที่โทรมาถามอาการเป็นครั้งคราว

และได้แจ้งว่า เวลาเรียนดิฉันจะไม่ครบแล้วค่ะ ให้กลับไปเรียน เพราะจริง ๆ แล้วขาดฝึกได้ไม่เกิน 11 วัน คุณแม่เลยโทรหาทางผู้กำกับและสอบถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่ะ ว่าทำไมถึงไม่เหมือนที่เคยคุยกันไว้เมื่อตอนที่อยู่โรงพยาบาลหัวหิน ผู้กำกับแจ้งว่าดิฉันไม่ใช่พลร่มค่ะ จึงไม่สามารถช่วยได้ ต้องให้ทางคุณแม่ติดต่อไปยังทางกองบังคับการตำรวจนครบาล

คุณแม่เลยโทรติดต่อหาท่าน พ.ต.อ.นายหนึ่ง ท่านแจ้งว่าน้องไม่ได้อยู่ในความควบคุมของกองบังคับการตำรวจนครบาลแล้ว เพราะทางนี้ได้ส่งต่อให้ทางกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และยังได้พูดว่าน้องหายแล้วก็ต้องกลับไปฝึกจะให้ผมไปบังคับหมอให้น้องรักษาตัวต่อได้อย่างไร ผมทราบเพราะหัวหน้าพยาบาลบอกผมมา

ดิฉันกับคุณแม่สับสนมากค่ะ ว่าท่านได้รับสารแบบนั้นมาได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่คุณหมอแจ้งให้รักษาตัวต่อถึงสิ้นเดือนแท้ ๆ คุณแม่เลยไปถามหัวหน้าพยาบาลค่ะว่า แจ้งท่านไปเช่นนั้นหรือ หัวหน้าพยาบาลบอกว่า ไม่ได้เป็นคนแจ้งค่ะ และรู้สึกไม่สบายใจมาก

จึงขอเบอร์โทรและติดต่อไปหาท่าน พ.ต.อ.นายนี้ โดยท่านบอกว่าไม่ใช่หัวหน้าพยาบาลแต่เป็นพยาบาล และยังบอกว่าคุณแม่สื่อสารผิดค่ะ ทั้ง ๆ ที่ทุกครั้งระหว่างโทรคุณแม่เปิดโฟนตลอด ดิฉันก็ได้ยินพร้อมกับคุณแม่

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คุณแม่และดิฉันเสียหายเป็นอย่างมากค่ะ เพราะกลายเป็นว่าเข้าใจผิดว่าหายแล้วแต่ไม่ยอมกลับไปฝึกเอง ทุกอย่างตอนนี้ล้วนสับสนไปหมดเลยค่ะ พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนดิฉันเป็นผู้กระทำผิดอะไรสักอย่างหนึ่ง เมื่อกลับมาถึงค่ายคุณพ่อ คุณแม่ และดิฉันได้เข้าพบกับผู้กำกับค่ะ

โดยในห้องที่พูดคุยกันยังมีท่าน ร.ต.อ.นายหนึ่ง และพยาบาลค่ายอยู่ด้วย ท่าน ร.ต.อ. ได้ให้เช็นหนังสือเพื่อเป็นหลักฐานว่าดิฉันเหลือเวลาขาดได้อีกแค่ 24 ชั่วโมงค่ะ โดยให้คุณพ่อและดิฉันเซ็นรับทราบ

ในระหว่างพูดคุยกัน ผู้กำกับก็บอกกับคุณพ่อว่าไม่ต้องเป็นห่วงนะจะดูแลให้ดีเหมือนลูกเลย และคุณแม่ได้บอกว่าดิฉันมีนัดพบแพทย์ในวันที่ 12 เมษายน แบบนี้เวลาจะเกินหรือไม่ ทางผู้กำกับจึงบอกว่าวันที่ 8 เมษายน จะมีการให้ปล่อยกลับบ้านทุกคน

ซึ่งในเวลานั้นดิฉันจึงได้รับรู้เรื่องนี้ก่อนเพื่อน ๆ คนอื่นอยู่คนเดียว และคุณพ่อก็ได้ให้เอกสารการรักษากับท่าน ร.ต.อ. เพื่อนำไปชี้แจงอาการป่วยต่อครูเวรประจำวันต่อไปค่ะ

วันแรกของการกลับมาฝึก หลังจากที่คุณพ่อและคุณแม่กลับไป ท่าน ร.ต.อ. ได้เข้ามาชี้หน้าดิฉันและบอกว่า “ถ้าเรื่องวันหยุดหลุดถึงหูเพื่อน รู้นะว่าหลุดมาจาก … ” ตอนนั้นดิฉันเริ่มเครียดแล้วค่ะ เพราะเมื่อกี้ท่านยังยิ้มแย้มให้คุณพ่อและคุณแม่อยู่เลย เมื่อได้เจอกับเพื่อน ๆ ก็มีเพื่อนหลายคนมาเล่าให้ฟังว่าตอนที่ดิฉันไม่อยู่ ครูฝึกได้ว่าร้ายดิฉันกับครอบครัวให้เพื่อน ๆ ฟัง

เช่น เป็นแค่หัวบวมน้ำ, หายนานแล้วแต่ไม่กลับมาฝึกเอง, แม่เยอะหรอ, พ่อเป็นทหารยศใหญ่พันเอก, มีที่ไหนจะให้ครูไปขอโทษนักเรียน ซึ่งแต่ละอย่างที่ครูฝึกพูดมาล้วนไม่เป็นความจริงเลยค่ะ

วันนั้นไม่แน่ใจค่ะว่าเป็นเวรของครูกระปุกหรือเปล่า ครูได้ถามว่าใครคือ 134 และได้ว่าดิฉันต่อหน้าเพื่อน ๆ ทุกคนว่าดิฉันต้องไปปรับทัศนคติใหม่ และได้ทำโทษดิฉันโดยการให้ยืนเวรผลัดแรกทุกวัน

และถามดิฉันว่า “ที่โดนเพื่อนเตะมีใครผิดมั้ย? โดนดองเวรเจ็บใจมั้ย ไปโพสต์เฟซระบายเลยสิ อยากร้องไห้มั้ย ไปนอนกอดหมดร้องไห้นู่น” ตอนนั้นดิฉันกดดันมากค่ะ เพราะตอนนั้นทุก ๆ สายตาได้จับจ้องมองมาที่ดิฉันเพียงคนเดียว

คืนแรกสำหรับการยืนเวรเป็นอะไรที่ทรมานมากค่ะ เพราะเพียงแค่เดินทางจากกรุงเทพฯมาที่ค่าย ดิฉันก็เหนื่อยและเพลียมากแล้ว อาการตอนนั้นคือ เวลายืนเหมือน โลกเอียงซ้ายเอียงขวา และยังมีอาการปวดหัวเวียนหัวร่วมด้วย ครูก้อยและครูกระปุกเรียกไปคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

และได้บอกว่าดิฉันเป็นหัวบวมน้ำคนอื่นเค้าก็เป็นกันทุกปี และยังถามถึงเรื่องส่วนตัวของครอบครัวที่คุณพ่อกับคุณแม่แยกทางกันอีกด้วยค่ะ หนูยกมือไหว้ครูทั้งสองท่านทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องขอโทษเรื่องอะไร แต่ที่ทำแบบนั้นไปเพราะตอนนั้นรู้สึกกลัวและไม่ปลอดภัยค่ะ

ครูกระปุกบอกว่า “มันสายไปแล้ว มันเสียไปนานแล้วความรู้สึกตรงนั้น เอ็งทำลายมันไปหมดแล้ว เอ็งไม่ต้องพูดขอโทษตอนนี้หรอก เอ็งต้องไปปรับทัศนคติใหม่” สำหรับการฝึกเป็นอะไรที่หนักมากค่ะ สำหรับคนที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล มันทรมานมากจริง ๆ

ดิฉันได้พยายามแจ้งครูเวรประจำวันแต่ละท่านว่ายังทำบางท่าที่ใช้ศีรษะไม่ได้ มีครูฝึกทั้งที่เข้าใจและไม่เข้าใจ บางท่านเหมือนยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าดิฉันเกิดอุบัติเหตุอะไรมา เหมือนไม่เคยเห็นเอกสารการรักษาที่คุณพ่อได้ให้ ร.ต.อ. ไว้เลยค่ะ เวลาทานข้าวดิฉันก็ทานได้น้อย กลืนไม่ลง ทานเสร็จก็อาเจียน วนไปวนมาแบบนี้ทุกวันค่ะ

บางวันที่เป็นเมนูผัดชีอิ๊ว ดิฉันก็จะโดนครูชลพูดแขวะเรื่องคุณพ่อว่า “ไหน ๆ ใครเส้นใหญ่” แล้วเพื่อน ๆ ก็จะมองมาที่ดิฉัน ดิฉันกดดันมากค่ะ เพราะดิฉันไม่ได้เส้นใหญ่อะไรเลย เพราะแท้จริงแล้ว คุณพ่อกับคุณแม่แยกทางกันตั้งแต่ดิฉันยังเด็ก ๆ แต่ยังเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ทำหน้าที่ดูแลลูกได้เป็นอย่างเดียว

ดิฉันสู้ชีวิตมาตลอด หาเงินด้วยตัวเองมาตั้งแต่อายุ 11 ปี พยายามไม่ไปรบกวนคุณพ่อ ช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านทุกอย่าง เรียนรด.มา 5 ปี ไม่เคยกล่าวหรืออ้างยศถึงคุณพ่อเลย เป็นนักเรียนทุนรัตนมงคลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรียนฟรี 100%

ไม่เคยทำให้ที่บ้านลำบาก สอบมาครั้งนี้ก็สอบด้วยตัวเอง อ่านหนังสือเอง หาติวเอง ใช้เงินตัวเอง100% แล้วจะเรียกดิฉันว่าเส้นใหญ่ได้อย่างไร ลึกๆในใจของดิฉันก็เจ็บปวดไม่น้อยเลยทีเดียว

ครูชล ถามว่าใคร คือ 134 และสั่งให้ดิฉันถอดหมวกออก และบอกว่า “ขอเซฟหน้าก่อนนะ” หลังจากวันนั้นชีวิตของดิฉันก็เริ่มไม่สงบสุข ถึงเวลายืนเวร ครูชลเรียกไปคุย ถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดิฉันก็เล่าให้ฟังว่าเกิดอุบัติเหตุอย่างไรบ้าง ครูชลพูดว่า “อ้าว! ไม่ได้ โดนครูฝึกเตะหัวมาหรอ เดี๋ยวจะถามหมอโมเมว่าเป็นอะไรกันแน่” และก็หัวเราะอย่างสนุกสนาน

แต่ดิฉันไม่สนุกด้วยเลยค่ะ ดิฉันกลัวจริง ๆ ค่ะตอนนั้น ว่าทำไมครูชลถึงพูดแบบนี้กับดิฉัน ครูชลอยากเตะหัวหนูหรอคะ ดิฉันก็แอบนึกในใจเหมือนกัน เมื่อมีการฝึกในเวลากลางวันเกี่ยวกับการซ้ายหันขวาหัน ครูชลเป็นครูที่มาสอนหมวดของดิฉัน ครูพาไปสอนในที่แดดจ้าเป็นเวลาหลายชั่วโมง จนดิฉันเป็นลมและอาเจียน ทั้ง ๆ ที่เพื่อน ๆพลร่มได้ฝึกกันในร่มไม้

ดิฉันคิดว่าสิ่งนี้มันไม่ยุติธรรมเลยค่ะ ไม่ใช่ว่าอยากให้เพื่อนมาฝึกที่แดดจ้าเหมือนกัน แต่หมวดของดิฉันควรได้ฝึกในร่มไม้ด้วย แบบนี้ถึงยุติธรรม เนื้อหาการสอนว่ายากแล้ว และต้องมาทนกับแดดร้อน ๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง ตอนนั้นรู้สึกเหมือนจะตายให้ได้เลยค่ะ

ดิฉันทำปฏิทินส่วนตัวขึ้นมาด้วยตนเอง ใกล้จะถึงวันที่ 8 เมษายนแล้ว อิสรภาพกำลังจะมาถึง แต่ต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อของวันที่เรียกว่า วันปล่อยผี เป็นวันที่น่ากลัวมากค่ะวันนี้ เพราะครูฝึกได้ต้อนเด็กไปที่ลานที่อยู่ติดกับริมทะเล ที่นั่นมืดมาก ยิ่งทำให้กดดันมาก

ครูฝึกได้ให้ทำท่าต่าง ๆ ดิฉันจะเป็นลมหลายรอบมาก แต่โชคดีที่มีเพื่อน ๆ คอยช่วยเหลือไว้ ดิฉัน โดนครูก้อยเอาเชือกฟาดจนขาเป็นรอย และเมื่อถึงตอนหมอบ ครูก้อยก็ตะโกนว่า “134 อย่าโง่เอาหัวไป โดนเท้าเพื่อนอีกล่ะ” ด้วยความมืดจึงไม่เห็นหน้าของครูฝึกที่พูด แต่หนูจำเสียงได้ว่าเป็นเสียงของครูก้อยค่ะ

ตอนนั้นดิฉันก็ร้องไห้ไปด้วยทำท่าต่าง ๆ ไปด้วยแทบขาดใจ โดยเฉพาะดันพื้นท่าเตรียมเหมือนเลือดจะตกหัวเลยค่ะ หนักหัวมากจนอยากจะตาย ครูก้อยก็ตะโกนมาอีกว่า “เวลาอยู่ในน้ำทำอย่างเก่งเลยนะ พอบนบกไม่ได้เรื่องสักอย่าง ทำตัวเป็นภาระเพื่อน”

ที่ครูบอกว่าในน้ำอย่างเก่ง ในส่วนนี้หนูต้องขออธิบายว่าหนูเคยเป็นนักกีฬาว่ายน้ำค่ะ เลยอาจว่ายได้ดีและเร็วกว่าเพื่อน ๆ จนครูฝึกชมค่ะ และดิฉันก็ยังคงต้องทำท่าทางต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ โดยมีเสียงเรียก 134 ตลอด มันกดดันมากจริง ๆ ค่ะ เหมือนโดนเพ่งเล็งอยู่คนเดียว

ร.ต.อ. ได้เดินเข้ามาหาและบอกว่า “134 เข้าตาหลายรอบแล้วนะ” หนูเหนื่อยใจมากเลยค่ะ หนูพยายามมาก ๆ แล้วจริง ๆ แต่ครูไม่เข้าใจหนูเลย ในที่สุดก็ถึงวันที่ 8 เมษายน วันแห่งอิสรภาพของดิฉัน ดิฉันรอคอยวันนี้มานานแสนนาน วันที่จะได้เจอหน้าครอบครัว ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้แทบจะไม่ได้เจอแล้วแท้ ๆ เพราะดิฉันคิดสั้นค่ะ

เวลายืนเวรตอนกลางคืนมีเวลาอยู่กับตัวเอง ก็นึกอะไรไปเรื่อยเปื่อยค่ะ นึกว่าจะตายด้วยวิธีไหนดี จะวิ่งลงไปในทะเลเลยดีไหม แต่ก็ดันว่ายน้ำได้อีก คงไม่ตาย จนไปลงตัวที่ผูกคอตายค่ะ หนูคิดว่าจะเอาผ้าห่มมาผูกที่ปลายเตียง หรือไม่ก็ใต้ต้นมะขามข้างโรงนอน จะตายตรงไหนดีที่คนเห็นเยอะ ๆ จะได้สะใจครูฝึกเสียที

แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำค่ะ เพราะหน้าของคุณแม่ลอยมา และมันทำให้ดิฉันรู้ว่า ดิฉันคิดถูกที่ไม่ทำแบบนั้น เพราะดิฉันยังต้องมีชีวิตต่อไปเพื่อคนที่เรารักและคนที่รักเราค่ะ”

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส