รวบตัวอดีตกรรมการกองทุน สปสช. ถอนเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง!

12 ก.พ. 67

ตำรวจสอบสวนกลาง รวบอดีตกรรมการกองทุน สปสช.ถอนเงินกองทุนเข้ากระเป๋าตัวเองกว่า 3 แสนบาท ก่อเหตุมาแล้วรวม 10 ครั้ง

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม ร่วมกันจับกุม นายกิจวัตร อายุ 39 ปี ผู้ต้องหากระทำความผิดฐาน “เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91”  ที่ ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2559 นายกิจวัตรฯ (ผู้ต้องหา) ซึ่งดำรงตำแหน่งอนุกรรมการของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้มีอำนาจลงนามถอนเงินฝากธนาคารของกองทุน ได้เสนอให้มีการอนุมัติงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานของกองทุนฯ และให้ผู้มีอำนาจลงนามถอนเงินในใบถอนเงินเป็นชื่อของผู้ต้องหาแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งภายหลังจากที่ได้ทำการถอนเงินตามขั้นตอนเเล้ว ผู้ต้องหาได้เชิดเงินหลบหนีไป โดยทำมาแล้วกว่า 10 ครั้ง มูลค่าความเสียหายกว่า 3 แสนบาท

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนติดตามจนพบว่า ผู้ต้องหาได้หลบหนีมาอาศัยอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี โดยมาทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ เมื่อพบตัวผู้ต้องหา จึงได้เข้าจับกุมตัว จากนั้นได้นำตัวส่งศาลอาญาคดีทุจริคภาครัฐ ภาค 6 พิษณุโลก เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่า เคยได้รับหมายเรียกให้เข้าพบอัยการในคดีนี้แล้ว ซึ่งตนเองคิดว่าคดีจบไปแล้ว จึงเลือกที่จะเพิกเฉย และยังไม่ได้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่ อบต. แต่อย่างใด

ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่าเงินที่ผู้ต้องหาเบียดบังได้ไปนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเงินกองทุนประกันสุขภาพท้องถิ่นในระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น ซึ่งในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ จะมีไว้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟู สมรรถภาพ และการรักษาพยาบาล ระดับปฐมภูมิ ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ไม่สามารถนำเงินกองทุนดังกล่าวมามอบให้เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ ดังนั้น การยักยอกเอาเงินในส่วนนี้จึงส่งผลต่อสิทธิที่คนในชุมชนจะได้รับการฟื้นฟูส่งเสริมดูแลด้านสุขภาพ อันเป็นการลดทอนสิทธิที่พึงมีพึงได้ของทุกคนในชุมชนนั้นๆ ด้วย

หากพบมีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการในลักษณะเดียวกันนี้ สามารถแจ้งมายังกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) โทร. 02-1919191 สายด่วน ป.ป.ช. 1205 (สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ), สายด่วน ป.ป.ท. 1206 (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) และ สายด่วน ป.ป.ง. โทร. 02-2193600 (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส