กินไข่ทำให้แผลเป็นนูน จริงหรือไม่? แนะ 6 เดือนแรกให้ทำตามนี้ช่วยลดการนูนของแผล

9 ม.ค. 67

กระทรวงสาธารณสุข ตอบเคลียร์ชัดเจน กินไข่ทำให้แผลเป็นนูน จริงหรือไม่? พร้อมแนะ 6 เดือนแรกให้ทำตามนี้ช่วยลดการนูนของแผล

ตามที่มีผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องรับประทานไข่ทำให้แผลเป็นนูน ทาง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีที่มีผู้โพสต์ให้ข้อมูลด้านสุขภาพโดยมีข้อความว่า รับประทานไข่ทำให้แผลเป็นนูน ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การรับประทานไข่ไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดแผลเป็นนูน โดยระหว่างเกิดบาดแผลจะสามารถรับประทานไข่ได้ในปริมาณที่เหมาะสม

โดยแผลเป็นนูนมี 2 ชนิด คือ 1. แผลเป็นนูนเกิน ที่แผลจะนูนขึ้นมาแต่ไม่ขยายเกินขอบเขตของบาดแผล เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถกลับมาใกล้เคียงกับแผลเป็นปกติได้ภายใน 1 ปี ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

2. แผลเป็นคีลอยด์ จะเป็นแผลจะนูนขึ้นมา และขยายเกินขอบเขตของบาดแผลเกิดเมื่อเกิดขึ้นแล้วแผลจะนูนและใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลา ซึ่งแผลเป็นชนิดนี้มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อ และคอลลาเจนเพื่อซ่อมแซมบาดแผลมากเกินไป อีกทั้งพันธุกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์เช่นกัน

แผลเป็นสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น ผ่าตัด ใช้สเตียรอยด์แบบฉีด ซึ่งวิธีเหล่านี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ สำหรับวิธีที่สามารถดูแลแผลเป็นด้วยตัวเอง ทำได้ด้วยการใช้แผ่นแปะลดรอยแผลเป็นได้แก่ แผ่นซิลิโคน (Silicone) ใช้หลังเกิดแผลสดหายดีแล้ว โดยปิดแผลเป็นตลอด 24 ชั่วโมงนาน 3 เดือน, แผ่นเทปเหนียว (Microporous) ใช้ปิดลงบนแผลเป็น โดยอุปกรณ์ทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ สามารถซื้อและขอรับคำปรึกษาในการใช้แผ่นแปะลดรอยแผลเป็นจากเภสัชกรได้ตามร้ายขายยาทั่วไป

แต่แนะนำให้เลือกซื้อแผ่นแปะที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ดูเลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะการดูแลแผลอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการขยายตัวและการนูนตัวของแผลเป็นได้ และสามารถลดการขยายตัว และการนูนของแผลเป็นโดยการนวดบริเวณแผลเป็นเป็นประจำในระหว่าง 6 เดือนแรก

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การรับประทานไข่ไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดแผลเป็นนูน ระหว่างเกิดบาดแผลสามารถรับประทานไข่ได้ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งการดูแลแผลอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการขยายตัวและการนูนตัวของแผลเป็นได้ และสามารถลดการขยายตัว และการนูนของแผลเป็นโดยการนวดบริเวณแผลเป็นเป็นประจำในระหว่าง 6 เดือนแรก

istock-172207590

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส