ตะลึง! ลูกหนี้นอกระบบส่งรายวัน 4 พัน จ่ายทบต้นมากกว่าเงินเดือนนายกฯ

23 ธ.ค. 66

“เศรษฐา” ตะลึง! ลูกหนี้นอกระบบส่งรายวัน 4,000 บาท จ่ายทบต้นมากกว่าเงินเดือนนายกฯ สั่งดำเนินคดีตามกฎหมาย 

วันที่ 23 ธ.ค. 66 ที่ศาลากลางจังหวัดน่าน นาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดน่าน 

เพื่อรับฟังปัญหาจากนายชัยนรงค์ วงค์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ขณะเดียวกันรับฟังพบปะลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนเข้าระบบ โดยเฉพาะหญิงสาวลูกหนี้คนหนึ่งขอให้ช่วยแก้ปัญหาให้ เนื่องจากทำธุรกิจขาดทุนช่วงการระบาดของโควิด ได้กู้เงิน มาประกอบอาชีพ และผ่อนรถ เป็นเงินต้น 80,000 บาท ส่งคืนเจ้าหนี้วันละ 4,000 บาท หรือร้อยละ 20 ต่อวัน เป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ต้นก็ไม่ลดลง ทำให้เดือดร้อน ไม่มีเงินส่ง ถูกเจ้าหนี้คุกคาม ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับปากจะให้ตำรวจตามหาเจ้าหนี้มาเจรจา โดยให้หยุดส่งและดำเนินการทางกฎหมาย พร้อมให้ความเชื่อมั่นเรื่องการดูแลความปลอดภัยด้วย 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จ.น่านมีลูกหนี้ลงทะเบียนกว่า 500 คน แต่สามารถเอาเข้าระบบการช่วยเหลือเพียง 100 รายเท่านั้น อาจจะเป็นเพราะข้อมูลติดตามตัวยังไม่ครบถ้วน หรือไม่เชื่อมั่นเจ้าหน้าที่ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุก รับผู้ที่เหลือมาเข้าระบบ การช่วยเหลือและให้เชื่อมั่นเจ้าหน้าที่ ที่สำคัญยังจะให้มีการจัดตลาดนัดแก้หนี้นอกระบบตามจังหวัดต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาครบวงจร 

“ลูกหนี้นอกระบบที่มีเงินกู้อยู่ 80,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยวันละ 4,000 บาท ซึ่งจ่ายมาหลายปีแล้ว ยอดรวมหลายแสนบาท หากคูณดอกเบี้ยวันละ 4,000 บาท 30 วัน คูณออกมาแล้วเยอะกว่าเงินเดือนนายกฯ ฟังแล้วเป็นเรื่องที่น่าเศร้า” นายเศรษฐา กล่าว 

สำหรับข้อมูลยอดการลงทะเบียนหนี้นอกระบบของจังหวัดน่าน ที่ทำการปกครองจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า ข้อมูลล่าสุด มีผู้ลงทะเบียน 560 ราย ผ่านระบบออนไลน์ 502 ราย วอคอิน 58 ราย มีการระบุเจ้าหนี้ 516 ราย ไม่ระบุเจ้าหนี้ 44 ราย มูลค่ายอดหนี้รวมกว่า 33 ล้านบาท โดยมีผู้ลงทะเบียนในพื้นที่อำเภอเมืองสูงที่สุด รองลงมาคือ อำเภอเวียงสา อำเภอปัว อำเภอภูเพียง และอำเภอท่าวังผา ตามลำดับ 

ส่วนสาเหตุที่ลูกหนี้เป็นหนี้นอกระบบมากที่สุดคือ การไม่สามารถเข้าเงื่อนไขขอกู้ผ่านธนาคาร และสถาบันการเงินได้ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และรายได้ไม่แน่นอน รองลงมาคือกู้เพื่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน กู้เพื่อนำมาประกอบอาชีพ กู้เพื่อค่าเทอมบุตรหลาน และการกู้อื่นๆ ตามลำดับ ทั้งนี้ได้มีการใช้แนวทางมาตรการตามนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่การไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งมีทั้งแบบเจ้าหนี้ตามธรรมชาติ เช่น การกู้ยืมเงินกันเอง กับการกู้ผ่านเจ้าหนี้กลุ่มทุนต่างๆ โดยจะพิจารณาจากการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี โดยหากไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ จะใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับต่อไป รวมทั้งการแนวทางให้ลูกหนี้สามารถเข้าสู่หนี้ในระบบได้ โดยเฉพาะธนาคารของรัฐ ทั้งออมสินและ ธ.ก.ส. เพื่อทำให้ลูกหนี้สามารถชดใช้หนี้ได้และเข้าสู่หนี้ในระบบ เพื่อความเป็นธรรมตามกฎหมายต่อไป

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม