แพทย์ เผย ประจำเดือนมีผลต่อสมอง ผู้หญิงหลังหมดระดูเสี่ยงสมองเสื่อม อัลไซเมอร์สูง

11 ธ.ค. 66

หมอธีระวัฒน์ เผยผลการศึกษา ประจำเดือนมีผลต่อสมอง ผู้หญิงหลังหมดระดูเสี่ยงสมองเสื่อม โดยเฉพาะแบบอัลไซเมอร์ได้สูงขึ้น

วันที่ 11 ธ.ค.66 น.พ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า รอบเดือนสตรีมีผลต่อสมอง ฮอร์โมนมีผลหรืออิทธิพลโยงใยไปกับการทำงานของสมอง ทั้งนี้ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือใน สตรี โดยที่พบความเกี่ยวข้องเมื่อหมดระดู ดูเหมือนว่าจะมีความสุ่มเสี่ยงในการเกิดสมองเสื่อมโดยเฉพาะแบบอัลไซเมอร์ได้สูงขึ้น

การศึกษาก่อนหน้าที่ผ่านมานั้นในสัตว์ทดลอง พบว่าฮอร์โมนเพศมีความเกี่ยวพันกับสมอง Cornu ammonis (CA1) และเป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ อัลไซเมอร์ ในระบบทางด้านความจำ บูรณาการ และการให้ ฮอร์โมน estradiol จะช่วยทำให้มีการเชื่อมโยงของเส้นไยประสาทในสมองส่วนนี้ดีขึ้น ในสัตว์ทดลองที่ตัดรังไข่ ในขณะที่ฮอร์โมน progesterone จะยับยั้งผลนี้ การศึกษาในสัตว์ทดลองยังได้พิสูจน์ไปจนถึงสัตว์ในตระกูลลิงตั้งแต่อายุน้อยถึงอายุกลาง

สมองอีกตำแหน่งที่มีการศึกษาไม่มาก แต่มีการเหี่ยวในระยะเริ่มต้นของสมองสมองเสื่อม คือ perirhinal area 35 ซึ่งเป็น trans-entorhinal region และ medial perirhinal cortex

อย่างไรก็ตามในขณะที่ยังมีประจำเดือนอยู่นั้น ตั้งแต่ ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์จะมีการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนขึ้นลง (hormonal oscillations) ในช่วงเดือนอยู่ตลอด โดยเฉพาะฮอร์โมน estradiol และ progesterone

จุดประเด็นนี้เองที่เป็นที่มาในความสนใจ ความเชื่อมโยงระหว่างความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนขึ้นๆลงๆว่ามีความสัมพันธ์กับการทำงานของสมองหรือไม่ ทั้งนี้รวมถึงทางด้านจิตอารมณ์ ภาวะหดหู่ ซึมเศร้าและสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ลี้ลับพอสมควร

โดยที่มีการศึกษาและมีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะสมองในด้านประสิทธิภาพในการจดจ่อเรียนรู้ จดจำน้อยมาก โดยมีเพียง 0.5% ที่มีการตีพิมพ์โดยมีการประมวล วิเคราะห์ ภาพคอมพิวเตอร์สมองมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้

รายงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Mental Health ในวันที่ 5 ตุลาคม 2023 จาก Mark Planck Institute for human cognitive and brain sciences และ the University Clinic in Leipzig เยอรมนี

การศึกษานี้ มีสตรีอาสาสมัคร 27 คนใน หกจุดเวลาของรอบประจำเดือน (mens pre- และ Ovulation post O Mid-L และ Pre-M) การระบุรอบและกรอบช่วงเวลาต่างๆของประจำเดือนนั้น ใช้อัลตร้าซาวนด์ เพื่อดู การเติบโตของ follicle ในรังไข่ ในการบอกเวลาตกไข่ และทำการตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์แม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังสนามแม่เหล็กสูงถึง 7 เทสล่า โดยวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทาง พุทธิปัญญาและความจำโดยเฉพาะส่วนที่เป็นความจำปัจจุบัน (episodic memory) ที่ถูกกระทบในระยะแรกเริ่มของสมองเสื่อม โดยที่เครื่องที่เราใช้ในผู้ป่วยตามปกตินั้นจะอยู่ที่ 3 เทสล่า และพลังระดับเจ็ดนี้ เป็นมาตรฐานในการศึกษา cognitive และ Behavioral Neuroscience

ในแต่ละเดือนของสตรีนั้น ฮอร์โมน estradiol จะขึ้นสูงในครึ่งแรกและสูงสุดในขณะที่ไข่ตกและฮอร์โมน progesterone จะอยู่ในครึ่งหลัง โดยทำหน้าที่เตรียมมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และยังมีผลในการทำให้สงบ มีอารมณ์ผ่อนคลาย ไม่วิตกกังวล และหลับได้สบายขึ้น

ทั้งหมดนี้คล้ายกับคลื่นน้ำที่มีการสลับสับเปลี่ยนอยู่ตลอดโดยสมองในสตรีนั้นจะมีความเชื่อมโยงกับจังหวะของฮอร์โมนเหล่านี้

โดยที่ผลของการศึกษานี้พบว่า สมองกลีบขมับทางด้านใน ที่ควบคุมความจำปัจจุบัน (episodic memory )รวมทั้งการเรียนรู้และจดจำ สถานที่ ทิศทางตำแหน่ง การหาทิศทาง (spatial cognition: landmarks route และ survey knowledge) มีการขยายตัวขึ้นตามจังหวะของestradiol และลดลงในช่วง progesterone
ตำแหน่งของสมองที่ศึกษานี้เป็นตำแหน่งย่อยของสมองกลีบขมับทางด้านในและส่วนจำเพาะที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนดังกล่าว ได้แก่ Estradiol สัมพันธ์กับ ปริมาตรของ parahippocampal cortex และ progesterone สัมพันธ์กับปริมาตรของ subiculum และ perirhinal area 35 และในส่วนของ CA1 จะเชื่อมโยงกันทั้งฮอร์โมนทั้งสองตัว

ความสำคัญของรายงานนี้ชี้ชัดว่า ฮอร์โมนเพศมีความสัมพันธ์ลึกล้ำกับส่วนจำเพาะของสมอง ซึ่งในการศึกษานี้ แม้ว่าจะเจาะจงในตำแหน่งของสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำและทิศทาง ก็ตาม แต่จะเป็นพิมพ์เขียวเพื่อ การศึกษาต่อในอนาคตเพื่อทำให้สามารถเชื่อมโยงกับการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจ

และที่สำคัญก็คือความยืดหยุ่นของสมอง (resilience) เพื่อให้คงประสิทธิภาพและมีความต้านทาน (resistance) ต่อปัจจัยไม่ดีต่างๆ ทั้งนี้น่าจะรวมถึงการใช้ฮอร์โมนในรูปต่างๆ และยาคุมกำเนิดและฮอร์โมนทดแทนว่าจะมีผลอย่างไรกับการทำงานของสมองอารมณ์และจิตใจบ้างหรือไม่

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส