ประเพณีการทอดกฐิน คำถวายผ้ากฐิน และอานิสงส์ของการทำบุญทอดกฐิน

27 ต.ค. 66

ประเพณีการทอดกฐิน คำถวายผ้ากฐิน และอานิสงส์ของการทำบุญทอดกฐิน

ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี ในปัจจุบันถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่กลับให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน

122461595_3385145598271421_48

การได้มาของผ้าไตรจีวรอันจะนำมากรานกฐินตามพระวินัยบัญญัติของเถรวาทนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้าจากผู้ศรัทธาเพื่อนำมากรานกฐิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดทานพิธีการถวายผ้ากฐิน หรือการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนขึ้น และการถวายผ้ากฐินนั้นจัดเป็นสังฆทาน คือ ถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอปโลกน์ ยกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) และกาลทานที่มีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอน

คณะสงฆ์วัดหนึ่ง ๆ สามารถรับได้ครั้งเดียวในรอบปี การทอดกฐินมีกำหนดระยะเวลาถวายเพียง 1 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือภายหลังจาก ออกพรรษา แล้ว 1 เดือน ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือ ระยะเวลาทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน ซึ่งเป็นทานที่ถวายได้ภายในเวลาที่มีพระพุทธานุญาตกำหนด จึงมีอานิสงส์เป็นพิเศษในการทอดกฐิน ทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นบุญประเพณีนิยมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

14639635_1101519373300733_818

• อานิสงส์ของการทำบุญทอดกฐิน

พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าการสงเคราะห์พระภิกษุที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพุทธบัญญัติ เป็นการเทิดทูนพระพุทธบัญญัติเรื่องกฐินให้คงอยู่สืบไป นับได้ว่าบูชาพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติบูชาส่วนหนึ่ง และเป็นการสืบต่อประเพณีกฐินทาน มิให้เสื่อมสลายไปจากวัฒนธรรมประเพณีของคนไทย อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างพลังสามัคคีขึ้นในสังคมอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ยังเชื่อว่าผลบุญจะส่งให้เป็นผู้มั่งคั่ง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีจิตใจแช่มชื่น บริสุทธิ์และผ่องใส ทำให้เป็นคนรูปงาม ผิวพรรณงาม เป็นที่รักของคนทั่วไป เป็นผู้มีชื่อเสียง เกียรติคุณ น่ายกย่องสรรเสริญ น่าเคารพนับถือ

การถวายผ้ากฐิน

เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว ประธานองค์ผ้ากฐิน/เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐิน นั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ

75354818_10156672992807671_36

• คำกล่าวถวายผ้ากฐิน

อิมัง มะยัง ภันเต / สะปะริวารัง / กะฐินะ จีวะระทุสสัง / สังฆัสสะ / โอโณชะยามะ / สาธุ โน ภันเต/ สังโฆ/
อิมัง /สะปะริวารัง /กะฐินะจีวะระทุสสัง / ปะฏิคคันหาตุ / ปะฏิคคะ เหตตะวา จะ /อิมินา ทุสเสนะ /
กะฐินัง/ อัตถะรัตตุ/ อัมหากัง / ทีฆะรัตตัง / หิตายะ / สุขายะ / นิพพานายะจะ ฯ

• คำกล่าวถวายผ้ากฐิน (ไทย)

ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ / ข้าพเจ้าทั้งหลาย / ขอน้อมถวาย / ผ้าจีวรกฐิน / พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้ / แด่พระภิกษุสงฆ์ / ขอพระภิกษุสงฆ์ / จงรับ / ผ้าจีวรกฐิน / พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้ / ครั้นรับแล้ว /จงกรานกฐิน / ด้วยผ้าผืนนี้ /เพื่อประโยชน์ / เพื่อความสุข / เพื่อมรรคผลนิพพาน / แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย /ตลอดกาลนาน เทอญฯ

advertisement

ข่าวยอดนิยม