รู้จัก โรคไข้ดิน ติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดินและน้ำ ระบาดหนักช่วงฤดูฝน

21 ต.ค. 66

รู้จัก โรคไข้ดิน หรือ โรคเมลิออยด์ โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดินและน้ำ ระบาดหนักช่วงฤดูฝน หากติดเชื้อในกระแสเลือดอาจทำให้ถึงตายได้

โรคไข้ดิน หรือ โรคเมลิออยด์ (Melioidosis) พบมากในฤดูฝนเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดินและน้ำสามารถพบได้ทั่วประเทศไทย ความรุนแรงของโรคทำให้เสียชีวิตได้ หากติดเชื้อในกระแสเลือด ตัวเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ได้แก่ ผ่านทางผิวหนัง เช่น หากมีบาดแผลและเดินบนดินหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผ่านทางลมหายใจ กรณีที่มีการฟุ้งของฝุ่นหรือดินที่มีเชื้ออยู่และสูดดมเข้าไป ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด จะส่งผลให้เกิดอาการปอดอักเสบ

กลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคไข้ดิน

กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโลหิตจางหรือทาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี รวมถึง คนไข้โรคมะเร็งบริเวณต่าง ๆ และกลุ่มเกษตรกรที่ต้องสัมผัสกับดินและน้ำด้วยเท้าเปล่า

การติดเชื้อโรคไข้ดิน

การติดเชื้อโรคไข้ดิน ก่อให้เกิดอาการหลายลักษณะ ได้แก่

การติดเชื้อผ่านทางผิวหนัง

อาจทำให้เกิดอาการแผลเรื้อรัง เกิดฝีหรือหนองตามผิวหนัง และอาจมีตุ่มขึ้น เป็นที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรีย หากรับเชื้อผ่านทางน้ำลาย เช่น การรับประทาน จะทำให้ติดเชื้อที่ต่อมน้ำลาย มีลักษณะบวมขึ้นมาเป็นฝีหรือหนอง หรืออาจบวมบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ มีอาการกดเจ็บได้

การติดเชื้อในปอด

จะทำให้มีอาการไข้ขึ้น และอาการทางเดินหายใจ ไอ มีเสมหะ หากนำเสมหะมาตรวจดูอาจพบเชื้อได้ และหากเอกซเรย์ที่ปอดอาจพบก้อนหนอง บางครั้งแพทย์สับสนระหว่างวัณโรค

การติดเชื้อในกระแสเลือด

เชื้อสามารถเข้าทางผิวหนังหรือปอด เช่น กรณีที่มีบาดแผล เชื้ออาจเข้าทางบาดแผลและติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ความดันโลหิตต่ำ ช็อก เป็นฝีในตับหรือในม้าม สามารถเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 วัน หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง นอกจากการติดเชื้อตามที่กล่าวมา ยังมีการติดเชื้อชนิดเรื้อรังอีกหนึ่งประเภทในโรคไข้ดิน

การรักษาโรคไข้ดิน

การวินิจฉัยโรคช้าเกินไปทำให้รักษาไม่ทันเวลา ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตตามมา เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด การเกิดภาวะไตวาย หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ทำให้อวัยวะอื่นทำงานบกพร่องไป การได้รับยาไม่ถูกชนิดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคได้

โรคไข้ดินสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการวินิจฉัยถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก รักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะใน 2 สัปดาห์แรกด้วยวิธีฉีด หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาชนิดกินต่อไปเป็นเวลา 5 เดือน หากมีภาวะแทรกซ้อนอาจให้ยาเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม

การป้องกันโรคไข้ดิน

• หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน
• หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ตหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง
• กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ
• หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ
• ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง
• หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อแพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาทันทีตามอาการและความรุนแรงของโรค

311567658_420536980225298_238

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม