4 จังหวัดอีสานล่าง ผวา! โรคไข้ดิน ปีนี้ป่วยเกือบ 600 ราย ดับแล้ว 6 ราย

21 ต.ค. 66

4 จังหวัด อีสานล่าง ผวา! โรคไข้ดิน ปีนี้ป่วยเกือบ 600 ราย เสียชีวิตแล้ว 6 ราย ควบคุมโรคที่ 9 ย้ำเลี่ยงย่ำโคลน ลุยน้ำ แช่น้ำเวลานาน 

วันที่ 21 ต.ค. 66 ที่ จ.นครราชสีมา นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์ โรคเมลิออยด์ หรือ โรคไข้ดิน ในเขตสุขภาพที่ 9 ว่า 4 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง พบผู้ป่วย โรคไข้ดิน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 ถึงวันที่ 7 ต.ค. 66 มากถึง 582 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย 

เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยมากสุด 336 ราย และเสียชีวิต 4 ราย รองลงมาคือ จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 93 ราย และเสียชีวิต 2 ราย , จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 106 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต และ จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 47 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต 

4 จังหวัดอีสานล่าง ผวา! โรคไข้ดิน ปีนี้ป่วยเกือบ 600 ราย ดับแล้ว 6 ราย

ส่วนอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ เกษตรกร ร้อยละ 53.78 รองลงมาคือ รับจ้าง ร้อยละ 25.88 และเด็ก ร้อยละ 6.87 ตามลำดับ โดยกลุ่มอายุที่พบสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55 - 64 ปี และกลุ่มอายุ 45 - 54 ปี ตามลำดับ 

4 จังหวัดอีสานล่าง ผวา! โรคไข้ดิน ปีนี้ป่วยเกือบ 600 ราย ดับแล้ว 6 ราย

นพ.ทวีชัย กล่าวต่อว่า โรคเมลิออยด์ หรือ โรคไข้ดิน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง ในทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ 1.การสัมผัสน้ำหรือดิน ที่มีเชื้อปนเปื้อน 2.การดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และ 3.สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป เมื่อติดเชื้อประมาณ 1-21 วัน จะเริ่มมีอาการเจ็บป่วย บางรายอาจนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน ซึ่งอาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ และอาจติดเชื้อเฉพาะที่หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะ และเสียชีวิตได้ 

4 จังหวัดอีสานล่าง ผวา! โรคไข้ดิน ปีนี้ป่วยเกือบ 600 ราย ดับแล้ว 6 ราย

“ขอให้ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรป้องกันตนเองจาก โรคเมลิออยด์หรือ โรคไข้ดิน ด้วยการหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน แต่หากจำเป็น ก็ควรสวมรองเท้าบูท หรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง และหากมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ รวมทั้งอาบน้ำชำระร่างกายทันที หลังจากทำงานหรือลุยน้ำ และให้ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง โดยหากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาตามอาการและความรุนแรงของโรคทันที ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส