ดาวหางฮัลเลย์ กับ นักฟิสิกส์ ที่ไม่มีโอกาสได้เห็นมันด้วยตาเป็นครั้งที่สอง

19 ต.ค. 66

เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ นักฟิสิกส์ผู้ทำนาย ดาวหางฮัลเลย์ จะโคจรเข้ามาใกล้โลกอีกครั้ง แต่สุดท้ายไม่ได้มีโอกาสได้มองเห็นด้วยตาตัวเองเป็นครั้งที่สอง

เรื่องราวของ ดาวหางฮัลเลย์ กำลังเป็นที่สนใจหลังจากเพลง ดาวหางฮัลเลย์ ของวง fellow fellow สร้างปรากฎการณ์รักแสนโรแมนติก และอบอุ่นหัวใจ จากเรื่องราวของดวงดาวซึ่งโคจรอยู่ในอวกาศ และมีโอกาสได้เห็นมันด้วยตาทุกๆ 76 ปี

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้นำเรื่องราวในประวัติของผู้ที่คำณวนคาบโคจรของ ดาวหางฮัลเลย์ ได้สำเร็จแต่ไม่มีโอกาสได้เห็นมันด้วยตาของตัวเองอีกเป็นครั้งที่สอง โดยระบุว่า 

ดาวหางฮัลเลย์ (Halley’s Comet) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 1P/Halley นับเป็นดาวหางที่มีชื่อเสียงที่สุด และมีหลักฐานบันทึกการพบเห็นมานานแล้วกว่า 2,000 ปี ตั้งชื่อตาม “เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley) นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เป็นคนแรกที่สามารถคำนวณคาบของดาวหางฮัลเลย์ได้ในปี ค.ศ. 1705

ในปี 1687 เป็นปีที่ “ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton)” ได้ตีพิมพ์ผลงานที่มีชื่อว่า “Philosophiæ Naturalis Principia Mathematica” หรือที่เรารู้กันในชื่อ “กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตัน” อันโด่งดัง ที่หลายคนน่าจะเคยได้เรียนกันในวิชาฟิสิกส์ระดับ ม.ปลาย โดยในขณะนั้นฮัลเลย์ก็นับเป็นหนึ่งในคนใกล้ชิดของนิวตัน ซึ่งฮัลเลย์สนใจในเรื่องแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ว่าแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ทั้ง 2 ดวงนี้ จะส่งผลต่อวงโคจรของดาวหางอย่างไรบ้าง

ในปี 1705 ฮัลเลย์ได้นำข้อมูลบันทึกตำแหน่งของดาวหางตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงศตวรรษที่ 17 มาคำนวณด้วยกฎของนิวตัน แล้วพบว่า มีดาวหาง 3 ดวงที่เคยปรากฏตัวในปี ค.ศ. 1531, 1607 และ 1682 ที่มีค่าคุณสมบัติในวงโคจรที่เหมือนกัน เขาจึงสรุปว่า นี่คือดาวหางดวงเดียวกันและจะโคจรกลับเข้ามาใกล้โลกทุก ๆ 74 - 79 ปี โดยในปี 1682 นั้น เป็นปีที่ฮัลเลย์สังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลของดาวหางดวงนี้ด้วยตัวเอง และฮัลเลย์ทำนายว่า ดาวหางดวงนี้จะโคจรเข้ามาใกล้โลกอีกครั้งในปี 1758

ผลปรากฏว่าในปี 1758 นั้น มีดาวหางปรากฏให้เห็นด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้าจริง ๆ แต่สุดท้ายแล้ว เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ก็ไม่ได้มีโอกาสได้มองเห็นดาวหางดวงนี้ด้วยตาตัวเองอีกเป็นครั้งที่สอง เนื่องจากเขาได้เสียชีวิตลงในปี 1742 ดาวหางดวงนี้จึงเป็นดาวหางดวงแรกที่จัดอยู่ในประเภทดาวหางคาบสั้น (คาบการโคจรสั้นกว่า 200 ปี) และเพื่อเป็นเกียรติให้กับเอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ จึงตั้งชื่อดาวหางดวงนี้ว่า “ดาวหางฮัลเลย์” นั่นเอง

ข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม