อดีตผู้สมัคร ส.ก.ดุสิต พรรคก้าวไกล จี้ กทม. ปราบ ส่วย ให้สิ้น

11 ต.ค. 66

อดีตผู้สมัคร ส.ก.ดุสิต พรรคก้าวไกล ชี้กรณีจับ เทศกิจเรียกรับ ส่วย สะท้อนถึงเวลาเอาจริงปราบส่วยให้สิ้น แนะ กทม. เร่งทำนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ 

วันที่ 11 ต.ค. 66 นาย ธันย์ชนน ศรีอัษฎาวุธกุล ผู้ช่วยรองเลขาธิการ พรรคก้าวไกล และอดีตผู้สมัคร ส.ก.เขตดุสิต พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่ามีการจับกุมพนักงานเทศกิจ สำนักงานเขตแห่งหนึ่งใน กทม. จากกรณีเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง 6,000 บาท แลกกับการไม่ตรวจสอบตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯว่า 

จากกรณีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าปัญหา ส่วยไม่ได้คลี่คลายลงแม้แต่น้อยในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบ้านเมืองและผู้บริหารในระดับท้องถิ่น อย่าง กทม. มาได้ปีกว่าแล้ว แต่ก็ต้องชื่นชมที่มีการตอบรับอย่างรวดเร็วจากเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องทันทีที่ได้รับเบาะแส จนเกิดการจับกุมขึ้นตามที่ปรากฏเป็นข่าว 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นยังคงสะท้อนปัญหาการดำรงอยู่ของ ส่วย และการแก้ปัญหาในระดับครั้งคราว ที่แม้จะสะท้อนการเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่ที่มีมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ระบบ และตนเชื่อว่ายังมีการเรียกรับ ส่วยดำรงอยู่ทั้งในระดับเล็กน้อยและระดับใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย โดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกเรียกรับส่วยเล่นไปตามเกม ยอมจ่ายไปและไม่ได้แจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเหมือนกรณีนี้ 

“เจ้าหน้าที่เมื่อทำได้ดีก็ต้องชื่นชม แต่ในระยะยาวจริง ๆ ควรต้องมีการจัดการในเชิงโครงสร้าง ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกขึ้น และประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบมากขึ้น เจ้าหน้าที่จะไปตามสืบตามเก็บกวาดส่วยให้หมดไปคงเป็นไปได้ยาก แต่ระบบที่ดีก็จะทำให้พวกเขาทำงานได้ง่ายขึ้น” นายธันย์ชนน กล่าว 

นายธันย์ชนน กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ตนนึกย้อนไปถึงนโยบายของทุกพรรคทุกฝ่ายที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. และการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา ว่าด้วยการจัดการปัญหาการทุจริต ซึ่งในปัจจุบันเอง ทั้งผู้บริหารในระดับ กทม. และผู้บริหารประเทศ ต่างก็เคยมีนโยบายดังกล่าวอยู่ ที่เคยได้ให้สัญญากับประชาชนไว้ 

เช่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. คนปัจจุบัน มีนโยบาย “โปร่งใส ไม่ส่วย” ซึ่งมีมาตรการสำคัญจำนวนหนึ่ง ได้แก่ การพัฒนาระบบติดตามการดำเนินการและการขอออนุญาต, การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่, และระบบ one stop service เพื่อลดโอกาสการเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ 

นายธันย์ชนน กล่าวต่อว่า ไม่ว่าที่ผ่านมาจะยังมีอุปสรรคอะไรที่ทำให้ทาง กทม. ยังไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายที่ผู้ว่า กทม. เคยหาเสียงไว้ได้อยู่ก็ตาม ตนไม่ติดข้องใจแต่อย่างไร แต่เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาแล้ว ตนคิดว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มีการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจังเสียที เพราะนี่คือข้อสะท้อนว่ายังมีปัญหาส่วยดำรงอยู่ ซึ่งการสร้างระบบป้องกันขึ้นมา ย่อมดีกว่าการตามไปจับทีละราย ๆ เช่นนี้แน่นอน 

นอกจากนี้ กทม. ควรที่จะมีการปรับเอานโยบายของทุกส่วนที่เคยนำเสนอต่อสังคมไว้ โดยเฉพาะนโยบายของพรรคก้าวไกล หรืออดีตผู้สมัครผู้ว่า กทม. ของพรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร มาปรับใช้เพื่อการป้องกันการทุจริตเรียรับผลประโยชน์เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการสร้างรัฐโปร่งใสของพรรคก้าวไกล โดยการเปิดข้อมูลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งบประมาณ การดำเนินการต่างๆ ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายและระเบียบเพื่อลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต หรือจะเป็นการมีระบบร้องเรียนโดยตรงถึงผู้ว่า กทม. อย่างที่นายวิโรจน์เคยเสนอ เป็นต้น 

“เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าปัญหาส่วยยังมีอยู่ และการแก้ปัญหาก็มีความจริงจังขึ้น แต่กุญแจสำคัญที่จะลดการทุจริตได้จริงก็คือการเปิดเผยข้อมูลและการเพิ่มอำนาจประชาชนในการตรวจสอบ ซึ่งพรรคก้าวไกลเน้นย้ำมาโดยตลอด ส่วนนโยบายของท่านชัชชาติว่าด้วยการปราบทุจริตก็ดีหลายตัว ผมคิดว่านี่คือโอกาสที่ดีที่เราจะเริ่มดำเนินการได้แล้ว” นายธันย์ชนน กล่าว

advertisement

ข่าวยอดนิยม