ประวัติบิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ แคนดิเดต "ผบ.ตร." ถูกค้นบ้านเอี่ยวคดีเว็บพนัน

25 ก.ย. 66

ส่องประวัติ " บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ " แคนดิเดต "ผบ.ตร.คนที่ 14" ถูกตำรวจไซเบอร์บุกค้นบ้าน หลังพบเส้นทางการเงินคนสนิทเอี่ยวคดีเว็บพนัน

ประวัติบิ๊กโจ๊ก

บิ๊กโจ๊ก พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล ชื่อเล่น โจ๊ก เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ปัจจุบันอายุ 53 ปี ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของนายดาบตำรวจ ไสว และนางสุมิตรา หักพาล สมรสกับ ดร.ศิรินัดดา (สกุลเดิม พานิชพงษ์)

การศึกษา

สำเร็จการศึกษาในชั้นอนุบาล โรงเรียนกลับเพชรศึกษาซึ่งมารดาเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนนี้ สำเร็จการศึกษาในชั้นประถม โรงเรียนวิเชียรชม สำเร็จการศึกษาในชั้น มัธยมศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ และโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 31

ระดับชั้นปริญญาตรี รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 47 เป็นหัวหน้านักเรียนของนรต.รุ่น47

ระดับปริญญาโท สังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสามารถสอบคัดเลือกเข้าเรียนได้เป็นอันดับ 1 และระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย และระดับ ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล 

ปัจจุบันกำลังศึกษา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคค่ำ (นอกเวลาราชการ) หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน นอกจากนี้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ยังจบหลักสูตร และ รับมอบประกาศเกียรติบัตร ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 21 (ปปร.21) จาก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี

ในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565 เขาได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นสถาบันพระปกเกล้า จาก นาย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปัจจุบันกำลังศึกษา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตร ว.ป.อ.ปีการศึกษา 2565

เส้นทางการทำงานสายตำรวจ 

บิ๊กโจ๊ก เริ่มรับราชการตำรวจในตำแหน่งรองสารวัตร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 จนได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขั้นเป็นสารวัตรในกองวินัย ต่อมาเป็นสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 จนได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 และเป็นผู้ช่วยนายเวรตำรวจราชสำนักประจำให้กับพล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547

หลังจากได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพันตำรวจเอก พันตำรวจเอก สุรเชษฐ์ ในขณะนั้น ได้รับตำแหน่งผู้กำกับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่อำนวยการประจำผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกระทั่งวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552 จึงได้เป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ได้เป็นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 10 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555 ถูกส่งไปเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จนได้เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการณ์ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาส่วนหน้า รับผิดชอบพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาที่เป็น 'พื้นที่สีแดง' เสี่ยงต่อภัยความไม่สงบบริเวณชายแดนภาคใต้

ระดับผู้บังคับการและผู้บัญชาการ

ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 พันตำรวจเอก สุรเชษฐ์ ในขณะนั้นได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพลตำรวจตรี ในตำแหน่งผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานกับนายกรัฐมนตรี รายงานต่อ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น หลังจากนั้นทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 จนในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ได้เป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว

จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ได้เป็นผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ จนกระทั่งวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560 เข้ามาทำหน้าที่รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จนได้เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 จนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 พลตำรวจตรี สุรเชษฐ์ ในขณะนั้นได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพลตำรวจโท และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

เส้นทางสีกากีสะดุด 

กระทั่ง วันที่ 9 เม.ย. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะจะกลับมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษสบ 9 ขึ้นผู้ช่วย ผบ.ตร. และรองผบ. ตร. ตามลำดับ

ผลงาน

ปิดคดีแอม ไซยาไนด์, คดีคนไทยรับจ้างอุ้มบุญ, คดีมูลนิธิ คุ้มครองเด็ก (บ้านครูยุ่น) ทำร้ายเด็ก-บังคับไปทำงานรีสอร์ต, กลายเครือข่ายขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน, คดีทุนจีน, ปัญหาบุกรุก ที่ดินเกาะหลีเป๊ะ

ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปราม การค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.)

ผลักดันการแก้ประวัติอาชญากร ปรับปรุงระเบียบ ตร. ว่าด้วย ประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี การพิมพ์ลายนิ้วมือ
พ.ศ. 2566

ถูกค้นบ้านหลังพบว่าเอี่ยวคดีพนันออนไลน์

วันที่ 25 กันยายน 2566 มีรายงานว่า เมื่อเวลา 05.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจคอมมานโด ตำรวจนครบาล และ ฉก. PCT เข้าตรวจค้นบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (บิ๊กโจ๊ก) ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง

สถานที่ตรวจค้นเป็นทาวน์เฮาส์ 5 หลัง ย่านวิภาวดี กทม. หลังสโมสรตำรวจแห่งชาติ โดยอ้างว่าพบเส้นทางการเงินคนใกล้ชิดบิ๊กโจ๊กเชื่อมโยงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ ซึ่งที่ทาวน์เฮาส์แห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่พักของบิ๊กโจ๊กยังเป็นที่พักของคนสนิทด้วย

ตำรวจยังขอหมายศาลเตรียมเข้าตรวจค้นอีกหลายจุดทั้งในกทม.และปริมณฑล รวมทั้งขอนแก่น สมุทรปราการ นครปฐม มีรายงานว่าตำรวจจะนำตัวผู้ต้องหาขึ้นเครื่องมาที่กองบิน 6 และนำตัวมาสอบสวนที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 5

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส