"ทนายเดชา"เผย"ไอ้เอ็ม"ไม่ได้บ้าขณะก่อเหตุมีสติดี เชื่อโทษถึงประหาร

20 ก.ย. 66

"ทนายเดชา"เผยคดีฆ่าโบกปูนเด็ก 2 ขวบ เชื่อว่า"ไอ้เอ็ม"ไม่ได้บ้า ขณะก่อเหตุมีสติดีและมีการวางแผนเคลื่อนย้ายศพโทษถึงประหารชีวิต

 

ความคืบหน้ากรณีนายส่องศักดิ์ หรือไอ้เอ็ม และ นางจุ๋ม พ่อแม่ใจโหดที่ฆ่าน้องโมเดล ลูกวัย 2 ขวบ แล้วเอาร่างไปฝังดินและโบกปูนทับ จนตำรวจตามรวบตัวได้ ก่อนที่ไอ้เอ็มจะรับสารภาพว่าก่อนหน้านี้ได้ฆ่าลูกกับภรรยาอีกคนไป 4 ศพ

วันนี้ 20 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ กล่าวว่าคดีนี้ถ้ามีพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึงก็จะนำไปสู่การรื้อคดี ซึ่งต้องมีพยานหลักฐานที่เชื่อมโยง แต่ถ้าพยานหลักฐานในการนำไปสู่การรื้อคดีมีความมีน้อยหรือเบาบางก็จะไม่สามารถนำไปสู่การส่งฟ้องคดีได้

ส่วนคดีนี้นั้นจะสามารถโยงไปสู่การประหารชีวิตได้หรือไม่นั้นต้องดูว่าเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ซึ่งการฆ่าคนตายโดยทั่วไปก็มีโทษประหารชีวิต และมีขั้นต่ำ 15 ปี ต้องดูว่าลักษณะในการฆ่าเป็นการเจตนาฆ่า หรือเจตนาทำร้ายหรือไม่ หรือว่าเกิดการพลั้งมือจนตาย ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็แจ้งได้แค่มาตรา 290 จำคุก 15 ปี 

ส่วนกรณีนี้จะเข้าข่ายการฆาตกรรมต่อเนื่องได้หรือไม่นั้น ทนายเดชา ระบุว่า โดยฆาตกรรมต่อเนื่องคือต้องมีพฤติกรรมในการฆ่า ที่มีลักษณะคล้ายกัน รูปแบบวิธีในการฆ่าเหมือนกัน ซึ่งต้องไปดูว่าในคดีอื่นๆนั้นมีลักษณะการฆ่าเหมือนกันหรือไม่ นำศพไปโบกปูนฝังดินเหมือนกันหรือไม่ถึงจะเรียกว่าฆาตกรรมต่อเนื่อง

กรณีที่ผู้ต้องหาอ้างว่าตนเองเป็นบ้าหรือเป็นโรคจิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ระบุว่าต้องเป็นในขณะที่ผู้ก่อเหตุกำลังฆ่าหรือกำลังทำร้ายเด็ก โดยที่ไม่รู้สึกตัวหรือควบคุมตัวเองไม่ได้ ถึงจะได้รับการยกเว้นโทษ แต่คดีนี้ตนเชื่อว่าขณะที่ผู้ต้องหาฆ่าเด็กน่าจะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เพราะในข่าวระบุว่าฆ่าเสร็จจากบางเขน กทม.แล้วนำศพไปทำลายที่ จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลแสดงให้เห็นว่าเขานั้นมีสติดี

โดยก่อนหน้านี้ก็เคยมีเคสที่ผู้ต้องหาฆ่าผู้อื่นจนเสียชีวิต แล้วอ้างว่าตนเองนั้นเป็นโรคจิตหรือเป็นบ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ศาล จะส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปพบจิตแพทย์ แต่ส่วนใหญ่จากการที่ตนเองติดตามคดี ศาลจะมองว่าขณะที่กระทำความผิดนั้นผู้ก่อเหตุนั้นมีสติสัมปชัญญะดี

ส่วนตัวของแม่เด็กต้องมองหลายมุม ซึ่งถ้าแค่รู้เห็นว่าสามีตนเองไปฆ่าลูกนั้นก็ไม่ได้มีความผิด ซึ่งต้องเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น จ้าง วาน ใช้ ช่วยเหลือ สนับสนุน อำนวยความสะดวก หรือแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งถึงจะเป็นตัวการร่วม ในการรับความผิด

แต่ในกรณีนี้จะมีในลักษณะของการร่วมนำเอาศพไปทิ้ง เคลื่อนย้ายศพก็จะเข้าข่ายร่วมปิดบังอำพรางศพ ซึ่งการที่จะรับความผิดก็ต้องแล้วแต่ว่าเขานั้นเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำผิดอย่างไรบ้าง ที่สำคัญต้องดูว่าแต่ละคนนั้นเข้าไปมีส่วนร่วม ก่อนกระทำความผิด  ขณะกระทำความผิดหรือหลังกระทำความผิด ซึ่งถ้าหลังจะทำความผิดก็จะไม่เกี่ยวกับเรื่องฆ่า ก็จะเป็นเรื่องเคลื่อนย้ายศพ หรืออำพรางศพ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานถึงจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้.

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส