“ศิริกัญญา” ตัดเกรด นโยบายไม่ตรงปก "บิ๊กตู่"แถลงดีกว่า "เศรษฐา"

11 ก.ย. 66

 

ศิริกัญญา” ตัดเกรด นโยบายไม่ตรงปก "บิ๊กตู่"แถลงดีกว่า "เศรษฐา" อัดเรื่องที่ขายฝันไว้หายเกลี้ยง เตือน ดิจิทัลวอลเล็ต พนันหมดหน้าตักหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้  

วันที่ 11 ก.ย. 66 ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญนั้น 

น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า  คำแถลงนโยบายที่ดี ต้องเป็นเหมือนกับ GPS ช่วยบอกเป้าหมายว่ารัฐบาล 4 ปีนี้ คืออะไร วันนี้เมื่อตนฟังจนจบ ถ้าบอกว่านี่คือGPS ประเทศนี้ก็คงหลงทาง ว่างเปล่า เบาหวิว มีแต่คำอธิษฐานลอยๆ มีแต่คำกว้างๆ ขาดความชัดเจนของเป้าที่จะไปถึง ไม่มีการใส่ตัวชี้วัดเป็นตัวเลข 

เปรียบเทียบการแถลงนโยบายใน 3 รัฐบาล คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ถ้าพรรคไหนที่คิดจะกลับคำ ตระบัดสัตย์ ไม่ยอมบรรจุนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ในการแถลงนโยบายหรือไม่ดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เมื่อได้เป็นรัฐบาลโดยปราศจากคำอธิบายที่รับฟังได้ แบบนี้คงถือว่าพรรคนั้น ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน 

“ตัดเกรดแล้ว คำแถลงของนายกฯ เศรษฐา ให้อยู่เกรดเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ดิฉันคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะแถลงได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป เพราะอย่างน้อยก็ยาวกว่า ที่น่าผิดหวังกว่านั้น พรรคเพื่อไทยมาตรฐานตก ไม่รักษามาตรฐานที่เคยทำได้ดีมากในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีเป้าหมายชัด ลงรายละเอียด มีนโยบายที่ใช้หาเสียงบรรจุอยู่เกือบทั้งหมด คำมั่นที่ให้ไว้กับประชาชนช่วงเลือกตั้งเป็นสัญญาศักดิ์สิทธิ์  เมื่อเลือกแล้วต้องทำตามที่โฆษณาไว้ มิเช่นนั้นการเลือกตั้งคงไร้ความหมายไม่ต้องขายนโยบายกันแล้ว สุดท้ายสิ่งที่ประชาชนเลือก  ก็กลับไม่ใช่ที่ประชาชนได้รับ แบบนี้มันก็เรียกว่าไม่ตรงปก” น.ส. ศิริกัญญา กล่าว 

น.ส. ศิริกัญญา กล่าวว่า อยากให้นาย เศรษฐาลองนึกว่า ถ้านี่คือการที่ซีอีโอใหม่ กำลังแสดงวิสัยทัศน์กับบอร์ด กำลังแถลงกับนักลงทุน หรือว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นท่านจะฟังต่อ หรือลุกเดินหนี นอกจากเป็นคำแถลงที่ขาดเป้าหมาย ขาดทั้งรายละเอียด หลีกเลี่ยงการใส่นโยบายที่หาเสียง ยังเป็นคำแถลงที่ปราศจากความทะเยอทะยานที่จะพาสังคมให้ก้าวหน้า ขาดความทะเยอทะยานที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างใดๆ ให้เกิดขึ้นกับประเทศนี้ เสมือนหนึ่งว่าหลับตาข้างหนึ่งแล้วก้าวข้ามความขัดแย้ง หรือความขัดแย้งจากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็แทบไม่พูดถึง ไม่พูดถึงลดความเหลื่อมล้ำ เสมือนว่าปัญหานี้หมดจากประเทศแล้วไม่กล้าแตะเรื่องยากที่ต้องแก้ปัญหาต้นตอ 

ตนคิดว่าตอนหาเสียงท่านกล้าหาญกว่านี้มาก จึงอออกมา คล้ายๆ ตอน พล.อ.ประยุทธ์ แถลงนโยบาย ตนลองวิเคราะห์ที่เป็นแบบนี้ก็ ด้วย 2 เหตุผล 1. คือรัฐบาลกลัวการผูกมัด กลัวว่าจะทำไม่ได้อย่างที่สัญญา เลยไม่กล้าผูกมัดอะไรกับประชาชนเลย แต่ถ้ามองว่า บางนโยบายจะไม่สามารถทำได้ หรือเป็นภาระทางการคลังก็ไม่ควรไปหลอกประชาชนในช่วงเลือกตั้ง ไม่ควรประกาศหาเสียงต่อประชาชนไว้แต่แรก 2.มันเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ที่นโยบายก็เป็นคนละขั้ว สุดท้ายเลยหาข้อตกลงสิ้นสุดไม่ได้สักอย่าง ก็เลยต้องเขียนให้มันลอย ให้มันกว้างเอาไว้ แถมที่มาอำนาจยังต้องเกรงใจ ทั้งกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มทุนต่างๆ เลยไม่กล้าทำเรื่องยากๆที่ต้องปะทะกับใครเลย  

น.ส. ศิริกัญญา อภิปรายตั้งคำถามแหล่งที่มาของเงิน ในนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ที่จะใช้งบ 5.6 แสนล้านบาทว่า ถ้าใช้งบแผ่นดินต้องพิจารณาว่าพอหรือไม่ หรือมีเงินสดพอหรือไม่ หรือหากใช้เงินนอกงบประมาณ จะมี 3 วิธีการคือ กู้ยืมเงินจากธนาคารรัฐ กู้ยืมเงินกองทุนหมุนเวียนหรือไม่ และขายกองทุนวายุภักษ์ หากเลือกใช้งบ 2567 คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะงบที่เหลือจริงๆ ที่ท่านจะใช้ได้คือ 4 แสนล้านบาท ท่านได้ถามพรรคร่วมรัฐบาลอื่นหรือยังที่จะเอางบที่เหลือมาลงกับดิจิตอลวอลเลท แต่หากเลือกใช้เงินนอกงบประมาณก็ไม่สามารถทำได้หากไม่แก้กรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งนายกฯบอกว่าเคร่งครัดเรื่องวินัยการเงินการคลัง แต่งานแรกจะเริ่มต้นด้วยการทลายกรอบวินัยการเงินการคลังเลยหรือ 

“ดิจิทัล วอลเล็ต กระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน แต่ขอให้จัดลำดับความสำคัญให้ดี การบริหารราชการแผ่นดินไม่ใช่การพนัน จะเทหมดหน้าตักแล้วไปหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้ ข้อดีของการแถลงนโยบายแบบกว้างๆ คือท่านทำอะไรได้มากว่านั้น ท่านยังมีโอกาสอีกครั้งในการแถลงงบประมาณ ถ้าคำแถลงนโยบายคือคำสัญญา 4 ปี คำแถลงงบประมาณก็จะเป็นคำสัญญา 1 ปี ซึ่งตนยังเฝ้ารอในโอกาสหน้า” น.ส. ศิริกัญญา กล่าว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม