‘นิพิฏฐ์’ โพสต์ เรื่องนี้แปลก ๆ กางข้อกฎหมาย ‘อิทธิพล’ รอด?

8 ก.ย. 66

คดีอาญานับอายุความย้อนหลังได้หรือไม่ "นิพิฏฐ์" เชื่อหมายจับใหม่ สู้กันจนถึงศาลฎีกา หนีเพียง 3 วัน ให้ขาดอายุความ ง่ายกว่าหนี 17 ปี แล้วกลับมานอนโรงพยาบาล เรื่องนี้มีอะไรแปลกๆ ตั้งแต่ต้นแล้ว

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ถึงกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ได้ออกหมายจับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อครั้งดำรงตำเเหน่ง นายกเมืองพัทยา ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ว่า

*คดีอาญานับอายุความย้อนหลังได้หรือไม่

- มีข่าวใหญ่เรื่อง พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอออกหมายจับอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่ง ซึ่งคดีจะขาดอายุความในวันที่ 10 กันยายน 2566

- ปัญหา มีว่า คดีนี้ เหตุเกิด 10 กันยายน 2551 และคดีนี้มีอายุความ 15 ปี ซึ่งจะขาดอายุความในวันที่ 10 กันยายน 2566 

- ต่อมาปปช. ขอให้ศาลออกหมายจับใหม่ อ้างว่า ผู้ต้องหาหลบหนี เพราะตามกม.ปปช.ฉบับใหม่ ปี 2561 มาตรา 7 และพรบ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ 2559 มาตรา 13 หากหลบหนีระหว่างคดีจะไม่นับอายุความ (ไม่ขาดอายุความ)

- แล้วคดีนี้ จะนับอายุความอย่างไร? เห็นว่า

  1. คดีนี้ เหตุเกิด 10 กันยายน 2551 ขณะนั้น ยังไม่มีเรื่องการไม่นับอายุความเพราะหลบหนี จึงต้องนับอายุความทั่วไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 เมื่อไม่ได้ตัวมาฟ้องภายในอายุความ(คือ 15 ปี) จึงขาดอายุความ
  2. แม้อายุความไม่ใช่โทษทางอาญา แต่การนำอายุความย้อนหลังมาใช้กับคดีที่เกิดก่อนกม.บังคับใช้ ศาลไทยก็เคยวินิจฉัยไว้ว่า จะนำอายุความมาใช้ย้อนหลังไม่ได้
  3. ศาลฎีกา เคยวินิจฉัยไว้ ไม่ให้นำอายุความมาใช้ย้อนหลัง และยืนแนวนี้มาตลอด คือ ฎีกาที่ 17905/2557,ฎีกาที่ 9955/2558,ฎีกาที่ 10166/2558,ฎีกาที่ 10616/2558, ฎีกา(ประชุมใหญ่ ที่ 14/2560,คดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อม.ที่1/2551 และ อม.4/2551 -กล่าวโดยสรุป เห็นว่า ถ้าผู้ต้องหาหลบหนีจนเลยวันที่ 10 กันยายน 2566 แม้ศาลอาญาทุจริต(ศาลชั้นต้น) จะออกหมายจับใหม่ การจับตามหมายจะชอบหรือไม่ชอบ ก็คงต้องสู้เรื่องนี้กันก่อนจนถึงศาลฎีกา และ หากศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจับได้ เนื่องจากอายุความยังไม่ขาด ก็ต้องกลับคำวินิจฉัยเดิมที่ศาลเคยวินิจฉัยไว้ทั้งหมด ขอยกคำวินิจฉัยเดิมที่เคยวินิจฉัยไว้ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เช่น คำพิพากษาฎีกา(ประชุมใหญ่) ที่ 14/2560 ความว่า" บทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงนับแต่วันยื่นฟ้อง ตามพรบ.วิธีพิจารณาคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 25 ไม่นำมาใช้บังคับแก่คดีที่ยื่นคำร้องไว้ แต่ยังไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหามายังศาลจนครบอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95"                        
  4. การสู้กันตามหลักกฎหมาย สู้ไปเถอะครับ ไม่ผิดอะไร หนีเพียง 3 วัน ให้ขาดอายุความ ง่ายกว่าหนี 17 ปี แล้วกลับมานอนโรงพยาบาล/

ผมเขียนเรื่องนี้ มิใช่เพราะผู้หลบหนี เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมรุ่นหลังผม แต่เห็นว่า เรื่องนี้ มีอะไรแปลกๆ ตั้งแต่ต้นแล้ว แต่แปลกอย่างไร อย่าเขียนดีกว่า

-อย่าลืมนะครับ เราอยู่ในประเทศไทย ที่ไม่มีอะไรแน่นอน

#กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แต่มีความแน่นอน ดีกว่ากฎหมายที่เป็นธรรมแต่มีความไม่แน่นอน

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส