"วันชัย สอนศิริ" เผย สมาชิกวุฒิสภา เตรียมจัดหนัก วันแถลงนโยบายรัฐบาล

4 ก.ย. 66

 

"วันชัย สอนศิริ" เผย สมาชิกวุฒิสภา พร้อม วันแถลงนโยบายรัฐบาล เชื่อคงไม่ปล่อยให้แถลงแล้วกลับไปเฉยๆ เตรียมจัดหนักถามหลายประเด็น 

วันที่ 4 ก.ย. 66 ที่รัฐสภา นาย วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงการ แถลงนโยบายรัฐบาลของนาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในวันที่ 11 ก.ย.นี้ ว่า 

ในภาพรวมฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา ยอมรับว่ายังไม่ได้มีการตกลงเรื่องดังกล่าว แต่ได้มีการนัดกันว่า วันที่ 6 ก.ย. จะมีประชุมวิปวุฒิสภา คงจะหารือและตกลงในหลักการ และมอบให้ผู้แทนของวิปวุฒิสภาหารือเรื่องเวลากับวิป 3 ฝ่ายที่จะประชุมวันที่ 7 ก.ย.นี้ 

นาย วันชัย กล่าวต่อว่า เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้ เท่าที่พูดคุยกันในแต่ละกรรมาธิการ (กมธ.) โดยเฉพาะนโยบายใหม่ๆ ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องซักถามกันมาก รวมถึงนโยบายปรองดอง การทหาร และทุกนโยบาย เชื่อว่า สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นวาระสุดท้ายในสภาฯ จะมีความกระตือรือร้นในการอภิปราย โดยเฉพาะ สมาชิกวุฒิสภาต่างจังหวัด ที่เขาได้รับการร้องเรียนปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาพืชผลการเกษตร เขาอยากดูว่ารัฐบาลมาบริหารช่วงแรก 3-6 เดือน จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และความหวังให้กับประชาชนตามหาเสียงได้หรือไม่ 

“ผมเชื่อว่า สมาชิกวุฒิสภา คงไม่ปล่อยให้รัฐบาลแถลงนโยบาย แล้วกลับไปเฉยๆ จะต้องหาคำมั่นคำยืนยันให้ชัดเจนว่า แต่ละเรื่องนโยบายทำได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าการลดค่าไฟ ค่าครองชีพ และนโยบายพักหนี้ต่างๆ เมื่อไหร่ทำได้ ไม่ใช่เหมือนพรรคอื่นๆ หรือรัฐบาลอื่นๆ ที่แถลงนโยบายเสร็จเรียบร้อย ทำได้หรือไม่ ก็ไม่รับผิดชอบ ซึ่งรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องถูก สมาชิกวุฒิสภาจี้ และขอคำมั่นอย่างชัดเจนในแต่ละนโยบายต่างๆ” นาย วันชัย กล่าว 

นายวันชัย กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ พรรคเพื่อไทยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาตินั้น เราจะขอคำมั่นว่า หมวดพระมหากษัตริย์จะแตะหรือไม่อย่างไร รวมถึงรัฐบาลจะแก้ไขอะไรบ้าง ที่สำคัญ คือการมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะมาจากไหน จากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือมาจากส่วนใด หากมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จะเกิดอิทธิพลครอบงำจากพรรคการเมือง ทำให้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชนจริง อาจเป็นความต้องการของพรรคการเมือง 

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องหาความพอดี และความชัดเจนว่า คนที่จะมาร่างควรมีภาคส่วนใดบ้าง นักวิชาการควรมาอย่างไร สาขาอาชีพต่างๆ ควรมาอย่างไร การเลือกตั้งควรมีสัดส่วนอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะฟังความชัดเจนจากรัฐบาล

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส