“นายกฯ” พร้อมลุยแก้ปัญหาประมง มอบ “ธรรมนัส” ถกหาทางออก

1 ก.ย. 66

“นายก​ฯ” ลงพื้นที่สมุทรสงคราม​ ลั่น​ เดินหน้าแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย​ด้วยตัวเอง​  พร้อมมอบ  “ร้อยเอกธรรมนัส​“ หัวหน้าคณะถกผู้ประกอบการ​หาทางออก พร้อมดันประมงน่านน้ำอินโดฯ​ ลั่น​ ไม่มองปัญหาเก่า ขอเดินหน้าแก้ไข​ ​อย่าไปว่าใครเลยดีกว่า​ บอกขอเป็นรัฐบาลของประชาชน​ เชื่อ​ รมต.​ ทุกคน​ ห่วงปัญหาปากท้อง​ -​ ปรารถนาดี ขอแค่โอกาส

นายเศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายหรือ IUU โดยตั้งศูนย์ One Stop Service ว่า​ จะให้ทีมงานดูเพิ่มเติมก่อน และหลังจากที่รัฐบาลได้เห็นปัญหา ว่าแรงงานที่จะมาทำงานต้องใช้เอกสาร หลายกรม​ หลายกระทรวง หากเอกสารไม่ครบ ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานได้ พร้อมยอมรับว่า​ตนเห็นใจชาวประมง ที่ต้องสูญเสียรายได้จากการจับปลามูลค่าหลักแสนหลักล้าน โดยมีแนวคิดว่าจะให้เอกสารใช้ระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจเอกสาร

เมื่อถามว่าจะให้ร้อยเอกธรรมนัส​ พรหมเผ่า ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะดูแลเรื่องการประมง รวมถึงการเกษตรทั้งหมดหรือไม่ นายเศรษฐาระบุว่า เป็นว่าที่​ ก็ต้องดูทั้งหมด เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องแก้ไขคือปัญหาด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการพักหนี้สิน และเรื่องที่ตนจะรับผิดชอบดูแลเองคือเรื่องการประมง และเชื่อว่า ร้อยเอกธรรมนัส​ พร้อมที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ บูรณาการงานร่วมกับคณะทำงานของพรรคเพื่อไทย โดยมีนายปลอบประสบสุรัสวดี และจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็ว พร้อมกล่าวย้ำว่า​ อะไรที่สามารถทำได้​ ก็จะทำก่อน อาจจะไม่สามารถทำได้ทั้งหมดเนื่องจากทุกอย่างต้องใช้เวลา ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่สามารถเดินหน้าได้เลย โดยเฉพาะอะไรที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทบวง​ กรม​ หรือเรื่องที่ต้องเข้าให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ขณะเดียวกันมีอีกหลายอย่างที่ต้องร่วมเจรจาเดินหน้าระหว่างประเทศ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย เช่นเรื่องวิทยุขาวหรือดำ ซึ่งไทยใช้ดำ และเรือทุกลำมีอยู่แล้ว แต่มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่ม ก็ไม่ทราบวัตถุประสงค์ หากเป็นมติคณะรัฐมนตรีก็จะพิจารณายกเลิก เพื่อแบ่งเบาภาระชาวประมง

นายกรัฐมนตรี​ ยังกล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ. แรงงานต่างด้าว ว่าจะต้องปรึกษาว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นวาระที่ต้องพูดคุยกันทุกฝ่าย

ขณะเดียวกันการพิจารณาเรื่องการเจรจา การทำประมงในน่านน้ำอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรีระบุว่า เป็นประเทศอาเซียนเหมือนกัน และอีกทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย โดยไม่ได้แย่งกันทำงาน เพราะอินโดนีเซียก็มีทรัพยากร ขณะที่ไทยมีความรู้ความสามารถและบุคลากร ถ้าสามารถร่วมงานกันได้ การประสานผลประโยชน์น่าจะลงตัว และหากแบ่งผลประโยชน์ได้ลงตัวก็ เชื่อว่าสามารถเดินหน้าได้ พร้อมกับกล่าวย้ำว่าเดิมทีไทยมีการส่งออกสินค้าทางทะเล 3.5 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันต้องนำเข้า 1.5 แสนล้านบาท ต่อปี​ ซึ่งผ่านมาแล้ว 8 - 9 ปี จะต้องมีการแก้ไขปัญหา แต่ไม่ขอมองปัญหาเก่า ขอเดินหน้าแก้ไขปัญหา อย่าไปว่าใครเลยดีกว่า

ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาของชาวประมงหลังถูกตีตกไป นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่า สามารถแก้ไขปัญหาได้บ้าง โดยมอบหมายร้อยเอกธรรมนัสเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงที่เป็นนโยบายหลัก นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นนโยบายของทุกพรรค ซึ่งก็น้อมรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มประมงในพื้นที่ ว่าจะต้องระมัดระวังในการปรับขึ้น เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายกับทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นเนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เน้นการเพิ่มรายได้ ซึ่งหากทำได้ก็จะสามารถเพิ่มค่าแรงให้แรงงานได้ แต่จะพิจารณาก่อนว่าจะขึ้นอะไรอย่างไร​ หากพร้อมก็จะทำทันที​ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงต้นปีหน้า โดยขอหารือกับพรรคร่วมอีกครั้งหนึ่งก่อน​

โดยนายกรัฐมนตรี​ ทิ้งท้ายว่า​ การทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของตน เป็นรัฐบาลของประชาชน เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องร่วมกันกับพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทย​และเชื่อว่า​รัฐมนตรีทุกคน​ เป็นห่วงปัญหาปากท้องของประชาชน​ และมีความปรารถนาดี ขอแค่โอกาส

ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการให้สัมภาษณ์นายเศรษฐา ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนภาคประมง ก่อนที่จะเดินมาที่เต้นท์อาหารเที่ยงและตักอาหารทานเอง โดยใช้จานแบบที่ใช้บนเรือประมง ซึ่งวันนี้มีเมนูปลาทูหวานแดดเดียวทอด แกงเขียวหวานไก่ และผัดกะเพราทะเล

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส