รพ.สัตว์ เตือน แมวป่วยอย่าป้อน "ยาพารา" แค่ครึ่งเม็ดก็อันตรายถึงตายได้

24 ส.ค. 66

โรงพยาบาลสัตว์เตือน น้องแมวป่วยอย่าป้อน "ยาพารา" หลังเจ้าของให้กินเพราะแมวตัวร้อน ชี้ แค่ครึ่งเม็ดก็อันตรายถึงชีวิตได้

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.66 โรงพยาบาลสัตว์บ้านกลาง-Banklang Animal Hospital ได้โพสต์เรื่องราวของ เจ้าของแมวชื่อว่า "สลอธ" ซึ่งเข้ารักษาด้วยอาการ ชักเกร็ง ไม่มีสติ หลังจากที่เจ้าของป้อนยาพารา ขนาด 500 มิลลิกรัม ให้ 1 เม็ด เนื่องจากเห็นว่าน้องแมวตัวร้อน

หลังจากที่ได้รับยา "สลอธ" มีอาการ ดวงตาเบิกโพรง น้ำลายไหลยืด และเริ่มมีอาการตัวกระตุก จึงได้รีบนำส่งที่โรงพยาบาลสัตว์ โดยหมอได้ให้ยาต้านพิษยาพาราเซตามอล และให้ยาดักจับสารพิษ และดูอาการตอบสนอง

ยาพาราเป็นพิษต่อน้องแมว

ในแมวโตที่มีน้ำหนักประมาณ 4 - 5 กิโลกรัม การป้อนยาพาราเพียงแค่ครึ่งเม็ดก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากแมวขาดเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลงยา ไม่สามารถขจัดยาดังกล่าวออกจากร่างกายทางตับได้ ทำให้เกิดการสะสมสารที่เป็นพิษในร่างกายแล้วยังแพร่กระจายทางกระแสเลือดไปทำลายเม็ดเลือดแดงและเซลล์ตับ เนื่องจากหน้าที่ของตับโดยตรงคือการขจัดสิ่งที่มีพิษออกจากร่างกาย และเนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดแดงของแมวไวต่อการเกิดพิษจากยานี้เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงจนกระทั่งเกิดเม็ดเลือดแดงแตก ทำให้ร่างกายไม่สามารถขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆที่สำคัญของร่างกายได้

อาการของแมวที่กินยาพารา

อาเจียน น้ำลายยืด หลังจากนั้นประมาณ 1-4 ชั่วโมงเม็ดเลือดแดงจะถูกทำลาย แมวจะแสดงอาการเด่นชัดขึ้นคือ หน้าบวม เหงือกเริ่มมีสีม่วงคล้ำ หายใจหอบ ใบหน้า ฝ่าเท้า ขา บวมมากขึ้น สีเหงือกจะเปลี่ยนเป็นซีดเหลือง ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีแดงเรื่อๆหรือสีช็อกโกแลต เนื่องจากการถูกทำลายของเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดแดงแตก ทำให้แมวแสดงอาการหายใจลำบาก เนื่องจากการนำออกซิเจนโดยเม็ดเลือดแดงเข้าสู่เซลล์น้อยลง ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่อวัยวะสำคัญ เช่นปอด หัวใจ ไม่เพียงพอ ทำให้กดการหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด ภายใน 18-36 ชั่วโมง

การรักษาเบื้องต้น

ทำให้แมวอาเจียน หากแมวเพิ่งทานยาไปไม่เกิน 4-6 ชั่วโมง และป้อน Activated Charcoal (ยาผงถ่าน) เพื่อลดการดูดซึมตัวยาพาราเซตามอลเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นรีบพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด โดยการรักษาพิษจากยาพาราเซตามอล จะเน้นไปที่การให้ยาต้านพิษ และการรักษาตามอาการ การใช้ยาถอนพิษนั้น สัตวแพทย์ไม่สามารถยืนยันผลการตอบสนองของยา เพราะพิษของยาจะทำลายตับและการสร้างเม็ดเลือดแดงของน้องแมวอย่างรุนแรง

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส