"จาตุรนต์" ห่วงผลโหวตสกัดชื่อ "พิธา" สร้างบรรทัดฐานเอื้อนายกฯ คนนอก

19 ก.ค. 66

"จาตุรนต์" ห่วงผลโหวตสกัดชื่อ "พิธา" สร้างบรรทัดฐานเอื้อนายกฯ คนนอก

วันที่ 19 ก.ค.66 เวลาประมาณ 17.00 น. ประธานสภาสรุปการอภิปรายสุดลงแล้ว ก่อนเข้าสู่การลงมติว่าจะเสนอชื่อนายพิธา ให้ที่ประชุมพิจารณาว่าเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ อีกครั้งได้หรือไม่

ผลการลงมติ ระบุว่า ไม่สามารถเสนอชื่อของนาย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เข้าโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ไม่ได้ เนื่องจากผิดข้อบังคับฯ โดยที่ประชุมลงมติเห็นว่าเป็นญัตติต้องห้ามตามข้อบังคับ 41 เสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำไม่ได้ 395 เสียง, เห็นว่าไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับ 41 เสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำได้ 317 เสียง, งดออกเสียง 8 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

ประธานรัฐสภา สรุปว่า ที่ประชุมมีมติเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 374 เสียง ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำได้ ในสมัยประชุมนี้

ภายหลังจบการประชุม นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบางช่วงบางตอนระบุว่า

“ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ การทำอย่างนี้เท่ากับการไปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของแคนดิเดตนายกที่จะเสนอบอกว่า ถ้าแคนดิเดตคนไหนได้รับการเสนอชื่อแล้ว ไม่ได้รับการรับรองมาแล้ว ก็จะเสนออีกไม่ได้ในสมัยประชุมนั้น ซึ่งมันไม่มีอยู่ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะป็นมาตรา 272 มาตรา 159 และข้อบังคับที่ 136

เพราะฉะนั้นการใช้เสียงข้างมากในลักษณะนี้มัน ก็น่าเป็นห่วงว่าจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อไปในอนาคต ก็คืออาจจะทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีประสบปัญหากลายเป็นทางตันของประเทศ

ถ้าหากว่าแคนดิเดตคนต่อไปเสนอแล้วไม่ได้ มันก็จะไหลไปเรื่อย จนกลายเป็นต้องเสนอคนนอก แต่ถ้าเสียงของรัฐสภาไม่พอ 500 เสียง มันก็เสนอคนนอกไม่ได้

แต่ที่น่าเป็นห่วงต่อไปคือ พอไปถึงขั้นตอนที่สภาผู้แทนจะต้องเลือกนายกกันเองในอนาคต ถ้าไปตีความกันเองว่าญัตติที่ตีตกไปแล้วไม่สามารถเสนอใหม่ได้ เอาจจะถึงจุดที่หานายกรัฐมนตรีไม่ได้ อย่างน้อย 1 สมัยประชุม ซึ่งถ้าพูดอย่างนี้มันต้องขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแน่ๆ เพราะรัฐธรรมนูญเขาบอกว่า “ให้สภาผู้แทนราษฎร เลือกนายกฯ จากคุณสมบัติอย่างไร สภาก็ต้องทำอย่างนั้น อาจจะถึงจุดหนึ่งแล้วสภาเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ 1 สมัย เพราะฉะนั้นมันก็แสดงให้เห็นว่าการไปลงมติกันอย่างนี้ มันสร้างบรรทัดฐานที่ผิด แล้วก็ในความเห็นผมไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ  เท่ากับว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ”

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส