“วิโรจน์” จี้ บริษัท ไอทีวี แจงสังคม บันทึกประชุมไม่ตรงคำตอบประธาน

12 มิ.ย. 66

วิโรจน์” โพสต์ถามใครสั่ง ใครบงการ? จี้ บริษัท ไอทีวี แจงสังคม เหตุบันทึกประชุมไม่ตรงคำตอบประธาน อย่าเงียบเนียน

สืบเนื่องจากกรณีรายการ “ข่าวสามมิติ”  ได้เปิดเผยคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น ไอทีวี ประจำปี 2566 ซึ่งไม่ตรงกับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ไอทีวี โดยมีการนำเสนอข่าวเมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 มิ.ย. 66 

ล่าสุดวันที่ 12 มิ.ย. 66 นาย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “พบประเด็นสำคัญคือ ในคำถามที่ถามโดยผู้ถือหุ้นว่า “บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่” ปรากฎว่าคลิปวิดีโอ ที่ตอบโดยประธานคณะกรรมการบริษัท ในฐานะประธานในที่ประชุม ตอบอย่างชัดเจนว่า ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ” 

นาย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก

“แต่ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ที่ลงนามโดยประธานในที่ประชุม กลับบันทึกว่า ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงิน และยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ จึงเป็นประเด็นข้อสงสัย ที่บริษัท ไอทีวี ต้องชี้แจงต่อสังคมว่า ทำไมรายงานการบันทึกการประชุม ถึงไม่ตรงกับคำตอบ ที่ประธานฯ ตอบในที่ประชุม” 

“ใครเป็นคนสั่ง ใครเป็นผู้บงการ ให้ทำรายงานการประชุมแบบนี้ และที่สังคมต้องตั้งคำถามต่อก็คือ พฤติการณ์แบบนี้ เข้าข่ายการทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเท็จ เพื่อใช้เป็นเหตุกลั่นแกล้งให้บุคคลอื่นต้องโทษคดีอาญาหรือไม่” 

“ประธานคณะกรรมการบริษัท และกรรมการผู้สอบทานและแก้ไขรายงานการประชุม ตลอดจนคณะกรรมการท่านอื่นๆ จะรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างไร บริษัท ไอทีวี ควรต้องเร่งชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ข้างต้น ให้สังคมทราบโดยกระจ่าง จะเงียบเนียนไม่ได้ครับ เพราะการกระทำในลักษณะนี้ อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดในมาตรา 216 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เชียวนะครับ” 

พร้อมกันนี้ในตอนท้าย นาย วิโรจน์ ระบุอีกว่า “พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด 2535” 

“มาตรา 94 ว่ากรรมการต้องรับผิดร่วมกันเพื่อความเสียหายใดๆ อันเกิดขึ้นแก่ผู้ถือหุ้นและบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้นด้วย” 

(1) การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความอันควรต้องแจ้งเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทในการเสนอขายหุ้นหุ้นกู้หรือตราสารการเงินของบริษัท 

(2) การแสดงข้อความหรือลงรายการในเอกสารที่ยื่นต่อนายทะเบียนโดยข้อความหรือรายการนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ตรงกับบัญชี ทะเบียน หรือเอกสารของบริษัท 

(3) การจัดทำงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นหรือรายงานการประชุมคณะกรรมการอันเป็นเท็จ 

มาตรา 216 บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทใด กระทำหรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้ 

(1) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชี เอกสาร หรือหลักประกันของบริษัท หรือที่เกี่ยวกับบริษัท หรือ 

(2) ลงข้อความเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของ บริษัท หรือที่เกี่ยวกับบริษัท ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำเพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ อันควรได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 

“พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. 2561” 

มาตรา 143 ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี 

ถ้าการกระทำ ตามวรรคหนึ่งเป็นการเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครนั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี 

ถ้าการกระทำ ตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยคำ ต่อคณะกรรมการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำ หนดยี่สิบปี 

ถ้าการกระทำ ตามวรรคสองหรือวรรคสามเป็นการกระทำ หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำ การอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม