“นพดล” ออกโรงยัน ซูเปอร์โพล เก็บข้อมูลเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2562

16 เม.ย. 66

“นพดล” แจง “ดร.ณัฎฐ์” อย่าใช้อคติส่วนตัววิจารณ์ดูแคลนคนอื่น ชี้ไม่รู้จริงอย่าพูด  ยันซูเปอร์โพลเก็บข้อมูล เลือกตั้ง 2566 ตั้งแต่ปี 2562

วันที่ 16 เมษายน 66 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ดร.ณัฎฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน วิพากษ์วิจารณ์ผลประมาณการจำนวนที่นั่ง ส.ส. ของซูเปอร์โพล ผิดหลักวิจัย ไร้ความน่าเชื่อถือว่า ซูเปอร์โพลได้ใช้เครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า Net Assessment หรือการประเมินขั้นสุทธิ

สำหรับสังคมไทยเครื่องมือนี้ เป็นนวัตกรรมเครื่องมือด้านข้อมูลด้วยการวิจัย ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจริง โดยเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน ทั้งข้อมูลทุติยภูมิ ปฐมภูมิการสัมภาษณ์ และให้คนตอบตอบเองผ่านทางโทรศัพท์ และเดินเคาะประตูบ้านครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่มาสร้างโมเดลคณิตศาสตร์ และผลลัพธ์ในการออกผลการศึกษาจำนวนที่นั่ง ส.ส. ครั้งนี้

ผศ.ดร.นพดล กล่าวต่อว่า จึงเป็นไปได้มั้ยว่า ฐานคติของ ดร.ณัฎฐ์อาจจะคลาดเคลื่อนไปเกินขอบเขตความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ที่ล้ำเส้นเข้ามาในขอบเขตความเชี่ยวชาญกันคนละด้าน ที่คณะทำงานของซูเปอร์โพล สะสมการทำงานด้านข้อมูล ความแม่นยำ ตามหลักสากล มากว่า 20 ปี

ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า ทั้งนี้ซูเปอร์โพล มีการเก็บข้อมูลสถิติผลการเลือกตั้งปี 2562 และสำรวจเกาะติดทัศนคติ ความคิดเห็น และพฤติกรรมของประชาชนในทางการเมืองมาโดยตลอด จึงได้ใช้ Mathematical Model กับตัวเลขที่ค้นพบทุกเขตเลือกตั้งที่ผ่านมา จึงทำมากกว่าการทำโพลเพียงอย่างเดียว เครื่องมือนี้เรียกว่า Net Assessment หรือการประเมินขั้นสุทธิ ซึ่งเครื่องมือนี้มีอยู่จริง และกลายเป็นสำนักงาน Net Assessment ในเพนตากอน กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา

ผศ.ดร.นพดล กล่าวต่อว่า สิ่งที่ค้นพบคือ ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ย้ายขั้ว และการย้ายพรรคของผู้สมัครไม่มีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และปัจจัยอื่นๆ ก็เช่นกัน เมื่อปัจจัยสำคัญส่วนใหญ่เหมือนเดิม จึงทำให้การเก็บค่าสถิติจากทุกเขตเลือกตั้งในเชิงปริมาณที่มากกว่าการทำโพลสามารถนำมาเป็นผลการศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. แต่ละเขตเลือกตั้งได้ และพบด้วยว่าประชาชนส่วนใหญ่เลือกคนไหนก็คนนั้นและประชาชนชอบพรรคไหนก็พรรคนั้น โดยคณะทำงานซูเปอร์โพล เก็บข้อมูลต่อเนื่องที่เป็น Empirical Data มาเติมใน Math Model และยังเหลือเวลาอีกประมาณ 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง เชื่อมั่นว่าจะให้ความแม่นยำ ซึ่ง ดร.ณัฎฐ์น่าจะสืบค้นประวัติความแม่นยำของซูเปอร์โพลได้ไม่ยาก

ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า ซูเปอร์โพลใช้ตัวอย่าง 6 พันกว่าตัวอย่างที่ครอบคลุมหลากหลายด้าน เพศ อายุ อาชีพ การศึกษา รายได้ และภูมิภาค ทั่วประเทศเพื่อประมาณการจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ มีการระบุผลการศึกษาแบบจุด และแบบช่วงอย่างชัดเจนในตาราง และขนาดตัวอย่างเท่านี้มากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งหนึ่งช่วงลงประชามติรัฐธรรมนูญ ซูเปอร์โพลสำรวจตัวอย่างเพียง 1 พันเศษ จากผู้มีสิทธิลงประชามติกว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศ ซูเปอร์โพลระบุว่า ร้อยละ 61.5 เห็นชอบ ต่อมา กกต.ประกาศว่า ร้อยละ 61.4 เห็นชอบ

ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า นอกจากนี้ ในการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีมากกว่า 4 ล้านคน ซูเปอร์โพล สุ่มสำรวจเพียงไม่กี่พันตัวอย่าง ประมาณการล่วงหน้าว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะได้ 1 ล้าน 3 แสนคะแนน และนายชัชชาติก็ได้ประมาณนั้น ส่วนกรณีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ ดร.ณัฎฐ์ยกมาจำนวน 52,287,045 นั้น แต่ซูเปอร์โพลได้ตัวเลขที่รวบรวมจากทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง จำนวน 53,094,778 คน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีความแตกต่างกันประมาณร้อยละ 1.5 แต่ไม่ว่าจากฐานใดก็ตาม ถ้าผิดพลาดก็ยังไม่ทราบชัดเจนว่าแหล่งที่มาของใครผิดพลาดแต่คลาดเคลื่อนแตกต่างกันร้อยละ 1.5 น่าจะยอมรับได้ในทางสถิติ

“การชี้แจงเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แบบที่ ดร.ณัฎฐ์กล่าวมาแบบเป็นฐานคติส่วนตัว แต่ซูเปอร์โพลเคารพในทุกศาสตร์ แม้แต่หมอดูต่างๆ ซูเปอร์โพลจะไม่ดูถูกดูแคลนคนอื่น ทำให้เกิดการกินแหนงแคลงใจกัน ดร.ณัฎฐ์เป็นนักกฎหมายมหาชนที่เก่งคนหนึ่ง แต่ถ้าจะก้าวข้ามมาอีกฝั่งหนึ่งของความเชี่ยวชาญด้านวิทยาการข้อมูล ก็น่าจะศึกษาค้นคว้าและมีประสบการณ์ที่สะสมมามากเพียงพอ ทั้งนี้จากวันนี้ถึงวันเลือกตั้งเหลืออีกประมาณ 30 วัน ซูเปอร์โพลจะเติมข้อมูลเชิงประจักษ์เข้าไปใน Math Model และอัพเดตต่อเนื่อง จึงขอให้แต่ละฝ่ายพิจารณา ซูเปอร์โพลมีหลักการการทำงานที่เป็นวิทยาศาสตร์และหลักสถิติศาสตร์ มากกว่าฐานคติส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง” ผศ.ดร.นพดล กล่าว

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส