ฝุ่น PM2.5 คืออะไร เกิดจากอะไร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร และวิธีการป้องกันดูแลตัวเอง

4 ก.พ. 66

ทำความรู้จัก ฝุ่น PM2.5 คืออะไร เกิดจากอะไร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร และวิธีการป้องกันและดูแลตัวเอง

ฝุ่น PM2.5 คืออะไร เกิดจากอะไร

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผม มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลอยอยู่ในอากาศได้นาน อาจมีสารพิษเกาะมาด้วย ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ฝุ่น PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม หากอากาศแห้งและเย็น ความกดอากาศสูง สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้ PM2.5 สะสมในอากาศ แขวนลอยได้นาน จะเห็นท้องฟ้าเป็นสีหม่น หรือเกิดเป็นหมอกควัน

ฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

ผลกระทบระยะสั้นต่อสุขภาพ คือ ไอ จาม ระคายเคืองผิวหนัง ผื่น คัน ระคายเคืองตา แสบตา ตาแดง ผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ คือ PM2.5 สามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทําให้การทํางานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ ความดันโลหิตสูง หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด มีผลต่อพัฒนาการของทารก

istock-1300089883

เกณฑ์ของดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย

ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ หรือ 5 สี คือตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ดังนี้

สีฟ้า
ดัชนีคุณภาพอากาศ 0-25 คือ คุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว

สีเขียว
ดัชนีคุณภาพอากาศ 26-50 คือ คุณภาพอากาศดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ

สีเหลือง
ดัชนีคุณภาพอากาศ 51-100 คือ คุณภาพอากาศปานกลาง ประชาชนทั่วไป : สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ : หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

สีส้ม
ดัชนีคุณภาพอากาศ 101-200 คือ คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไป : ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ : ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์

สีแดง
ดัชนีคุณภาพอากาศ 201 ขึ้นไป คือ คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

วิธีการป้องกันและดูแลตัวเองจากฝุ่น PM2.5

• ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศตามช่องทางต่างๆ
• สวมหน้ากากอนามัยชนิดที่ป้องกัน PM2.5 ได้
• หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการแน่นหน้าอก เวียนหัว คลื่นไส้ แสบตา แสบผิว หรืออื่นๆ ควรไปพบแพทย์
• ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5 เช่น เผาหญ้า ปิ้งย่าง จุดธูป เป็นต้น
• งดกิจกรรมนอกบ้าน หากคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส