รวบ! ผอ.โรงเรียนทุจริตเงินค่าอาหารกลางวันเด็ก อ้างเอาไปซื้อโต๊ะเก้าอี้

2 ก.พ. 66

ผอ.โรงเรียนทุจริตเงินค่าอาหารกลางวันเด็ก อ้างจะนำไปซื้ออุปกรณ์ การเรียน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ให้กับนักเรียนในโรงเรียน

วันที่ 1 ก.พ.66 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกันจับกุม นายไพฑูรย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี ดำเนินคดีในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

สืบเนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับแจ้งเบาะแส กรณี เจ้าหน้าที่รัฐ ระดับผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เรียกรับเงินจากผู้เสียหายซึ่งเป็นคู่สัญญาโครงการจ้างเหมาประกอบอาหาร (ปรุงสำเร็จ) สำหรับนักเรียน ภาคเรียนที่ 2/2565 ของโรงเรียนย่านบางชัน เป็นเงินจำนวน 329,000 บาท โดยมี

กล่าวคือหลังจากคู่สัญญาในโครงการดังกล่าวชนะการเสนอราคาโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) คู่สัญญาถูกผู้อำนวยการฯเรียกรับผลประโยชน์จำนวนหลายครั้ง แต่ละครั้งมีการเสนอว่าคู่สัญญาควรแบ่งเงินที่ได้กำไรจากการประกอบอาหารให้กับตนบ้าง และพูดคุยในทำนองว่าให้คู่สัญญาไปตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะแบ่งเงินให้ตนเป็นจำนวนเท่าใด 

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ผู้อำนวยการฯได้เรียกให้คู่สัญญาเข้าไปพบและพูดคุย เกี่ยวกับเงินส่วนแบ่งที่เคยเรียกรับจากคู่สัญญา โดยในวันดังกล่าวผู้อำนวยการฯได้กำหนดจำนวนเงินที่คู่สัญญาต้องจ่ายเป็นเงินจำนวน 347,000 บาท โดยอ้างว่าเงินจำนวน 320,000 บาท จะนำไปเป็นงบประมาณสำหรับปรับปรุงวัสดุ อุปกรณ์ (โต๊ะ เก้าอี้) ภายในโรงอาหารของโรงเรียน

ซึ่งการปรับปรุงวัสดุ อุปกรณ์ ดังกล่าว ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาแต่อย่างใด ส่วนเงินอีกจำนวน 27,000 บาท จะนำไปแบ่งให้กับผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลโครงการอาหารนักเรียน จำนวน 5 คน โดยแบ่งจ่ายเป็นระยะเวลา 3 เดือน เดือนละ 9,000 บาท (เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566) แต่คู่สัญญาต้องส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้อำนวยการฯโดยตรง  และมีการพูดคุยในทำนองว่าถ้าไม่นำเงินจำนวนนี้มามอบให้ ผู้อำนวยการฯจะรายงานไปที่กรุงเทพมหานคร ว่าคู่สัญญาได้รับเงินส่วนต่างค่าอาหารเช้าจากการที่เด็กนักเรียนไม่มารับประทานอาหารเป็นเงินจำนวนมาก คู่สัญญาจึงนำพฤติการณ์ดังกล่าวมาแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อวางแผนเข้าจับกุม

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 14.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ได้นำเงินสดจำนวน 329,000 บาท ที่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว มอบให้ผู้เสียหายนำไปส่งมอบให้กับผู้อำนวยการฯ โดยเจ้าหน้าที่ฯได้เฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณโดยรอบ และเมื่อผู้เสียหายได้ส่งมอบเงินแก่ผู้อำนวยการฯแล้ว เจ้าหน้าที่ฯจึงได้เข้าไปยังห้องทำงานของผู้อำนวยการฯ ซึ่งเป็นจุดส่งมอบเงินในทันที พร้อมแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าทำการจับกุมผู้ต้องหา โดยได้ตรวจค้น พบว่ามีเงินสดจำนวน 329,000 บาท วางอยู่บนโต๊ะทำงานของ

ผู้อำนวยการฯ เจ้าหน้าที่จึงตรวจสอบเงินสดจำนวน 329,000 บาท ดังกล่าวต่อหน้าผู้ต้องหา พบว่า หมายเลขธนบัตรตรงกับหมายเลขธนบัตรที่ลงบันทึกประจำวันไว้ทุกฉบับ จึงได้แจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบ โดยพนักงานสอบสวน บก.ปปป. จะได้สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามกฎหมายต่อไป

จากการสอบถามผู้ต้องหา ให้การภาคเสธ โดยให้การว่าเงินจำนวนดังกล่าวตนจะนำไปซื้ออุปกรณ์ การเรียน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ให้กับนักเรียนในโรงเรียน

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส