ย้อนเวลาหาทรานซิสเตอร์ เมื่อ “บิ๊กตู่” คัมแบ็ก พร้อมนโยบายสุดปัง !  ใช้วิทยุแจ้งเตือนน้ำท่วม หากระบบสื่อสารล่ม

4 ต.ค. 65

ย้อนเวลาหาทรานซิสเตอร์ เมื่อ “บิ๊กตู่” คัมแบ็ก พร้อมนโยบายสุดปัง !  ใช้วิทยุแจ้งเตือนน้ำท่วม หากระบบสื่อสารล่ม

ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์แจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม หากระบบการสื่อสารอื่นๆ ล่มคำแนะนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างการประชุมผ่านวิดีโอคอลล์ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ หลังกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมในวันแรก เมื่อวันที่ 3 ต.ค.65

โดยให้เหตุผลว่า การใช้ วิทยุทรานซิสเตอร์ แจ้งเตือนน้ำท่วมนั้นเคยได้ผลมาแล้วเมื่อปี 2554 โดยในครั้งนั้นหลายพื้นที่ต้องตัดไฟฟ้า และไม่สามารถใช้สัญญาณสื่อสารในรูปแบบอื่นได้

แต่สำหรับในยุคการสื่อสารที่ก้าวไกลมามากกว่า 10 ปี จนเรียกได้ว่าเป็นยุค 5G คนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักเพื่อเสพหรือแจ้งข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว และแม้แต่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศไทยเอง ก็ยังเคยประกาศกร้าวนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี คำแนะนำดังกล่าว จึงดูเหมือนว่ากำลังพาประเทศย้อนกลับไปสู่อดีต

คำว่า “วิทยุทรานซิสเตอร์” เกิดขึ้นหลังจากที่ “เบลแล็ป” ได้คิดค้น  “ทรานซิสเตอร์”  วาล์วสำหรับควบคุมกระแสไฟฟ้าเข้าออก เปิดปิด มาปรับใช้กับวิทยุ จนเรียกชื่อวิทยุที่มีอุปกรณ์นี้ติดตั้งอยู่ว่า “วิทยุทรานซิสเตอร์” ซึ่งต่อมาได้ถูกทอนคำจนเหลือแค่ “ทรานซิสเตอร์”

หลายคนอาจเคยได้ยินหรือรู้จัก “วิทยุทรานซิสเตอร์” ผ่านภาพยนต์ดังเรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ ที่พระเอกซื้อ วิทยุเครื่องเล็กเป็นของขวัญวันเกิดให้กับคนรักของตัวเอง แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้คนไทยนิยมใช้เจ้าทรานซิสเตอร์เครื่องน้อยหนีบเอวฟังเพลงแล้วขี่ควายไปทำนา

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2508 ยุคที่ “วิทยุทรานซิสเตอร์” ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย เพราะหาซื้อได้ง่ายและด้วยขนาดที่สามารถพกพาได้สะดวก จนทำให้สิ่งนี้กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับการแจ้งข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้

นอกจากข่าวสารที่จัดเต็มผ่านทาง “วิทยุ” แล้ว เรื่องของความบันเทิงก็อัดแน่นไม่แพ้กัน เพราะยุคนั้นก็ถือว่าเป็นยุคหนึ่งที่แจ้งเกิดคนดังไว้มากมาย อาทิ ผ่องศรี วรนุช ศิลปินแห่งชาติ ผู้ได้รับฉายา "ราชินีลูกทุ่งไทย" ที่ได้ฝึกร้องเพลงจาก ทรานซิสเตอร์ จนกลายมาเป็นนักร้องขวัญใจมหาชนของยุคนั้นได้  อีกทั้งยังมี “ละครวิทยุ” ที่ทำเอาหลายคนติดงอมแงม จนต้องจดเวลาเอาไว้เพื่อมารอฟังกันเลยทีเดียว

ไม่เพียงแต่ประโยชน์ในการแจ้งข่าวสารและสร้างความบันเทิงเท่านั้น  ครั้งหนึ่ง วิทยุ เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อ สร้างชาติในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับประโยคที่อาจเคยผ่านตาอย่าง ฝ่ายหญิงถามว่า “เอ๊ะนั่นแต่งตัว จะไปไหนจ๊ะ” ชายตอบว่า “ฉันจะไปฟังวิทยุหน่อย จะได้รู้เรื่องราวติดต่อทางความคิด และทางทำงานให้พร้อมเพรียงกันทั้งชาติ”  และยังใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการจิตวิทยาต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ในสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

transistorradio ทรานซิสเตอร์

ขณะเดียวกันเมื่อย้อนอดีตไปเกินครึ่งศตวรรษของ “วิทยุทรานซิสเตอร์”  ในปี 2560 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ "โลว์เทค" อย่าง “วิทยุทรานซิสเตอร์” โดยซื้อแจกให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ เพื่อรับฟังข้อมูลข่าวสารจากทางการมาแล้ว แต่นโยบายนี้ก็ต้องพับเก็บไป เพราะได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากคนรุ่นหลังที่เรียกว่า Digital Native ซึ่งเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนามาไกลกว่า “วิทยุทรานซิสเตอร์”

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เสนอ นโยบายมาทั้งที ทีมข่าวจึงได้สำรวจราคาของ “วิทยุทรานซิสเตอร์” ว่าหากจะซื้อหามาฟังข่าวสารแจ้งเตือนน้ำท่วม อย่างที่นายกฯแนะนำ สนนราคาตอนนี้เครื่องละเท่าไหร่ ซึ่งพบว่า หากซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ราคาจะเป็นไปตามคุณภาพของเครื่อง  มีตั้งแต่ 72 บาท แต่หากเป็นรุ่นและยี่ห้อที่นิยมกัน ก็จะมีราคาตั้งแต่ 200 กว่าบาท ถึงหลัก หนึ่งพันต้นๆ โดยมีทั้งแบบใส่ถ่าน และใช้ไฟฟ้า เช่น ที่ร้านขายวิทยุทรานซิสเตอร์แห่งหนึ่ง พบว่า 1 เครื่อง มีราคาอยู่ที่ 590 บาท สำหรับใส่ถ่าน และ 690 บาทใช้ได้ทั้งถ่านและเสียบปลั้ก  นอกจากนี้ยังมีรุ่นที่เสริมฟังก์ชั่น สามารถเสียบ USB เพื่อฟังเพลงได้ด้วย 

แม้ราคาจะไม่แพง และกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังจากคำพูดของนายกฯ แต่พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่บอกว่า ยอดขายยังไม่ได้พุ่ง หรือมีลูกค้ามาถามหามากนัก เพราะส่วนใหญ่จะมาซื้อกันก็ต่อเมื่อเครื่องเก่าพังแล้ว อีกทั้งคนรุ่นใหม่นิยมการอ่านข่าวสารและฟังเพลงผ่านมือถือสมาร์ทโฟนมากกว่า  ดังนั้นการเปิดวิทยุเพื่อนั่งรอ หรือเปิดทิ้งไว้เพื่อฟังประกาศตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนในอดีต อาจจะไม่ตอบโจทย์สภาพสังคมจริงในปัจจุบัน

 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส